เนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าของวัดมีสภาพทรุดโทรมและคับแคบ ซึ่งหลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ ทรงมีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม ซึ่งพระจริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์ (หลวงพ่อเจียม) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาค เพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 นับเป็นที่ปลื้มปิติของชาวฉะเชิงเทรา อย่างหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นเงินบริจาคจากประชาชนทั้งหมด ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่ประการใด
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ เป็นงานที่มีความท้าทายเชิงวิศวกรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากตำแหน่งที่ประดิษฐานขององค์พระนั้น เป็นตำแหน่งที่มีความเชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่ทำให้บ้านเมืองฉะเชิงเทราเจริญรุ่งเรือง จึงมีข้อจำกัดในการก่อสร้างที่ว่า การก่อสร้างนี้จะต้องไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์แม้แต่กระเบียดเดียว ทั้งทางราบ และทางดิ่ง (หมายถึงว่าจะยกขึ้นลงก็ไม่ได้) โดยต้องสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กครอบฐานชุกชี ติดตั้งเครื่องระบายอากาศ มีเครื่องวัดความชื้น และติดตั้งเครื่องวัด และควบคุมอุณหภูมิและความชื้น
ในส่วนของศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ นับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดาน จะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และโดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ เหนือมณฑปพระอุโบสถ และภาพของจักรวาลบนเพดานจะเป็นภาพเขียนประดับโมเสกสี จึงเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุด
ขอขอบคุณ http://www.sawasdee-padriew.com/