ณ บริเวณวงเวียนใต้สะพานพุทธฯ อันเป็นช่วงรอยต่อ ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับพื้นที่ของ เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเชื่อมไปสู่ฝั่งถนน ธนบุรี ตรงถนน พาหุรัด ปากคลองตลาดนั้น มีวัดโบราณอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งตั้งเป็นศูนย์กลางของรอยต่อพื้นที่ทั้งหมดที่ว่ามา วัดนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ โรงเรียน สวนกุหลาบ และอยู่ติดกับอนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตรงเชิงสะพานพุทธพอดิบพอดี วัดที่ว่านี้ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า วัด เลียบ วัด เลียบนั้นเป็นวัดที่สร้างขึ้นก่อนที่ กรุงศรีอยุธยาจะแตกเสียอีก และที่มาของคำว่าเลียบนั้นสันนิษฐานว่ามาจากชื่อ ชาวจีนผู้ออกเงินสร้างวัดว่า เลี๊ยบ เรียกไปเรียกมาก็แผลงเป็น เลียบ มาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อกาลล่วงมาถึงยุคที่มีการสถาปนาบางกอกขึ้น เป็นราชธานีใหม่ วัดเลียบซึ่งมีการสร้างขึ้นที่ฝั่งบางกอกมานานแล้ว จึงได้กลายเป็นวัดในราชธานีใหม่ไปโดยปริยาย อีกทั้งวัดนี้ยังได้กลายเป็นอารามหลวงไปด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงหริรักษ์ ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดเลียบนี้ จากนั้นรัชกาลที่ 1 จึงโปรดฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัด ราชบูรณะ ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนั่นเองวัดนี้ นอกจากจะถูกจารึกว่าเป็น วัดที่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงบูรณะแล้ว ชื่อเสียงที่ตามมาอีกประการหนึ่งนั้นได้มาจากมหากวีไทย สุนทรภู่ ที่ได้รับพระราชโองการจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่ยังครองผ้าเหลืองเป็นพระภิกษุหลวง ให้ย้ายจาก วัด พระเชตุพนวิมลมังคลารามมาประจำอยู่ที่ วัด ราชบูรณะนี้ ในคราวที่รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดโพธิ์ครั้งใหญ่ และขรัวอินโข่ง พระศิลปินเอกที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัด บวรนิเวศน์ที่เป็นที่ร่ำลือกัน ถึงวิธีการสร้างงานจิตรกรรมไทยในแบบตะวันตกนั้นก็เคยมาพำนักอยู่ที่วัดนี้เช่นกัน และแม้ว่าวัด ราชบูรณะจะเป็นวัดโบราณ หากแต่วัดนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์มาทุกพระองค์ ดังนั้นวัดนี้จึงมิได้แลดูทรุดโทรมรกร้าง ดังวัดโบราณหลายวัด ทั้งนี้นับตั้งแต่พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ทรงโปรดฯ ให้มีการบูรณะซ่อมแซมวัดนี้กันทุกพระองค์มาโดยตลอด
ขอขอบคุณ http://travel.sanook.com/