วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร

วัดพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง ติดกลับศาลหลักเมือง เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า “วัดกลาง” หรือ”วัดกลางนคร” โดยถือเอาสถานที่ตั้งเป็นสำคัญ แล้วเรียกชื่อวัดอื่น ๆ ตามที่ตั้งอยู่ทิศต่าง ๆ ตามชื่อทิศ เช่น วัดบูรพ์(บูรพา) วัดอิสาน วัดพายัพ และวัดบึง วัดสระแก้ว รวม 6 วัด ที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง โดยถือเอาวัดพระนารายณ์เป็นจุดศูนย์กลาง

วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือ วัดกลาง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นผู้ทรงสร้างตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จัดเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ในสมัยก่อนมีพิธีอย่างหนึ่งคือ พิธีที่ข้าราชการทุกแผนก จะต้องสาบานตนว่าตนจะต้องรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต พิธีนี้เรียกว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทางราชการได้ใช้วัดพระนารายณ์มหาราช เป็นสถานที่ในการประกอบพิธี รวมทั้งให้เป็นสถานที่ทำพิธีสวดเศกน้ำพระพุทธมนต์ถวายในงานพระราชพิธีเสวยราชสมบัติ

เคยเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของท่านท้าวสุรนารี ตรงมุมทิศพายัพของวัด ต่อมา พ.ศ. 2477 จึงได้ย้ายออกจากวัดไปประดิษฐานที่ประตูชุมพล จนทุกวันนี้

ในปัจจุบันวัดพระนารยณ์ ยังมีศิลปะวัตถุ พร้อมทั้งแบบสถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยา และปูชนียสถานภายในวัดประกอบด้วย พระอุโบสถที่ตั้งอยู่เกาะกลางสระบัวทิศตะวันออกของวัด พระวิหารหลวงและเทวรูปพระนารายณ์สี่กร จำหลักด้วยหินทรายฝีมือขอมโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงพระนามผู้สร้างวัด

วัดพระนารายณ์มหาราช ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ภายในตัวเมืองนครราชสีมา โดยอยู่ระหว่างถนนอัษฏางค์และถนนจอมพล สภาพถนนภายในตัวเมืองเป็นถนนราดยางอยู่ในสภาพดี การคมนาคมสะดวกและปลอดภัยมีรถประจำทาง รถรับจ้าง และสามล้อบริการอย่างสะดวกและรวดเร็ว

เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเคย เป็นที่ประดิษฐานอัฐิของท้าวสุระนารี มุมวัดด้านถนนจอมพลเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ประดิษฐานหลักเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพของชาวเมืองนครราชสีมา

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดกลาง เป็นวัดกลางเมืองนครราชสีมาเดิม ซึ่งมีความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ การเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองนครราชสีมามาแต่เดิม นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดพระนารายณ์มหาราช มีศาลพระนารายณ์มหาราชเป็นที่ตั้งเทวรูปพระนารายณ์สี่กร อยู่ในท่ายืน สูง 17 นิ้ว สร้างด้วยหินทรายฝีมือขอม เป็นเทวรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมามาช้านาน

มีประตูทางเข้าวัดได้ 4 ทาง คือ ด้านติดถนนอัษฏางค์ ถนนจอมพล ถนนประจักษ์ และทางด้านถนนจอมพลที่ติดกับตลาดอันเป็นทางเข้าศาลพระนารายณ์ ภายในวัดพระนารายณ์มหาราชมีพระอุโบสถอยู่กลางสระน้ำ ส่วนตรงข้ามเป็นพระวิหาร ด้านขวามือของวิหารเป็นศาลา ส่วนด้านซ้ายมือของวิหาร เป็นโรงเรียนปริยัติธรรมซึ่งจะมีสอนพุทธศาสนาแก่เด็กนักเรียนในวัน อาทิตย์เป็นประจำ บริเวณใจกลางวัด มีต้นโพธิ์ใหญ่ล้อมรอบ ด้วยลานสนามหญ้า ด้านหลังพระวิหารเป็นเขตสังฆาวาสซึ่งมีต้นไม้เรียงอยู่เป็นทิวแถว สภาพศาลพระนารายณ์มหาราช มีลักษณะเป็นศาลกว้าง ภายในเต็มไปด้วยดอกไม้ของบูชามากมาย และมีควันธูปเทียนลอยอบอวลไปทั่วบริเวณ และเนื่องจากอยู่ติดกับตลาดจึงทำให้ จอแจเป็นพิเศษ รอบ ๆ บริเวณวัดพระนารายณ์มหาราชเป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์และตลาด แล้วยังอยู่ย่านใจกลางเมือง จึงทำให้เกิดเสียงรบกวนเข้ามาในวัดเป็นประจำ

ขอขอบคุณ http://www.biogang.net/

 

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .