๑. สภาพฐานะและที่ตั้งวัด
วัดป่าแสงอรุณ เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๔๙ บ้านเลิงเปือย (แอวมอง) หมู่ ๙ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต อยู่ด้านทิศตะวันออกและห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๒๘
๒. อาณาเขตของวัด
ทิศเหนือ กว้าง ๔๔๓ เมตร ติดถนนพระคือ-หนองโพธิ์
ทิศใต้ กว้าง ๒๐๔ เมตร ติดถนนสาธารณประโยชน์
ทิศตะวันออก กว้าง ๒๔๓ เมตร ติดถนนสาธารณประโยชน์
ทิศตะวันตก กว้าง ๒๖๑ เมตร ติดถนนสาธารณประโยชน์
๓. ลักษณะพื้นที่ตั้งวัด
เดิมพื้นที่ตั้งวัดไม่ราบเรียบ มีลักษณะเป็นเนินสูง จากด้านทิศเหนือราบลุ่มลงไปทางด้านทิศใต้ และพื้นที่บางส่วนก็เป็นหลุม เป็นบ่อ มีไผ่ป่าและหญ้าคาขึ้นหนาแน่น ส่วนบริเวณที่พระสงฆ์อยู่อาศัย มีไม้ยืนต้นที่สำคัญ เช่น มะค่าแต้ ตะโก ตะแบก ประดู่ สะเดา ไม้จิก ไม้แดง ต้นปีบ เป็นต้น ปัจจุบัน ได้ปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่ราบเรียบเป็นส่วนมากแล้ว ภายในวัดได้แบ่งเขตใหญ่ ๆ ไว้ ดังนี้
๓.๑ เขตสนามสวนป่าหน้าวัด อยู่ด้านทิศเหนือเกือบตลอดแนวรั้วของวัด มีสนามหญ้า ป่าประดู่ ไม้พะยุง ที่ปลูกเสริมขึ้นมาใหม่ กำลังเจริญเติบโตสวยงาม รวมเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่
๓.๒ เขตพุทธาวาส อยู่ถัดจากเขตสนามสวนป่าเกือบถึงช่วงกลางของวัด เป็นที่ปลูกสร้างศาลา การเปรียญ ๒ ชั้น หอระฆัง วิหาร และอุโบสถ มีเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่
๓.๓ เขตสังฆาวาส ต่อจากเขตพุทธาวาส ค่อนไปด้านทิศใต้ มีเสนาสนะที่พักสงฆ์ตั้งเรียงรายเป็น ๒ แถว จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก และต่อจากทิศตะวันออกไปด้านทิศใต้ รวมแล้วมีลักษณะเป็นอักษรตัว L ตามความเหมาะสมของพื้นที่ มีเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่
๓.๔ เขตสาธารณสงเคราะห์ อยู่ทิศตะวันตก ตั้งแต่เหนือจดใต้ มีศาลาอเนกประสงค์ ฌาปนสถาน ศาลาบำเพ็ญกุศล สุสาน ศาลาผู้ปฏิบัติธรรม โรงครัว ห้องน้ำ ห้องสุขา มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่
ส่วนบริเวณที่เหลือด้านทิศตะวันออก เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ๑ แห่ง ใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี
๔. ความเป็นมา
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ.๓) อดีต เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) วัดศรีจันทร์ อำเภอเมือง ได้นิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม อาจารย์พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.๕ ซึ่งขณะนั้น อยู่ในระหว่างปฏิบัติศาสนกิจที่จังหวัดอุบลราชธานี มาช่วยศาสนกิจที่จังหวัดขอนแก่น พระอาจารย์สิงห์พร้อมด้วยพระอาจารย์กรรมฐานหลายรูป เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์คูณ พระอาจารย์ดี พระอาจารย์อุ่น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์สีโห พระอาจารย์สิม พระอาจารย์เพ็ง พระอาจารย์เกียรติ เป็นต้น มาตั้งวัด ณ บริเวณ โคกเหล่างา (ปัจจุบัน วัดวิเวกธรรม) ส่วนอาจารย์พระมหาปิ่น พร้อมด้วยพระอาจารย์เทศก์ เทสฺรํสี (พระราชนิโรธรังสี) วัดหินหมากเป้ง พระอาจารย์หลุย จนฺทสโร พระอาจารย์ภูมี พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กงมา และ พระอาจารย์แดง (พระสุธรรมคณาจารย์) วัดประชานิยม เป็นต้น ไปจำพรรษา ณ ดอนปู่ตา (ปัจจุบัน วัดสมศรี) บ้านพระคือ
กลางปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ พระอาจารย์เทศก์ เทสฺรํสี พร้อมด้วยพระอาจารย์กรรมฐานหลายรูป ได้ออกมาพักปฏิบัติธรรม ณ บริเวณสถานที่สร้างวัดป่าแสงอรุณในปัจจุบัน ต่อมาอาจารย์พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าทุกรูปได้ออกมาจากดอนปู่ตา (วัดสมศรี) มาอยู่จำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์เทศก์ จึงถือว่าผู้ที่เริ่มการบุกเบิกในการก่อตั้งและสร้างวัดป่าแสงอรุณครั้งแรก คือ พระอาจารย์เทศก์ และอาจารย์พระมหาปิ่น ดังที่ทราบอยู่โดยทั่วไปนั่นเอง
ครั้นปีถัดมา พ.ศ. ๒๔๗๔ อาจารย์พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และคณะพระอาจารย์กรรมฐาน ไปช่วยการพระศาสนาที่จังหวัดนครราชสีมา ตามคำนิมนต์ของท่านเจ้าคุณ พระธรรมปาโมกข์ จึงได้มอบหมายหน้าที่การบริหารวัดป่าพระคือ (ปัจจุบันคือวัดป่าแสงอรุณ) ให้พระอาจารย์ผู้มีพรรษารองลงมารับหน้าที่สืบต่อกันมาโดยลำดับ ปรากฏว่า วัดนี้มีพระอาจารย์กรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แวะพักและอยู่จำพรรษาให้การอบรม ในด้านการสมาธิภาวนา แก่พุทธบริษัทติดต่อกันมาไม่ขาดระยะ
๕. การตั้งชื่อวัด
วัดป่าแสงอรุณ เมื่อตั้งครั้งแรกยังไม่มีชื่อวัดเลยทีเดียว เรียกกันแต่ว่า “วัดป่าพระคือ” เพราะ พระอาจารย์ผู้นำสร้าง ย้ายมาจากดอนปู่ตา (วัดสมศรี) ทั้งได้รับการอุปถัมภ์จากชาวบ้านพระคือมาก่อน ครั้นมาถึงช่วงระยะที่ท่านพระอาจารย์สอน พระอาจารย์ครูจันทร์เป็นเจ้าอาวาส เห็นว่าถึงฤดูกาลงานประจำปี มีการนิมนต์พระตามวัดต่าง ๆ มารับกัณฑ์เทศน์ เป็นการไม่สะดวก ไม่อาจระบุชื่อวัดให้แน่นอนได้ จึงคิดตั้งชื่อวัดขึ้น ครั้งแรกให้ชื่อว่า วัดป่าอรุโณ (คงหมายถึง อรุโณทัย) ต่อมาท่านเจ้าคุณพระวินัยสุนทรเมธี (พระราชสุเมธี) วัดศรีจันทร์ อดีต เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) เห็นว่าเป็นชื่อที่ขาด ๆ วิ่น ๆ ฟังไม่เพราะ มีเนื้อความไม่สมบูรณ์ จึงเปลี่ยนเสียใหม่ว่า “วัดป่าแสงอรุณ” จวบจนทุกวันนี้
๖. ทรัพย์สิน
๖.๑ ที่ดินตั้งวัด จำนวน ๓๙ ไร่ (น.ส.๓ ก.)
๖.๒ ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒ ไร่ ๓ งาน ๖๓ ตารางวา (น.ส.๓ ก.)
๖.๓ เสนาสนะสิ่งปลูกสร้าง แบ่งออกเป็น ๒๙ ประเภท มีดังนี้
๑) สิมอีสานประยุกต์ (โบสถ์) สถาปัตยกรรมแบบอีสานตอนบนผสมผสานกับสถาปัตยกรรมส่วนกลาง เพื่อให้สวยสดโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๔ เมตร สูงจากพื้นดินเดิม ๖๐ เมตร เสา ๕๒ ต้น หน้าต่าง ๑๔ ช่อง ประตู ๓ ช่อง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลาแบบโบราณ มีหอระฆัง ๔ หอ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่มั่นคงถาวรโดยตลอด ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน รวม ๙ ปี สิ้นงบประมาณในการก่อสร้าง ๔๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สี่สิบเก้าล้านบาท รวมทั้งทองคำที่ปลียอดสิมอีสาน)
๒) วิหารปัญญาพลานุสรณ์ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น หลังคาทรงไทย ๑ หลัง กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ค่าก่อสร้าง ๑,๖๘๗,๖๒๓.๗๕ บาท (หนึ่งล้านหกแสนแปดหมื่นเจ็ดพันหกร้อยยี่สิบสามบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์)
๓) ศาลาอเนกประสงค์ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑ ชั้น ๑ หลัง กว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๔๕ เมตร ค่าก่อสร้าง ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน)
๔) ศาลาหลวงพ่อองค์ดำ ๑ หลัง กว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๕ เมตร รวมค่าก่อสร้าง ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน)
๕) ศาลาพระบูรพาจารย์ ๑ หลัง กว้าง ๗ เมตร ยาว ๗ เมตร ค่าก่อสร้าง ๒๕๐,๐๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๖) ศาลาพระไม้ใบลาน ๑ หลัง กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ค่าก่อสร้าง ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน)
๗) ศาลาหอฉันมุงหญ้า ๑ หลัง กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๙ เมตร ค่าก่อสร้าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
๘) ตำหนักสมเด็จทรงอีสานประยุกต์ ๑ หลัง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ค่าก่อสร้าง ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน)
๙) ศาลาผู้ปฏิบัติธรรม ๑ หลัง กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร มีทั้งหมด ๑๖ ห้อง ค่าก่อสร้าง ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านห้าแสนบาทถ้วน)
๑๐) ศาลากวนข้าวทิพย์ ๑ หลัง กว้าง ๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ค่าก่อสร้าง ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
๑๑) พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตอีสาน ๑ หลัง พร้อมด้วยหุ่นปั้นแสดงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวอีสาน จำนวน ๖ เรื่อง ค่าก่อสร้าง ๒๕๐,๐๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๑๒) พิพิธภัณฑ์แม่แบบสิมอีสาน ๑ หลัง กว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ค่าก่อสร้าง ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๑๓) โรงเรียนพระปริยัติธรรมชั่วคราว จำนวน ๔ หลัง
– กว้าง ๓.๕๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร จำนวน ๒ หลัง
– กว้าง ๓.๕๐ เมตร ยาว ๒๑ เมตร จำนวน ๒ หลัง
รวมค่าก่อสร้าง ๓๕๐,๐๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๑๔) สำนักงานเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต) ๑ หลัง กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ค่าก่อสร้าง ๓๕๐,๐๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๑๕) ห้องสมุดแบบทรงไทย ๑ ชั้น ๑ หลัง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ค่าก่อสร้าง ๒๑๐,๐๐๐ บาท (สองแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน)
๑๖) กุฏิ ๓ ประเภท ดังนี้
๑) กุฏิคอนกรีตเสริมเหล็กต่างขนาด ทั้งหมด ๒๖ หลัง ดังนี้
– กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๘ เมตร จำนวน ๑ หลัง
– กว้าง ๔ เมตร ยาว ๔ เมตร จำนวน ๕ หลัง
– กว้าง ๖ เมตร ยาว ๖ เมตร จำนวน ๓ หลัง
– กว้าง ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร จำนวน ๑ หลัง
– กว้าง ๓ เมตร ยาว ๗ เมตร จำนวน ๓ หลัง
– กว้าง ๓ เมตร ยาว ๔ เมตร จำนวน ๓ หลัง
– กว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร จำนวน ๒ หลัง
– กว้าง ๔ เมตร ยาว ๙ เมตร จำนวน ๒ หลัง
– กว้าง ๖ เมตร ยาว ๙ เมตร จำนวน ๑ หลัง
– กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
– กว้าง ๓ เมตร ยาว ๒๓ เมตร จำนวน ๑ หลัง
– กว้าง ๕ เมตร ยาว ๒๑ เมตร จำนวน ๑ หลัง
– กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๘ เมตร จำนวน ๒ หลัง
๒) กุฏิครึ่งปูนครึ่งไม้ ๒ ชั้น ๑ หลัง กว้าง ๗ เมตร ยาว ๙ เมตร
๓) กุฏิไม้ถาวร ๒ หลัง กว้าง ๕.๕๐ เมตร ยาว ๕.๕๐ เมตร
รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๐,๕๐๐,๐๐๐ (สิบล้านห้าแสนบาทถ้วน)
๑๗) ซุ้มพักร้อนทรงหกเหลี่ยม ๑ หลัง กว้าง ๔ เมตร ยาว ๔ เมตร ค่าก่อสร้าง ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
๑๘) ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๒ หลัง
– กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ๑ หลัง
– กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ๑ หลัง
ค่าก่อสร้าง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)
๑๙) ศาลาร่วมใจ ๑ หลัง กว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๘ เมตร ค่าก่อสร้าง ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
๒๐) ศาลาเก็บศพ พร้อมที่บรรจุ ๑๒ ห้อง ๑ หลัง กว้าง ๓.๕๐ เมตร ยาว ๑๘ เมตร ค่าก่อสร้าง ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
๒๑) ฌาปนสถานคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑ หลัง กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ค่าก่อสร้าง ๖๐๕,๐๐๐ บาท (หกแสนห้าพันบาทถ้วน)
๒๒) โรงน้ำปานะ ๑ หลัง กว้าง ๔ เมตร ยาว ๖ เมตร ค่าก่อสร้าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
๒๓) ธนาคารข้าวเปลือก ๑ หลัง (โครงการธนาคารข้าว) พร้อมเครื่องสีข้าว กว้าง ๔ เมตร ยาว ๗ เมตร ค่าก่อสร้าง ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๒๔) โรงครัว ๑ หลัง กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ค่าก่อสร้าง ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๒๕) ซุ้มประตู ๓ ซุ้ม กว้าง ๖ เมตร สูง ๗ เมตร ค่าก่อสร้าง ๒ ซุ้ม ๆ ละ ๕๒๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนสองหมื่นบาทถ้วน) อีกซุ้มหนึ่งค่าก่อสร้าง ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) รวมค่าก่อสร้าง ๓ ซุ้ม เป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๑๙๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน)
๒๖) กำแพงรอบวัด
ด้านหน้าวัด ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแบบมาตรฐาน ยาว ๔๔๓ เมตร ค่าก่อสร้าง ๖๗๑,๒๐๐ บาท (หกแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน)
ที่เหลืออีก ๓ ด้าน ฐานและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝาผนังอิฐบล็อก ฉาบปูน ความยาว ๗๐๘ เมตร รวมค่าก่อสร้าง ๑,๐๖๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านหกหมื่นบาทถ้วน)
รวมค่าก่อสร้างกำแพงรอบวัดทั้งสิ้น ๑,๗๓๑,๒๐๐ บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนสามหมื่นหนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน)
๒๗) ห้องสุขา มีทั้งหมด ๒ ส่วนด้วยกัน คือ
๑) สำหรับพระภิกษุสามเณร มี ๒ หลัง ดังนี้
– กว้าง ๓ เมตร ยาว ๗ เมตร มี ๔ ห้อง
– กว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๘ เมตร มี ๑๐ ห้อง
ค่าก่อสร้าง ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๒) สำหรับประชาชนทั่วไป มี ๖ หลัง คือ
– ด้านทิศตะวันออก (เล็ก) ๑ หลัง
– ด้านทิศตะวันตก (เล็ก) ๒ หลัง
– ด้านทิศตะวันออก (ใหญ่) กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕๑ เมตร มี ๓๔ ห้อง ๑ หลัง
– ด้านทิศตะวันตก (ใหญ่) มี ๒ หลัง คือ
ก) กว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๒ เมตร มี ๗ ห้อง ๑ หลัง
ข) กว้าง ๓ เมตร ยาว ๒๑ เมตร มี ๑๔ ห้อง ๑ หลัง
รวมค่าก่อสร้าง ๕๘๕,๐๐๐ บาท (ห้าแสนแปดหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
๒๘) ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในบริเวณวัด กว้าง ๕ เมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร ระยะทาง ๑,๒๑๔.๖ เมตร ค่าก่อสร้าง ๒,๙๖๕,๕๘๒.๕๐ บาท (สองล้านเก้าแสนหกหมื่นห้าพันห้าร้อยแปดสิบสองบาทห้าสิบสตางค์)
๒๙) สุเมธอาศรม และลานธรรม ๑ แห่ง รวมค่าก่อสร้าง ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
๓๐) บรรณศาลาเทพวรคุณ (ศาลาทรงไทย) สำหรับพักผ่อน กว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตร พร้อมปรับภูมิทัศน์รอบบริเวณศาลา รวมค่าก่อสร้าง ๖๗๐,๐๐๐ บาท (หกแสนเจ็ดหมื่นบาท)
๓๑) ศาลาไม้แก่นขาม ใช้ไม้แก่นขามก่อสร้างทั้งสิ้น กว้าง ๕ เมตร ยาว ๗ เมตร ค่าก่อสร้าง ๖๕๐,๐๐๐ บาท (หกแสนห้าหมื่นบาท)
๓๒) จัดสวนหย่อมและลานปฏิบัติธรรม ในวาระครบ ๕ รอบ ๖๐ ปี พระเทพวรคุณ ภายในบริเวณวัดป่าแสงอรุณ รวมค่าใช้จ่าย ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)
๓๓) ปรับภูมิทัศน์สระน้ำหลังตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ใช้งบประมาณ ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาท)
รวมค่าก่อสร้างทั้ง ๓๓ รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น ๘๓,๑๑๙,๔๐๖.๒๕ บาท
(แปดสิบสามล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่ร้อยหกบาทยี่สิบห้าสตางค์)
๖.๔ ปูชนียวัตถุ
๑) พระพุทธรูปหลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร (ปางมารวิชัย) สมัยเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว สูง ๑ ฟุตเศษ เป็นพระคู่บารมีของวัด ช่วยสนับสนุนสร้างวัดให้เจริญก้าวหน้ากระทั่งถึงปัจจุบัน
๒) พระพุทธรังสิโยภาสสุขพิพัฒน์ เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร (ปางมารวิชัย) ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในสิมอีสาน (โบสถ์) ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๙ นิ้ว สูง ๒ เมตรเศษ
๓) พระสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์ดำ ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๙ นิ้ว สูง ๒ เมตรเศษ ประดิษฐานที่ศาลา พระเจ้าองค์ดำ
๔) พระประธานปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๐ นิ้ว สูง ๑ เมตรเศษ ประดิษฐานที่ ชั้น ๒ วิหารปัญญาพลานุสรณ์
๕) พระประธานปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว สูง ๒ เมตรเศษ ประดิษฐานที่ ศาลาอเนกประสงค์
๖) พระแกะสลักไม้แก่นขาม ปางรำพึง สูง ๒ ฟุต
๗. การบริหารและการปกครอง
เนื่องจากวัดป่าแสงอรุณ สร้างก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔ ผู้นำด้านการปกครองภายในวัด ซึ่งเรียกว่า “เจ้าอาวาส” ก็บริหารสืบต่อกันมา โดยไม่มีการแต่งตั้งแต่อย่างใด แต่ก็เคารพเชื่อฟังกันตามอายุ พรรษา ด้วยดีมาตลอด เริ่มมีการแต่งตั้งเป็นทางการ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ซึ่งมีลำดับ เจ้าอาวาส ดังนี้
๑) พระอาจารย์เทศก์ เทสฺรํสี (พระราชนิโรธรังสี) พ.ศ. ๒๔๗๓–๒๔๗๔
๒) พระอาจารย์สอน พ.ศ. ๒๔๗๔–๒๔๗๖
๓) พระอาจารย์ครูจันทร์ พ.ศ. ๒๔๗๖–๒๔๘๐
๔) พระอาจารย์บุญ พ.ศ. ๒๔๘๐–๒๔๘๕
๕) พระอาจารย์สี พ.ศ. ๒๔๘๕–๒๔๘๘
๖) พระหลวงปู่นนท์ พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๔๙๔
๗) พระอาจารย์สมพร พ.ศ. ๒๔๙๔–๒๕๐๐
๘) พระอาจารย์สุวรรณ ขนฺติโก พ.ศ. ๒๕๐๐–๒๕๐๔
๙) พระอาจารย์ทองม้วน อตฺตคุตฺโต พ.ศ. ๒๕๐๔–๒๕๐๙
๑๐) พระอาจารย์สุวรรณ ขนฺติโก พ.ศ. ๒๕๐๙–๒๕๑๔
๑๑) พระอาจารย์ทองม้วน อตฺตคุตฺโต พ.ศ. ๒๕๑๕–๒๕๑๙
๑๒) พระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ ป.ธ.๙) พ.ศ. ๒๕๑๙–ปัจจุบัน
๘. จำนวนพระภิกษุสามเณรจำพรรษา
เนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบวัด ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรมเช่นสมัยก่อน คณะสงฆ์จังหวัดขอนแก่น (ธ) จึงมีมติให้วัดป่าแสงอรุณ ตั้งเป็นสำนักเรียนเปิดรับพระภิกษุสามเณร เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับพระภิกษุสามเณรจากตำบลและอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงด้วย จึงมีพระภิกษุสามเณรเข้าอยู่จำพรรษามากขึ้น ตามสถิติ ๗ ปีย้อนหลัง ดังนี้
พ.ศ. ๒๕๔๒ จำนวน ๕๓ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๓ จำนวน ๔๘ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๔ จำนวน ๔๙ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๕ จำนวน ๔๙ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๖ จำนวน ๔๓ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๗ จำนวน ๓๙ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๘ จำนวน ๓๔ รูป
พ.ศ. ๒๕๔๙ จำนวน ๓๗ รูป
วัดป่าแสงอรุณ แม้จะเปลี่ยนสภาพจากสายปฏิบัติมาเป็นวัดสายศึกษา ที่เรียกว่า “ปริยัติ” เพราะสภาพแวดล้อมดังที่กล่าวแล้ว แต่ปฏิปทาของพระบูรพาจารย์สายปฏิบัติทางวัดก็ยังรักษาไว้ ไม่ให้หายสาบสูญไปทั้งหมด เช่น การกวาดลานวัดทุกวัน การทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น การอบรมพระภิกษุสามเณรประจำวัน และการฝึกสมาธิ เป็นต้น
๙. เกียรติคุณ และเป็นที่ตั้งสำนักงานต่าง ๆ
– พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นที่ตั้ง กิจกรรมการส่งเสริม อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การประกวดสรภัญญะ กลองยาว และแคน เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน
– พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นสำนักศาสนศึกษาตัวอย่าง และเป็นสำนักศาสนศึกษาดีเด่นตามลำดับ
– พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
– พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นที่ตั้ง สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต)
– พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นสถานที่ประชุมตรวจธรรมสนามหลวงชั้นตรี ของคณะสงฆ์ ภาค ๘,๙,๑๐,๑๑ (ธรรมยุต)
– พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นสถานที่ประชุม อบรม สัมมนา ของหน่วยงาน ของรัฐ สถานศึกษา และเอกชนหลายหน่วยงาน จนถึงปัจจุบัน
– พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นที่ตั้ง สำนักงานวารสารดอกบัว ของคณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธรรมยุต)
– พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
– พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นที่ตั้ง สำนักงานมูลนิธิคณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นที่ตั้ง สำนักงานมูลนิธิวัดป่าแสงอรุณ
– พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น
– พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นที่ตั้ง สำนักงานเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต)
– พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นที่ตั้ง สำนักงานกรรมการบริหารคณะสงฆ์ธรรมยุต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นที่ตั้ง หน่วยกู้ชีพมูลนิธิวัดป่าแสงอรุณ
– พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นที่ตั้ง ธนาคารข้าว โค กระบือ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อนุมัติโดยมหาเถรสมาคม
– พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นสถานที่ศึกษา อบรม และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น เช่น ตัวอักษร
ไทยน้อย ตัวอักษรธรรม ปริวรรตวรรณคดีอีสาน เป็นต้น
รับรองตามนี้
ขอขอบคุณ http://www.sptcenter.org/