ตราประจำจังหวัดพะเยา มีรูปพระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยา และคำขวัญประจำจังหวัดยังมีตอนหนึ่งว่าศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง จึงเป็นที่กล่าวขานกันว่า ถ้ามาพะเยาแล้วไม่ได้มากราบนมัสการพระเจ้าตนหลวงที่วัดศรีโคมคำแห่งนี้ ถือว่ามาไม่ถึงพะเยา ชาวบ้านเรียกกันว่าพระนั่งดิน เพราะประดิษฐานอยู่บนดินแทนฐานชุกชี เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพะเยา ช่วงวิสาขบูชา มีประเพณีแปดเป็ง นมัสการพระเจ้าตนหลวง ถือเป็นงานบุญใหญ่ของชาวพะเยา
ประวัติความเป็นมา ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเวไนยสัตว์ มาถึงล้านนา พระองค์ได้ประทับที่ดอยไกล้กับหนองเอี้ยงหรือกว๊านพะเยานั่นเอง ได้มีช่างทองมาถวายอาหารแต่ไม่ได้ถวายน้ำ, บินฑบาตร พระอานนท์จึงเดินไปตักน้ำที่หนองเอี้ยง พญานาคที่อาศัยอยู่ในหนองเอี้ยงทำทีพ่นควันแผ่พังพาน ไม่ยอมให้พระอานนท์ตักน้ำ หลังจากกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทราบ พระองค์จึงเสด็จไปที่หนองเอี้ยง พญานาคเห็นพระพุทธเจ้ามีพระวรกายสูงใหญ่ เต็มไปด้วยฉับพรรณรังสี จึงเกิดเลื่อมใสศรัทธายอมถวายน้ำต่อพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นพญานาคจึงนำทองคำมามอบให้กับตา ยาย ที่บ้านอยู่ริมหนองนกเอี้ยงเพื่อสร้างพระในปี พ.ศ. ๒๐๓๔ สมัยพระยาเมืองยี่ ครองเมืองพะเยา ต่อมาพระยาหัวเคียน และพระเมืองตู้ ใช้เวลาสร้างพระเจ้าตนหลวงนานถึง ๓๓ ปี เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๐๖๗ พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปืนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ สูง ๑๘.๕๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร ปางมารวิชัย ปิดทองทั่วทั้งองค์ ในสมัยนั้นเมืองพะเยาได้ขึ้นอยู่กับอาณาจักรล้านนาแล้ว ภายหลังจึงสร้างวิหารครอบองค์พระ