ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ขนาดใหญ่จำนวนหลายต้น บริเวณริมกำแพงวัดราชนัดดารามวรวิหาร ถ.มหาไชย แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ถูกตัดออกไปจนเหลือแต่ตอ บางจุดได้ขุดตอไม้ออกไปแล้วเหลือเพียงแต่หลุม
ล่าสุดเจ้าอาวาสออกมายอมรับว่าเป็นผู้สั่งตัดเอง เนื่องจากกิ่งไม้ล้ำเข้าไปพาดหลังคาศาลา ทิ้งใบและดอกเกลื่อน เมื่อร้องไปทางเขตแล้วไม่มาดำเนินการให้
สำหรับ “วัดราชนัดดาราม” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สร้างขึ้น เมื่อปีมะเมีย อัฐศก พ.ศ.2389
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสร้างขึ้น เพื่อให้ปรากฏเป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี
ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระอัครมเหสีองค์แรกของรัชกาลที่ 4 มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีบรมราชเทวี จึงพระราชทานนามว่า วัดราชนัดดาราม เมื่อปี พ.ศ.2386
ทั้งนี้ โปรดเกล้าฯ สั่งให้เจ้าพระยายมราช สร้างพระอุโบสถและพระวิหารการเปรียญ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์สร้างโลหะปราสาท พระมหาโยธาสร้างกุฏิพร้อมกำแพงและเขื่อนรอบวัด บนสวนผลไม้เก่า เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่
สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดาราม เป็นศิลปะแบบไทย พระอุโบสถตั้งอยู่กลางระหว่างพระวิหารและศาลาการเปรียญ ด้านยาวขนานกับกำแพงแก้ว เป็นอาคารทรงโรง มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม
ภายในประดิษฐานพระประธานพระนามว่า “พระ เสฏฐตมมุนี”
ส่วนพระวิหาร เป็นศิลปะแบบไทย อาคารทรงโรง หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันลงรักปิดประดับกระจก เขียนลายฉลุปิดทองที่เพดาน ภายในพระวิหารทำเป็นห้องเวชยันตพิมานไว้กลาง สองข้างมีฉัตรเบญจา 5 ชั้น ประดิษฐาน “พระพุทธชุติธรรมนราสพ” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน ลงรักปิดทอง
“โลหะปราสาท” เป็นโบราณสถานสำคัญที่อยู่ภายในวัดราชนัดดาราม ถือเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาท แทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก โดยสร้างเป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ
ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้
โลหะปราสาท ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของพระอุโบสถวัดราชนัดดาราม เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2538-2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาท
จุดเด่นของโลหะปราสาท คือ บนยอดของเจดีย์ทุกองค์ทำจากโลหะสีดำ แต่ไม่เป็นสนิม ส่วนบนยอดเจดีย์สูงสุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งจะต้องเดินขึ้นบันไดวนขึ้นไปซึ่งสูงพอควร เป็นบันไดไม้ แต่มั่นคงแข็งแรง
ด้านบนโลหะปราสาท มีจุดให้แวะพักแวะชมตามชั้นต่างๆ เช่นมีระเบียงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ไว้รอบทั้ง 4 ด้าน ส่วนชั้นบนสุด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ความงดงามของโลหะปราสาท ภายในวัดราชนัดดาราม จึงปรากฏเป็นจุดเด่นแก่ผู้พบเห็นทั่วไป
ขอขอบคุณ http://www.khaosod.co.th/