พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ-ปูนปั้นประดับเบญจรงค์

stucco1

งานปูนปั้นอันวิจิตรบรรจงภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เป็นฝีมือของอาจารย์สำรวย เอมโอษฐ์ ช่างเมืองเพชรบุรีและทีมงาน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในการสร้างสรรค์งานปูนปั้นแบบโบราณ อันเป็นกรรมวิธีที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก เพราะปูนตำหรือปูนโบราณนั้นมีคุณสมบัติที่แห้งช้า จึงทำให้การตกแต่งลวดลายต่างๆได้ง่ายกว่าการใช้ปูนซีเมนต์ อีกทั้งประกอบกับความสวยงามวิจิตรบรรจงของเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่มีสีสันหลากหลาย ทำให้เกิดความสวยงามมากขึ้น แต่สำหรับงานปูนปั้นบางชิ้นที่มีขนาดใหญ่จะมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ เช่น เศียรพญานาค กินรีและกินนร เป็นต้น รูปปั้นเหล่านี้ขึ้นรูปด้วยปูนซีเมนต์ก่อนแล้วจึงตกแต่งด้วยปูนตำปั้นทับลงไปอีกชั้นพร้อมกับประดับเบญจรงค์
ส่วนผสมของปูนตำ
1.หินฟลูออไรด์
2.ปูนขาว
3.หินทรายแดง
4.ปูนกินหมาก
5.กาวหนังควาย
6.น้ำตาลอ้อย
7.ข้าวเหนียว
8.กระดาษฟางแช่น้ำ
9.ทรายละเอียด
วิธีการทำคือนำหินฟลูออไรด์ ปูนขาว ปูนกินหมาก หินทรายแดง มาตำให้ละเอียด แล้วนำกระดาษฟางแช่น้ำให้เปื่อย มาตำผสมกับปูน นำกาวหนังควายเคี่ยวผสมกับน้ำตาลอ้อย ข้าวเหนียวต้มสุก ทรายละเอียด นำส่วนผสมทั้งหมดนี้มาตำรวมกัน โดยถ้าต้องการปูนตำเป็นสีชมพูก็จะต้องใส่หินทรายแดงและปูนกินหมากมากกว่าหินฟลูออไรด์ แต่ถ้าอยากให้ปูนตำเป็นสีขาว ก็จะใส่ปูนขาวและหินฟลูออไรด์มากกว่า ซึ่งหินฟลูออไรด์นั้นจะทำให้เกิดสีขาวนวลแตกต่างจากการใช้สีโดยทั่วๆ ไป หลังจากหมักปูนที่ผสมรวมกันจนได้ที่ประมาณสามคืน จึงนำปูนที่หมักได้มาปั้นลวดลาย แล้วใช้เครื่องถ้วยเบญจรงค์ประดับตกแต่ง

ขั้นตอนการทำงานปูนปั้นประดับเบญจรงค์
เริ่มจากนำเหล็กและลวดมาดัดเพื่อขึ้นเป็นโครงรูปร่างต่างๆ แล้วนำลวดตะแกรงหรือมุ้งลวดมาหุ้มทับลงไปบนเส้นลวดที่ถูกดัดขึ้นโครงไว้ แล้วจึงใช้ปูนซีเมนต์พอกหุ้มโครงลวดนั้นไว้ เมื่อปูนซีเมนต์แห้งจึงใช้ปูนตำที่หมักไว้นั้นมาปั้นลวดลายตามที่ต้องการแล้วจึงนำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ประเภท ช้อน ฝาถ้วยชา ถ้วยชาจีนมาตัด โดยใช้คีมปากนกแก้วตัดให้ได้กับขนาดที่ต้องการ ยกเว้นบางลวดลายจะใช้เครื่องถ้วยทั้งใบตกแต่งโดยไม่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเครื่องถ้วยเบญจรงค์เป็นของที่สั่งทำใหม่ทั้งหมดส่วนใหญ่จะสั่งทำที่ประเทศไทย แต่บางส่วนก็มาจากประเทศจีน ความโค้งของผิวถ้วยก่อให้เกิดมิติของพื้นผิว กลมกลืนด้วยโทนสีที่ไล่เรียงกันไป ทำให้งานปูนปั้นประดับเบญรงค์มีความงดงามแปลกตา

ขอขอบคุณ http://www.ancientcitygroup.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .