ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดสุทัศนเทพวรารามอีก และในรัชกาลนี้เองได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามพระอารามว่า “ วัดสุทัศนเทพวราราม ” ดังมีความปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารตอนหนึ่งว่า“ ทรงพระราชดำริว่า วัดพระโต เสาชิงช้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปลายแผ่นดินก็โปรดให้ทำพิหารใหญ่ขึ้น การยังไม่ทันแล้วเสร็จ เชิญเสด็จพระศรีศากยมุนีขึ้นประดิษฐานไว้ การที่อื่นยังมิได้ทำ ก็พอสิ้นแผ่นดินไปครั้งนี้จะต้องทำเสียให้เป็นวัดขึ้นให้ได้ จึงให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองดูทั่วไปทั้งวัดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทักษเทเวศรทำพระอุโบสถใหญ่และทำพระระเบียงล้อมพระวิหารการนั้นก็แล้วสำเร็จทั่วทุกแห่งทั้งกุฏิสงฆ์ด้วย จึงให้อาราธนาพระธรรมไตรโลกอยู่วัดเกาะแก้ว ตั้งเป็นพระพิมลธรรมเป็นเจ้าอธิการจัดเอาพระภิกษุในวัดพระเชตุพนวัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ รวมได้ ๓๐๐ รูปไปอยู่เป็นอันดับพระราชทานชื่อ วัดสุทัศนเทพวราราม ”
๑ แต่ในหนังสือเทศนาพระราชประวัติรัชกาลที่ ๓ ฉบับกรมราชบัณฑิตพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า “ ต่อมา จุลศักราช ๑๑๙๖ (พ.ศ. ๒๓๗๗) ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า วัดพระโตนั้น เมื่อในปัจฉิมรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็ได้โปรดให้ทำพระวิหารใหญ่ขึ้น การก็ยังไม่ทันแล้ว เชิญพระศรีศากยมุนีขึ้นประดิษฐานไว้ การอื่นก็ยังมิได้กระทำอะไรลง ก็พอเสด็จสวรรคตล่วงไป ครั้งนี้จะต้องขวนขวายให้เสร็จจงได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทักษเทเวศ กับพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ปันหน้าที่กันดูแลทำทั่วไปทั้งพระอาราม ครั้นการเสร็จแล้วพระราชทานนามว่าวัดสุทัศนเทพวราราม แล้วสร้างพระวิหารจนสำเร็จ และโปรดให้สร้างพระอุโบสถ ส่วนพระประธานในพระอุโบสถนั้นหล่อขึ้นใหม่ที่โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง จะเป็นวันเดือนปีใดยังไม่พบหมาย เป็นแต่ได้ความตามหนังสือตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งราชบัณฑิตยสถานรวบรวมมีความย่อๆ ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อเมื่อทรงสถาปนาพระอารามใหญ่กว่าพระที่หล่อในกรุงรัตนโกสินทร์องค์อื่นๆ หน้าตักกว้างถึง ๑๐ ศอก ๘ นิ้ว ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนามว่า พระพุทธตรีโลกเชษฐ ดังนี้ แต่ในจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ว่า ณ วัน ๔ฯ ๑๑ ๑ ค่ำ (ปีระกานพศก จุลศักราช ๑๑๙๙) พระโองการรับสั่งให้ชักพระประธานทรงหล่อหน้าตัก ๓ (๒ วา ๓ ศอก ๑ คืบ) มาประทับสมโภช มีการมหรสพพร้อมที่พระทวารวิเศษไชยศรี (ยังไม่ได้สอบสวนให้แน่) ณ วัน ๕ฯ ๒ ๑ ค่ำ ชักพระพุทธรูปทรงเลื่อนชักแห่ประโคมฆ้องกลองชัยชนะครื้นครั่นสนั่นเสียงมโหรี จีนไทยแขกมอญ มีโรงโขนละคร งิ้ว มอญรำ หุ่น ฝุ่นเมืองเหนือหนุนมานมัสการ ทั้งได้ดูงานสมโภช สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์บรมบาทเสด็จทรงพระราชยานเสด็จตามชินาจารย์พระพุทธองค์ ประทับทรงเสด็จยังพลับพลา แล้วชะลอเลื่อนข้ามตะพานมาตลอดพ้นราษฎรกล่นเกลื่อนกว่าหมื่นพันชวนกันมาวันทา เข้าชักพร้อมหน้าจนถึงที่สถิตสถานพระอุโบสถ ปรากฏการมหรสพสมโภช สำเนียงเสียงเสนาะโสต ปราโมทย์โมทนาพิณพาทย์ทำบูชาสัก ๑๐๐ วง ฉลองพระพุทธองค์ชินวร สโมสรแสนเกษม เปี่ยมเปรมอิ่มด้วยศรัทธา ถ้วนหน้าประชาชน พระโองการรับสั่งขนานนามวัดให้ชื่อ วัดสุทัศนเทพธาราม (สิ้นข้อความจดหมายเหตุเพียงนี้)
ผูกพัทธสีมา
ครั้นต่อมาเมื่อปีเถาะเบญจศก จุลศักราช ๑๒๐๕ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ทรงพระกรุณาโปรดให้ผูกพัทธเสมาพระอุโบสถ กำหนด ณ วันขึ้น ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ เพลาบ่ายทั้ง ๓ วัน พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ครั้น ณ วัน ฯ ๑ ๒ ค่ำ พระราชาคณะ ฐานานุกรม ๔๐๐ รูป ประชุมพร้อมกันผูกพัทธเสมาพระอุโบสถ รุ่งขึ้นวัน ฯ ๒ ๒ ค่ำ พระสงฆ์ ๔๐๐ รูป รับพระราชทานฉันแล้วถวายไทยทาน เจ้าพนักงานชาวพระเครื่องต้นกองในออกไปทำเครื่องถวาย เจ้าต่างกรมและหากรมมิได้ทำสำรับเลี้ยง พระสงฆ์ ขุนนาง ตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ไปจนถึงแรม ๒ ค่ำ เดือนยี่นั้น ให้กรมนาจ่ายข้าวสารให้เจ้าพนักงานเครื่องต้นทำเครื่อง ข้าวเหนียวดำ ๓ ถัง ขาว ๓ ถัง ข้าวสารข้าวเจ้าที่ขาวเป็นตัวดี ๑๐ ถัง ให้เข้าโรงครัววัดสุทัศน์ฯ ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ให้กับวิเศษพวกหุงเลี้ยงพระสงฆ์เป็นตัวขาวดี ๔๐ ถัง ขุนหมื่นนายด้านนาย งาน ๒๐ ถัง จ่ายให้แต่ ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ให้เร่งเอาไปส่งจ่ายให้ทันกำหนด อนึ่งให้ชาวพระคลังราชการจ่ายฟืนแสมสานขนาดกลางให้กับชาวพระเครื่องต้นทำสำรับ ๑๕๐๐ ดุ้น และวิเศษพวกหุงข้าวเลี้ยงพระสงฆ์นายด้านนาย งาน ๘๐๐ ดุ้น เร่งจ่ายให้แต่ ณ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ อนึ่ง ให้นาย ศักดิ์ พันพุฒ พันเทพราช จ่ายเลขเข้าโรงครัว ๒๐ คน ให้กับวิเศษ ๑๐ คน สำหรับจะได้ตักน้ำผ่าฟืนใช้เบ็ดเสร็จ ให้มีนายหมวดคุมไปส่งให้กับจะหมื่นอินทภาษที่โรงครัววัดสุทัศน์ฯ แต่ ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่เพลาเช้า อนึ่งให้นายแดงกองส่วนจัดใบตองมาส่งวันละ ๓๐ มัดๆ ๒๐ ยอด ให้มาส่ง ณ ทิมดาบชาววัง ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓, ๑๔, ๑๕ ค่ำทั้ง ๓ วัน ให้เอามาส่งที่โรงครัววัดสุทัศน์ฯ ณ วันเดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๒ ค่ำทั้ง ๓ วัน
อนึ่งให้พันพุฒ พันเทพราช เกณฑ์สานกระจาดก้นกว้าง ๔๓๐ ใบ ให้เจ๊กผูกหวายปิดกระดาษให้งามดีให้เอาไปส่งให้เสมียนตรากรมวังที่วัดสุทัศน์ แต่ ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ตามรับสั่ง
จดหมายอีกฉบับหนึ่ง ด้วยพระยารักษามณเฑียรรับพระราชโองการใส่เกล้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสั่งว่า กำหนดจะได้อาราธนาพระสงฆ์ฐานานุกรมอันดับตั้งสวดพระพุทธมนต์ ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓, ๑๔, ๑๕ ค่ำ เป็นการคำรบ ๓ วัน ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน ฯ ๑ ๒ ค่ำ พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมอันดับจะได้ตั้งสวดพระพุทธมนต์ผูกพัทธสีมา มีเครื่องเล่นสมโภชต่างๆ นั้น ให้เกณฑ์ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนพระราชวังหลวง ราชวังบวร ซึ่งต้องเกณฑ์ราชวัติฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น ในการพระบรมศพสมเด็จพระศรีสุลาไล มาปักตั้งแต่สะพานถ่านถึงสะพานเสาชิงช้ารอบกำแพง โดยยาวถึง ๒๔ เส้น ๑๘ วา ฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น คันหนึ่ง ให้มีฉัตรกระดาษ ๖ ชั้นๆ ละ ๕ ชั้น โคมดอกบัว ตามประทีป ๑๒ ดอก ราชวัติสำหรับฉัตร ๖ ผืน ให้มีนางสิงห์ด้วยจงทุกผืน น้ำมันมะพร้าวตามประทีปให้ไปเบิกต่อคลังราชการและให้เจ้ากรมปลัดกรมสมุห์บัญชีเร่งรัดจัดแจงซ่อมแซมให้ดีงาม ทำให้แล้วตามกำหนดแล้วให้เอาไปปักตั้งแต่ ณ วัน ๗ฯ ๑๐ ๒ ค่ำ ครั้นเพลาพลบค่ำแล้ว ให้เจ้าพนักงานผู้ต้องเกณฑ์จุดประทีปบูชาพระรัตนตรัยให้พร้อมกันทั้ง ๔ คืน แต่โคมดอกบัวนั้นให้มาดูตัวอย่างที่วังกรมรักษ์รณเรศร์ จงทุกกรมแล้วให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้มาเฝ้าพิทักษ์รักษาฉัตรราชวัติ โคม อย่าให้เป็นอันตรายได้ จนกว่าจะเสร็จการ อนึ่งให้ชาวพระคลังราชการจ่ายน้ำมันมะพร้าวให้ผู้ต้องเกณฑ์ตามประทีปเสมอ วันละ ๑๒ ทะนาน อย่าให้ขาดได้ และสั่งอื่นๆ อีกตามตำราหมายฯ
บรรจุพระบรมธาตุ
ต่อมา ณ วัน ฯ ๙ ๔ ค่ำ โปรดให้แห่พระบรมธาตุไปบรรจุพระประธานในพระอุโบสถมีข้อความในหมายเหตุว่าด้วยพระยารักษามณเฑียร รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสั่งว่า ณ วัน ฯ ๙ ๔ ค่ำ เวลาเช้าจะได้แห่พระบรมธาตุไปบรรจุพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศน์นั้น ให้เกณฑ์ทูลละอองเป็นคู่เคียงพระบรมธาตุ พระเทพรักษ์รณฤทธิ์ ๑ พระมหาสมบัติ ๑ ให้นุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุยลำนอกเท้าให้เร่งมาเตรียมคู่เคียงให้ทันกำหนด
อีกฉบับหนึ่ง สั่งว่าจะเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค ทรงปิดทองพระประธานวัดสุทัศน์ ณ วันเดือน ๔ แรม ๙, ๑๐ ค่ำ เพลาบ่ายเพลาเช้าทั้ง ๒ เพลา เกณฑ์ข้าราชการตั้งกองรายรับทางเสด็จ ตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรีจนถึงวัดสุทัศน์ฯ เป็นจำนวนคน ๒๘๗ คนนั้น ให้เจ้าพนักงานคลังราชการจ่ายไต้ ๒๘๗ ไปๆ คอยจ่ายให้กับผู้ต้องเกณฑ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ ณ วัน ฯ ๙ ๔ ค่ำ เพลาบ่าย กองพระยากำแหง กองหลวงจตุรงค์โยธา กองพระราชพิทไภย ๒๙ กองหลวงพลภาพ กองหลวงปราบพลแสน ๓๐ กองหลวงวิจารย์สารี หลวงโภชยากร ๔๐ กองหลวงสุรินทรเดชหลวงเทพเดช ๔๐ กองหลวงเทเพนทร์ หลวงสรรพเพธ ๔๐ กองหลวง ณรายฤทธาขุนวิจิตรจอมราช ๓๐ กับให้ผู้ต้องเกณฑ์มารับเอาไต้ต่อชาวพระคลังราชการที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ ณ วัน ฯ ๙ ๔ ค่ำ เพลาบ่าย อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง
อีกฉบับหนึ่งว่า ด้วยพระยารักษามณเฑียรรับพระราชโองการใส่เกล้าฯ สั่งว่า จะเสด็จพระราชดำเนินไปวัดสุทัศน์ฯ ณ วัน ฯ๔ ค่ำ เพลาบ่าย เสด็จทางพระวิหารออกทางพระวิหาร แรม ๑๐ ค่ำ เพลาเช้าเสด็จทางถนนตีทอง ออกถนนตีทองนั้น ให้พันพุฒ พันเทพราช เกณฑ์จุกช่องถือคบเพลิงฟังการให้พร้อม ให้คลังราชการเอาเสื่อลวดไปเตรียมรับเสด็จให้พร้อมตามสั่งรับ
อาราธนาเจ้าอาวาสองค์แรก
ต่อมาในปีเถาะจุลศักราช ๑๒๐๕ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ทรงสถาปนาสร้างกุฎีสงฆ์เสร็จแล้ว ถึง ณ วัน ๔ฯ ๑๑ ๖ ค่ำ โปรดให้อาราธนาพระธรรมไตรโลกาจารย์ ๑ วัดเกาะแก้วลังการาม (วัดสัมพันธวงศ์) มาครองวัดสุทัศน์เป็นองค์แรก ภายหลังทรงเลื่อนขึ้นเป็นพระพิมลธรรม และเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
๑. อู่ พ.ศ. ๒๓๙๔ เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
ยกบานประตูพระอุโบสถ
ลุจุลศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบานประตูพระอุโบสถ มีข้อความในจดหมายกระทรวงวังว่าด้วยหลวงนายฤทธิ์มหาดเล็ก รับราชโองการใส่เกล้าฯ สั่งว่ากำหนดฤกษ์จะได้ยกบานประตูพระอุโบสถวัดสุทัศน์ ณ วัน ๘ฯ ๑๔ ๒ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมงนั้น ให้ชาวพนักงานคลังฝ่ายซ้ายจัดขันล้างหน้า ๑ ใบ ชาวพระคลังวิเศษจัดผ้าขาวกว้างคงปัก ยาว ๓ แขนผืน ๑ ไปส่งให้กับผู้รับสั่งสำหรับจะได้เป็นกำนันช่าง อนึ่งให้เจ้าพนักงานพิณพาทย์สำรับ ๑ ฆ้องชัยสำรับ ๑ แตรสำรับ ๑ สังข์สำรับ ๑ กลองแปดสำรับ ๑ ให้ไปเตรียมคอยประโคมให้ทันฤกษ์ตามรับสั่ง
หล่อพระเจดีย์ – สร้างสัตตมหาสถาน
ครั้นต่อมา ณ วัน ฯ ๕ ๑๑ ค่ำ โปรดให้ช่างหล่อ หล่อพระเจดีย์หลังซุ้มเสมาวัดสุทัศนเทพวราราม ให้กรมนาจ่ายข้าวสารให้แก่วิเศษหุงเลี้ยงช่างหล่อ ๒๐ ทะนาน เพลาเช้าเหมือนอย่างทุกครั้ง ครั้นมาเมื่อ ณ วัน ๑๒ ฯ๑๒ ค่ำ โปรดให้ช่างหล่อๆ แผ่นหน้าโขน หลังซุ้มเสมาและระฆังฝรั่งใส่วัดสุทัศน์ฯ (การหล่อพระเจดีย์และแผ่นหน้าโขนหลังซุ้มเสมานั้นหล่อด้วยดีบุกยังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้) และโปรดให้สร้างสัตตมหาสถานเจดีย์ ๗ สถานก่อเป็นแท่นด้วยอิฐประดับด้วยศิลาแกะสลักสัตตมหาสถานที่สร้างนี้ ปลูกต้นไม้โพธิ์ ไม้ไทร ไม้จิก ไม้เกต และรูปเรือนแก้ว เป็นรูปเก๋งจีน ทำด้วยศิลาล้วน กับทรงสร้างพระพุทธรูปปางประทับ ในสัตตมหาสถานหล่อด้วยทองแดงขัดเกลี้ยง (ด้วยศิลาเนื้อละเอียด) ปางมารวิชัยนั่งใต้ไม้โพธิ์ ๑ ปางยืนถวายเนตรประสานพระหัตถ์ที่พระเพลา ๑ ปางจงกรมแก้วพระศิลา ๑ ปางทรงพิจารณาธรรมนั่งสมาธิ ๑ ปางทรงประทับใต้ไม้ไทรสมาธิ ๑ ปางนาคปรก ๑ ปางทรงรับผลสมอ บาตร ข้าวสัตตุ นั่งสมาธิใต้ต้นไทร กับโปรดให้หล่อรูปพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ด้วยทองแดงขัดเกลี้ยง
หล่อรูปม้า
ลุจุลศักราช ๑๒๐๘ (พ.ศ. ๒๓๘๙) ณ วัน ฯ ๖ ๓ ค่ำ โปรดให้หล่อรูปม้า ๒ ตัว ใส่ที่พระวิหาร ต่อมา ณ วัน ๗ฯ ๑๒ ค่ำ ในปีนั้น โปรดให้หล่อใหม่เพิ่มเติมอีก
สมโภชพระอาราม
ลุจุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐) ในศกนี้โปรดให้มีการสมโภช มีข้อความในหมายว่า ด้วยพระยาบำเรอรักษ์รับพระราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าสั่งว่า วันวิสาขบูชาให้เจ้าต่างกรม และหากรมมิได้ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ออกไปปฏิบัติเลี้ยงพระสงฆ์วัดสุทัศน์ จะให้มีละครดอกไม้เพลิงในการสมโภชฉลองทั้ง ๓ วัน ครั้น ณ วัน ฯ ๑๓ ๖ ค่ำ เพลาบ่าย พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ณ วัน ฯ ๑๔ ๖ ค่ำ เพลาเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ณ วัน ฯ ๑๕ ๖ ค่ำ เป็นวันวิสาขบูชา มีการเวียนเทียนสมโภชบูชาฯ
ถ้าจะลำดับการสร้างวัดสุทัศน์ฯ ในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้สถาปนา ตั้งแต่จุลศักราช ๑๑๙๖ (พ.ศ. ๒๓๗๗) จนถึงจุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐) ซึ่งเป็นปีสมโภชรวม ๑๓ ปี ถ้าจะลำดับการสร้างตั้งแต่ขุดรากก่อฤกษ์พระวิหารในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙ (พ.ศ. ๒๓๕๐) มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ จุลศักราช ๑๒๐๙ (พ.ศ. ๒๓๙๐) อันเป็นปีสมโภชรวม ๔๐ ปี
ขอขอบคุณ http://www.dhammathai.org/