สถาปัตยกรรมในวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารที่น่าสนใจ

พระอุโบสถ เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 (คือ ศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาผสม) หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี ถือปูนทับแนวทำเป็นลอนลูกฟูกแบบเก๋งจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี สลับลวดลายใบดอกพุดตาน กระจังฐานพระ ช่อฟ้าใบระกา ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสลับลายจากประเทศจีน ผนังด้านในเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีช่อดอกพุดตานภายใน เพดานลายฉลุปิดทอง ซุ้ม ประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปใบและดอกพุดตาน พื้นประดับกระจก

ผนังภายในพระอุโบสถเขียนสีลายดอกไม้ร่วง บานประตูหน้าต่างเขียนลายทองรดน้ำ กรอบประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นยกดอกพุดตาน พื้นประดับกระจกส่วนด้านในของบานประตูหน้าต่างเขียนรูปกอบัว ดอกบัว นก และสัตว์น้ำ
พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงทั้งองค์ มีตำนานเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ขุดแร่ทองแดงที่อำเภอจัณทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ถลุงเป็นเนื้อทองแดงมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะใช้ทองแดงนั้นให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนาก่อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอาราม ซึ่งทรงสร้างใหม่ 2 พระอาราม คือ วัดราชนัดดากับวัดเฉลิมพระเกียรติ และยังได้โปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปปางอื่นอีก 34 ปางด้วย พระประธานนี้หล่อเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2389 เฉพาะที่อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดราชนัดดานั้น เวลาชักเคลื่อนองค์พระไปวัดเกิดอาเพศ ตะเฆ่ (เครื่องลากเข็นของหนัก รูปเตี้ยๆ มีล้อ) ประดิษฐานพระไปทับเอาเจ้าพระยายมราช (บุญนาค) กับทนายอีก 2 คน ตาย เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ถวายพระนามพระประธานว่า “พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา” ภายในพระวิหารหลวง หรือเรียกกันว่า วิหารพระศิลาขาว อยู่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานศิลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาเมื่อพ.ศ. 2401 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวาเป็นพระศิลานั่งพับเพียบซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียว
พระเจดีย์ อยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง มักเรียกกันว่า ทรงลังกา เนื่องจากได้รับแบบอย่างมาจากลังกา พร้อมกับการเผยแพร่เข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ มีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้นสูง 45 เมตร ภายในบรรจุพระบรมธาตุ ยังมีถาวรวัตถุอื่นที่สำคัญ เช่น การเปรียญหลวง อาคารแบบผสมระหว่างอาคารทรงไทยกับเครื่องบนหลังคาแบบจีน ลักษณะเป็นตึกทรงโรงมีเสาอยู่ข้างใน ภายในประดิษฐานพระชัยวัฒน์ ซึ่งหาชมได้ยาก นอกจากนี้ยังมี กุฏิทรงไทย อยู่ด้านเหนือเขตพุทธาวาสจำนวน 20 หลัง เป็นเรือนไทยภาคกลางใต้ถุนสูง กำแพงแก้วและป้อมปราการ เป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเหมือนกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีป้อมปราการทั้งสี่มุม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และพระศรีมหาโพธิ์ ต้นโพธิ์พันธุ์พุทธคยาที่ได้มาสมัยรัชกาลที่ 4

อัตโนประวัติเจ้าอาวาส

มีนามเดิมว่า สาย ศรีมงคล เป็นชาวนครนายกโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2476 โยมบ้าดา-มารดา ชื่อนายฉุยและนางปร่ำ ศรีมงคล ปัจจุบัน พระธรรมกิตติมุนี (สาย ฐานมังคโล) สิริอายุ 78 พรรษา 57

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

ในช่วงวัยเด็ก หลังจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 แล้ว ได้ออกมาช่วยงานครอบครัวหาเลี้ยงชีพ ด้วยครอบครัวมีฐานะยากจน ท่านเป็นผู้มีจิตใจโน้มเอียงเข้าหาพระธรรมตั้งแต่วัยเยาว์ ชอบไปช่วยงานที่วัดในหมู่บ้าน

ครั้นต่อมา โยมมารดาของท่านได้ถึงแก่กรรม จึงขอบวชเป็นสามเณรหน้าไฟ เมื่ออายุ 13 ปี ที่วัดท่าทราย มีพระครูจ้อน วัดท่าทราย เป็นพระอุปัชฌาย์

แต่ภายหลังเสร็จจากงานศพของโยมมารดาท่านแล้ว ปรากฏว่า สามเณรสายไม่ยอมลาสิกขา ขออยู่ในสมณเพศ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ครั้นอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2497 โดยมีพระปิฎกคุณาภรณ์ วัดศรีเมือง จ.นครนายก เป็นพระอุปัชฌาย์

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในระดับสูง แต่ด้วยสำนักเรียนในจังหวัดนครนายกอยู่ห่างไกล เดินทางไม่ค่อยสะดวก จึงเกิดความคิดที่จะย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดในเมืองหลวง เพื่อศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง ท่านจึงเดินทางเข้าเมืองกรุง ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี เรียนแผนกบาลีจนสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค ด้วยความขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจึงสอบได้มาโดยลำดับ เมื่อถึงชั้นสูง ด้วยพระผู้ใหญ่ในวัดบางแพรกใต้ เล็งเห็นถึงความสามารถของท่าน จึงขอให้ท่านมาช่วยปฏิบัติศาสนกิจ ทำให้ท่านต้องละวางเรื่องการศึกษาไว้ชั่วคราวหลังการมรณภาพของเจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ ในเวลาต่อมา พ.ศ.2508 ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสแทน ได้รับตำแหน่งปกครอง เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอเมืองนนทบุรี ตามลำดับ ระหว่างนั้นได้เข้ารับการอบรมโรงเรียนพระสังฆาธิการ ผ่านการอบรมหลักสูตรความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และอบรมพระปริยัตินิเทศก์ เป็นต้น
พ.ศ.2528 คณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี และเจ้าอาวาสวัดเฉลิมพระเกียรติ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2522 ได้รับพระราช ทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรเวที พ.ศ.2530 ได้รับพระราช ทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกิตติโมลี
พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปริยัตยาจารย์ และ พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมกิตติมุนี
พระธรรมกิตติมุนี ได้สร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้าน อาทิ ผลงานด้านสาธารณประโยชน์ ท่านได้มีดำริ จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เมื่อปี พ.ศ.2550 โดยเทศบาลเมืองบางศรีเมือง จ.นนทบุรี ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารและอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก นับเป็นห้องสมุดที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของ จ.นนทบุรี ให้ผู้ที่สนใจในการค้นคว้าข้อมูล ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ด้วยการเรียนรู้ผ่านสื่อสารสนเทศ หนังสือหลายประเภทให้เด็กๆ และประชาชนทั่วไปได้อ่านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการปลูกฝังในเรื่องการรักการอ่าน การค้นคว้าหาความรู้ ซึ่งเป็นอีกผลงานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ท่านได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา

คติธรรม *งานใดไม่มีปัญหา งานนั้นไม่น่าทำ*

บันทึกเหตุการณ์สำคัญ

๒๒ ตุลาคม ๒๓๙๐ เวลา ๐๗.๒๔น. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงก่อพระฤกษ์ พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ

๘ มีนาคม ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบรดี (เสือ สนธิรัตน์) จัดการผูกพัธทสีมา

๒๒ มีนาคม ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และเจ้าหญิงอเล็กซานดร้าแห่งเค้นท์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปลอยพระประทีป ณ ริมเขื่อนหน้าวัด

๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดกฐินและยกฉัตรพระประประธานในพระอุโบสถ

๑๒ มกราคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคในการสมโภชพระอาราม

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี เสด็จเป็นประธานทอดผ้าพระกฐิน

๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการถวายผ้าพระกฐินหลวง

ขอขอบคุณ http://thaigoodview.com/

 

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .