ประวัติหลวงพ่อปากแดง วัดพราหมณี จ.นครนายก

untitled

หลวงพ่อปากแดง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาว จ.นครนายก ที่เป็นที่เคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง มีชื่อว่า “หลวงพ่อปากแดง” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 49 นิ้ว สูง 1 เมตร เป็นศิลปะสมัยล้านช้าง จีวรเป็นลายดอกพิกุล พระโอษฐ์แย้มทาสีแดงเห็นชัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อปากแดง”

หลวงพ่อปากแดง วัดพราหมณี

สิ่งที่เด่นสะดุดตา คือ ที่ปากของหลวงพ่อมีสีแดงสด เหมือนมีผู้นำลิปสติกไปทาไว้ ผู้เฒ่าผู้แก่ย่านนั้นยืนยัน ว่าเห็นปากท่านแดงแบบนี้ มาตั้งแต่เกิด แม้แต่ปู่ย่าตายายของผู้เฒ่าเหล่านี้ก็บอกว่าเห็นมาตั้งแต่เกิดเหมือนกัน

ตำนานหลวงพ่อปากแดงพระครูโสภณพรหมคุณ หรือ “หลวงพ่อตึ๋ง” เจ้าอาวาสวัดพราหมณี เล่าว่า ตำนานเชื่อกันหลวงพ่อปากแดง เป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับหลวงพ่อพระสุก และหลวงพ่อพระใส ที่ประดิษฐานอยู่ที่ จ.หนองคาย ในปัจจุบัน ที่ได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ พอมาถึงประเทศไทย ชาวบ้านได้แยกย้ายไปตามวัดต่างๆ ส่วนหลวงพ่อปากแดงนั้น ถูกชาวบ้านอัญเชิญและนำมาหยุดยังพื้นที่ว่างบริเวณที่เป็นวัดพราหมณี ปัจจุบันนี้ จากนั้นก็ลงมือสร้างวัดแล้วก็อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นเป็นพระประธานในพระ อุโบสถ
ซึ่ง ต่อมา “หลวงพ่อปากแดง” ก็กลายมาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาว จังหวัดนครนายก จนทุกวันนี้ โดยความเชื่อของประชาชนนั้น ประชาชนที่เดินทางไปเที่ยวน้ำตกสาริกา จะต้องแวะกราบสักการบูชา พร้อมกับบนบานด้วยกล้วยน้ำว้า 9 หวี หมากพลู 9 ชุด พวงมาลัย 9 พวง และน้ำแดง 1 ขวด กันอย่างล้นหลาม พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานให้สมความปรารถนาตัวเอง

วัดพราหมณี ยังคงมีเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ เมื่อครั้งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เลือกบริเวณที่ตั้งของวัดพราหมณีเป็นจุดพักทัพของกองพัน ทหารที่ 37 ซึ่งมีจุดหมายจะไปรวมพลกันที่บริเวณเขาชะโงก (ปัจจุบัน คือ สถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก)

จึงมีทหารญี่ปุ่นล้มตายอยู่ในเขต จ.นครนายก หลายแห่งด้วยกัน ปรากฏว่ามีการค้นพบกระดูกของทหารญี่ปุ่นใกล้วัดพราหมณี ดังนั้น สมาคมทหารสหายสงครามกองพลญี่ปุ่นที่ 37 จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงทหารญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ณ วัดพราหมณี

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม สร้างเป็นศาลาจตุรมุขประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร ด้านหน้าพระพุทธรูปเป็นแท่นหินจารึกอักษรญี่ปุ่น ด้านซ้ายพระพุทธรูปเป็นแท่นหินอ่อน โดยมีการจารึกข้อความไว้อาลัย สดุดีความกล้าหาญ และระลึกถึงไว้ที่ฐานพระพุทธรูป ป้ายจารึกด้านซ้ายของพระพุทธรูป และแท่นหินบูชาหน้าพระพุทธรูป ดังข้อความโดย สรุปของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดังนี้

” อนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ 37 จัดสร้างโดยสมาคมทหารสหายสงคราม กองพลทหารญี่ปุ่นที่ 37 เมื่อปี 2532 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงดวงวิญญาณของบรรดา ทหารซึ่งสังกัด กองพลทหารญี่ปุ่นที่ 37 จำนวน 7,929 นาย ที่สูญเสียชีวิต ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อปี 2482-2488 ″

นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวภายในวัด ประกอบด้วย วิหารเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งจัดสร้างโดยกลุ่มนักธุรกิจจากไต้หวัน, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, อุทยานการศึกษา มีรูปปั้นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อยู่รอบบริเวณวัด เช่น ช้างพันธุ์แอฟริกา, กวาง, ควายป่า ฯลฯ สวนพักจิตร (สวนต้นไทร) ใช้เป็นที่พักผ่อนทำสมาธิหรือทำกิจกรรมยามว่าง

“นครนายก” เดิมมีชื่อว่า “บ้านนา” เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน ทำนาหรือเพาะปลูกอะไร ไม่ค่อยได้ผลและมีไข้ป่าชุกชุม ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนที่นี่กลายเป็นเมืองร้าง

ต่อ มา พระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือดร้อนของชาวเมืองจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกภาษีนาเพื่อจูงใจชาวเมืองให้อยู่ที่เดิมทำให้มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่ม มากขึ้น จนเป็นชุมชนใหญ่และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่า “เมืองนายก”

นครนายก เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 107 กิโลเมตร ตามถนนเลียบคลองรังสิต สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีหลักฐานแนวกำแพงเนินดินและสันคู อยู่ที่ตำบลดงละคร แต่ชื่อนครนายกนั้น

ปรากฏหลักฐาน ในสมัยอยุธยาเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออก สมัยพระเจ้าอู่ทอง ในปี พ.ศ.2437 รัชกาลที่ 5 ทรงจัดลักษณะการปกครองโดยแบ่งเป็นมณฑล นครนายกได้เข้าไปอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี จนเมื่อพ.ศ.2445 ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแทน

วัดพราหมณี ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งใน จ.นครนายก ตั้งอยู่ที่ถนนสาริกา-นางรอง หลักกิโลเมตรที่ 4 ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2446 ปัจจุบันนี้มีอายุ 100 กว่าปีแล้ว

ขอขอบคุณ http://หลวงพ่อปากแดง.sabuyblog.com/

 

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .