“สิม” ในภาษาอีสานหมายถึงโบสถ์ มาจากคำว่า สีมา สิมมา หรือพันธสีมา ที่ปรากฏในคำจารึกบนแผ่นหินที่ประกาศเจตนาของผู้สร้าง ปักไว้ด้านหลังสิม ซึ่งมีปรากฏอยู่ทั่วไป ความหมายของสิม หมายถึงเขต หรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ทำกิจกรรมในพระพุทธศาสนา เช่น เป็นเขตที่พระสงฆ์ใช้ประชุมทำสังฆกรรมบรรพชา และอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์
“สิม” วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น
ในภาคอีสาน มี “สิม” เก่าแก่อันทรงคุณค่า ทรงเสน่ห์ อยู่ไม่น้อย โดยหนึ่งในนั้นก็คือ สิม “วัดไชยศรี” หรือ “วัดใต้” ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 8 บ้านสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปประมาณ 21 กิโลเมตร
วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบสถ์หรือสิม ที่มีอายุกว่าร้อยปีเศษ เดิมมุงหลังคาด้วยแผ่นไม้ ซึ่งมีเอกลักษณ์ คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2525 หลังคาได้ทรุดโทรมจึงได้มีการรื้อและทำหลังคาขึ้นใหม่ เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ส่วนฝาผนังทั้งด้านในและด้านนอกยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” ที่ยังคงมีความเด่นชัด
“ฮูปแต้ม” หรือจิตรกรรมฝาผนัง ของวัดไชยศรี (ด้านในโบสถ์) เป็นการเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้า เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ(สังข์ศิลป์ชัย) ภาพเทพ บุคคลและสัตว์ต่างๆ ซึ่งด้านในห้ามสุภาพสตรีเข้า ส่วนผนังด้านนอกเป็นการเขียนภาพนรกเจ็ดขุม เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ และภาพทหารยืนเฝ้าประตู ถึงแม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม และแม้จะมีบางส่วนเลือนหายไปตามกาลเวลาบ้าง แต่ถือว่าฮูปแต้มของที่นี่ยังคงมีความชัดเจนและสวยงามอยู่มาก
ความเพลิดเพลินของการไปชมสิมคือ ได้ชมฮูปแต้มที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆผ่านภาพวาด ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของสินไซ
เรื่องราวในวรรณกรรมเรื่อง “สินไซ” มีอยู่ว่า ณ เมืองเปงจาล มีพระยากุศราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครอง มีมเหสีชื่อว่านางจันทาเทวี และมีน้องสาวชื่อนางสุมณฑา ต่อมามียักษ์ชื่อกุมภัณฑ์ มาลักลอบฉุดนางสุมณฑาไปเป็นมเหสี พระยากุศราชรู้ดังนั้นก็เสียใจจึงตัดสินใจออกบวชเพื่อตามหาน้องสาว จนได้พบกับลูกสาวทั้งเจ็ดของเศรษฐีเมืองจำปา เกิดชอบพอกันจึงลาสิกขา และกลับมาสู่ขอมาเป็นมเหสีรองทั้งเจ็ดคน
ต่อมานางจันทามเหสีเอก ได้คลอดลูกเป็นคชสีห์เป็นราชสีห์เฉพาะลำตัว แต่มีส่วนหัวเหมือนช้างชื่อว่า สีโห และนางลุนธิดาลูกสาวคนสุดท้องของเศรษฐี ได้ลูกแฝด คนหนึ่งชื่อ “สินไซ” เพราะมีธนูและดาบออกมาด้วย ส่วนอีกคนมีรูปร่างเป็นหอยสังข์ จึงได้ชื่อว่า สังข์หรือสังข์ทอง ส่วนมเหสีอีกหกคนคลอดเป็นเช่นคนปกติทั่วไป เรียกว่า กุมาร หรือท้าวทั้งหก ต่อมาเกิดการชิงดีชิงเด่นกัน นางจันทา นางลุน ท้าวสีโห ท้าวสินไซ และท้าวสังข์ ถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนที่ไม่ดีต่อบ้านเมือง จึงถูกเนรเทศออกจากเมืองไปอยู่ป่า
เมื่อทั้งหมดโตเป็นหนุ่ม ท้าวซึ่งเป็นพระโอรสของหกมเหสีได้ออกตามนางสุมณฑา ท้าวทั้งหกพบกับสินไซกลางป่าเห็นว่ามีฤทธิ์กล้าหาญ จึงออกอุบายให้สินไซไปตามหานางสุมณฑา สินไซเชื่อจึงออกตามหาพร้อมด้วยสีโหและสังข์ ทั้งสามพี่น้องต้องฝ่าฟันอุปสรรค ต่อสู้กับทั้งยักษ์ นาค ครุฑ งูซวง จนได้รบชนะและฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ตาย สุดท้ายก็ได้นำนางสุมณฑากลับคืนมา แต่พอเดินทางกลับมาสมทบกับท้าวทั้งหก กลับถูกผลักตกเหว สินไซเกือบสิ้นชีวิต แต่พระอินทร์ลงมาช่วยไว้
ต่อมาความจริงถูกเปิดเผย ทำให้ท้าวกุศราชสั่งเนรเทศมเหสีและโอรสทั้งหกออกจากเมือง แล้วไปรับนางจันทา นางลุน สินไซ สีโหและสังข์กลับเมืองเปงจาล แล้วมอบเมืองเปงจาลให้สินไซขึ้นปกครองแทน ต่อมายักษ์กุมภัณฑ์ได้รับการชุบชีวิตจากพระยาเวสสุวรรณเจ้าแห่งยักษ์ ให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จึงมาลักลอบนำนางสุมณทากลับเมืองอโนราช และจับสินไซไปเป็นตัวประกัน ทำให้สีโหและสังข์ตามไปช่วย จนเกิดสงครามใหญ่อีกครั้ง พระอินทร์จึงมาไกล่เกลี่ย พร้อมเสนอทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ สุดท้ายทุกฝ่ายได้กลับไปสู่บ้านเมืองดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
และนี่ก็เป็นเรื่องราวของวรรณกรรมเรื่องสินไซ ที่ถูกจารึกไว้ผ่านจิตรกรรมฝาผนัง หรือฮูปแต้ม ที่สิม วัดไชยศรี นอกจากนี้จังหวัดอื่นๆของภาคอีสานยังมี “สิม” และเรื่องราวของ “ฮูปแต้ม” อีกมากมายที่ยังไม่เคยเห็น
ขอขอบคุณ http://www.tinyzone.tv/