“พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือที่คนจีนเรียกกันติดปากว่า “ซำปอกง” ส่วนคนไทยมักเรียกว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ องค์พระมีสีเหลืองทองอร่ามทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 11.75 เมตร สูง 15.46 เมตรด้วยขนาดขององค์พระทำให้เราดูตัวเล็กกระจิดริด ยิ่งเมื่อประกอบกับลวดลายอันวิจิตรบรรจงภายในวิหารซึ่งประดับประดาด้วยลวดลายดอกไม้บนผนังและเสา แถมบริเวณหน้าบันยังสลักลายดอกไม้ประดับกระจก ยิ่งขับให้หลวงพ่อโตดูศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมไปด้วยความน่าศรัทธายิ่งนัก พระวิหารหลวงหลังนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยด้วยการก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนด้านหน้าพระวิหารหลวงมีซุ้มประตูหินเป็นศิลปะแบบจีนขนาดใหญ่สีทึมเรียกว่า “โขลนทวาร”ประดับด้วยตุ๊กตาหินศิลปะจีนตั้งเรียงรายอยู่มากมายซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ครั้งนั้นทรงมีความตั้งใจให้มีลักษณะคล้ายกรุงศรีอยุธยา คือ มีพระโตนอกกำแพงเมืองอย่างวัดพนัญเชิง วรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยทรงเอาเคล็ดว่าท่านมีชื่อว่า “โต” เมื่อรวมความหมายกับเจ้าพระยานิกรบดินทร์มิตรที่ดีของรัชกาลที่ 3 วัดแห่งนี้จึงชื่อว่า “วัดกัลยาณมิตร” หรือมิตรที่ดี เมื่อเรามากราบไหว้ก็เหมือนท่านให้พรว่าจะมีมิตรที่ดีด้วย ซึ่งก็มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้ามาชื่นความงดงามและสักการะกันอย่างไม่ขาดสาย และมีควันธูปลอยฟุ้งให้เรารู้สึกเคืองตาอยู่ไม่น้อย ยิ่งช่วงหน้าเทศกาลอย่างวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หรือวันตรุษจีน เพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งดีๆ ต้อนรับวันใหม่ เรามักจะเห็นชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนเข้ามาสักการะกันอย่างเนืองแน่นทั้งวัน แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้เปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาอย่างมหาศาล
นอกจากพระพุทธไตรรัตนนายก ด้านขวามือของพระวิหารหลวงซึ่งเป็นพระอุโบสถ ภายในยังมีพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ประดิษฐานเป็นองค์ประธาน ซึ่งวัดกัลยาณมิตรแห่งนี้ถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ อันเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำและพระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและถึงแม้พระอุโบสถจะไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ที่สวยงามแบบพระวิหารหลวง แต่ก็ยังคงงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนด้วยหน้าบันปั้นลายดอกไม้ประดับกระเบื้องเคลือบสลับสีลายจีน เป็นความสวยงามของศิลปะจีนที่อยู่ในวัดไทยซึ่งดึงดูดสายตาให้ชวนมองด้วยความชื่นชมยิ่งนัก ส่วนด้านหลังของพระอุโบสถยังมีเจดีย์เหลี่ยมพร้อมกับฐานทักษิณที่สร้างขึ้นในประเทศจีน โดยช่างเมืองไทยเป็นผู้ร่างแบบและขนาดให้ช่างเมืองจีนหล่อศิลาเทียมขึ้นก่อนจะล่องทะเลกลับมาประกอบในประเทศไทย และอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือ “หอระฆัง” เพราะด้านล่างมีระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยิ่งในวันที่คนเยอะเช่นนี้เสียงระฆังจึงดังก้องกังวานไปทั่วทั้งวัด เป็นเสียงที่ฟังเสนาะหูและเปี่ยมไปด้วยพลังของความศรัทธา นอกจากนี้ยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ ซึ่งเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ต่างๆเจดีย์หินทราย และเทพเจ้าจีนให้สักการะอีกหลายองค์ สมกับเป็นวัดที่มีการผสมผสานของศิลปะไทย-จีนที่หลอมหลวมกันไว้ได้อย่างลงตัว
หลังจากเดินสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์รอบทั้งวัดแล้ว ก่อนกลับเราก็ขอแวะทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน รวมถึงทำทานให้อาหารปลาและอาหารนกที่บริเวณศาลาท่าน้ำ และนั่งเล่นชมวิวทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอีกซักหน่อย วันนี้เราจึงสุขทั้งกายใจ และเอิบอิ่มไปด้วยอานิสงค์ของการทำบุญทำทานในคราวเดียวกัน
ขอขอบคุณ http://www.thetrippacker.com/