วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 86 หมู่ 3 ถนนท่าน้ำนนท์ –วัดโบสถ์ดอนพรหม ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย นนทบุรี มีที่ดินทั้งหมด 24 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 156460 ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2390 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2390 อาณาเขตของวัดแบ่งออกเป็น 3 เขตคือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตนอกกำแพงใหญ่
อาณาเขต
ทิศเหนือ จดเขตคูวัดและที่ธรณีสงฆ์ ทิศใต้ จดเขตคูวัดและที่ธรณีสงฆ์ ทิศตะวันออก จดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตก จดเขตคูวัดและที่ธรณีสงฆ์
ประวัติความเป็นมา
มูลเหตุแห่งการสร้างวัดเริ่มเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) เสด็จเถลิงถวายราชสมบัติในปี พ.ศ. 2367 นั้น พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนีแห่งพระองค์ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลยด้วย ต่อมาทรงพระราชดำริว่าบริเวณป้อมปราการ (ชื่อว่าป้อมทับทิม) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี เป็นนิวาสถานเดิมแห่งพระอัยกา(ตา) พระอัยกี(ยาย) ของพระองค์ และยังเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุลาไลยพระราชชนนีพันปีหลวง สมควรที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงสักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ พระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงแห่งพระองค์ ด้วยเหตุนี้โปรดให้พระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) ตำแหน่งที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น และโปรดให้สร้างป้อมปราการ ก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมมหาราชวังรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดเฉลิมพระเกียรติ เมื่อปี พ.ศ. 2390 วัดเฉลิมพระเกียรติเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นเป็นวัดสุดท้ายในรัชกาลก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2394 การสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติน่าจะยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์ เพราะเมื่อพระองค์ใกล้จะเสด็จสวรรคต พระองค์ก็ยังตรัสถึงวัดต่างๆ ที่ยังสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ค้างไว้ว่า ” …ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็ดี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทะนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดิน มีอยู่ 40,000 ชั่ง ขอสัก 1,000 ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้วให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ช่วยทนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้น เสียให้แล้วด้วย…” เมื่อเป็นเช่นนี้ วัดเฉลิมพระเกียรติที่ยังสร้างค้างอยู่น่าจะเป็นวัดหนึ่งที่พระองค์ทรงห่วงใยด้วย ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติจนเสร็จเรียบร้อย โดยโปรดให้พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) เป็นแม่กองการบูรณะจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2401 วัดเฉลิมพระเกียรติได้รับการคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา ในปี พ.ศ.2531 เป็นวัดอุทยานการศึกษากรมการศาสนา ปี พ.ศ.2538
ทรัพย์สิน
พระอุโบสถ กว้าง 26 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมไทยผสมจีน พื้นพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อน พระวิหาร กว้าง 15 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมไทยผสมจีน ภายในวิหารประดิษฐานพระศิลาขาว ศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมไทยผสมจีน พระไตรปิฎกภาษาไทย จำนวน 45 เล่ม ธรรมาสน์ลายทอง 1 องค์ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลาแดงเหนือแอละศาลาแดงใต้ จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยไม้ทรงไทย กว้าง 8 เมตร ยาว 16.50 เมตร
ปูชนียวัตถุ 1.พุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง ขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก สูง 8 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว พระนาม พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา ตามตำนานกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดแร่ทองแดง ที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ทองแดงจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะใช้ทองแดงเกื้อกูลพระศาสนา จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติและวัดราชนัดดาราม จำนวน 2 องค์ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวน 34 องค์ 2.พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 33 นิ้ว นามว่า พระศิลาขาว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระวิหารเมื่อปี พ.ศ.2401 พร้อมพระอัครสาวก 2 องค์ สูง 13 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปศิลา 3.พระปฏิมาชัยวัฒน์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงทางด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ 4.พระเจดีย์ขาว เป็นเจดีย์ทรงลังกา มีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้น ความสูงขนาด 45 เมตร ประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ภายใน
พระอุโบสถ
พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ มีความกว้าง 26 เมตร ความยาว 40 เมตร ตั้งอยู่ระหว่างศาลาการเปรียญและพระวิหารหลวง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ (รวมทั้งเจดีย์ทางด้านทิศตะวันตกด้วย) ด้านเหนือและด้านใต้ยาวด้านละ 100 เมตร ด้านตะวันออกและตะวันตกยาวด้านละ 45 เมตรด้านละ 100 เมตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาคลังขึ้นไปเป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง กำหนดฤกษ์ก่อสร้างพระอุโบสถในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 11 ตรงกับวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2390 ปีมะแม เวลา 1 โมงเช้ากับ 4 บาท
อุโบสถหลังนี้มีความสวยงามมากสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยปนจีน กล่าวคือ หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาชนิดกาบกล้วยไม่เคลือบสี ถือปูนทับแนวทำเป็นลอนลูกฟูกแบบจีน หน้าบันทั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสดจากประเทศจีน ปั้นและประดับตกแต่งสีให้เป็นรูปใบและดอกพุดตาน (ดอกเบญจมาศ) โตโต เห็นได้ชัดเจนสวยงามมาก ส่วนกระจังฐานพระ ช่อฟ้า ลำยอง ใบระกาและหัวนาค ปั้นทำเป็นหินอ่อน พื้นรอบนอกปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวดินเผา ผนังภายในพระอุโบสถเขียนตกแต่งรายสีชนิดดอกไม้ร่วง บานหน้าต่างและบานประตูเขียนลายทองลดน้ำซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างประดับลายปูนปั้นยกดอก เป็นดอกพุดตาน พื้นประดับกระจก ส่วนด้านในของบานประตูหน้าต่างเขียนรูปกอบัว ดอกบัว นก และสัตว์น้ำฐานพระอุโบสถเป็นฐานสิงห์ก่ออิฐถือปูน บันไดและขั้นบันไดปูด้วยศิลาทรายสีเขียว ชั้นทักษิณ พระอุโบสถทำเป็นฐานปัทม์ก่ออิฐถือปูน ปูกระเบื้องซีเม็นต์ บันไดตรงพนักเชื่องกับเสาทำเป็นเสาประทีปแปดเหลี่ยมแทนเสาเม็ดมุมฐานทักษิณ และช่องกลางฐานทักษิณ ทำเป็นย่อเก็จก่อเป็นเรือนซุ้มเสมากับพนักทักษิณ บันไดชั้นทักษิณทำชั้นด้วยศิลาเขียวกับบันไดขึ้นอุโบสถ
พระวิหารหลวง
พระวิหารหลวงวัดเฉลิมพระเกียรติ มักเรียกกันว่าวิหารพระศิลาขาว อยู่ทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ มีกำแพงแก้วล้อมรอบต่อจากพระอุโบสถอีกชั้นหนึ่ง พระวิหารหลังนี้มีความกว้าง 14 เมตร ยาว 24 เมตร รวมเนื้อที่ทั้งหมด 360 ตารางเมตร วิหารพระศิลาขาวสร้างด้วยอิฐถือปูนเป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถ
พระเจดีย์
พระเจดีย์วัดเฉลิมพระเกียรติเป็นแบบพระเจดีย์แบบลังกาองค์เจดีย์เป็นรูปทรงกลมมีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้น ฐานกว้างทั้งหมด 30 เมตรสูงจากพื้นถึงยอดประมาณ 45 เมตร พระเจดีย์นี้อยู่ทางด้านหลัง (ทิศตะวันตก) ในเขตแนวกำแพงแก้วเดียวกันกับพระอุโบสถตามหลักฐานที่ปรากฏเข้าใจว่าพระเจดีย์องค์นี้สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในพระราชพงศวดาร รัชกาลที่ 4 ว่า “ครั้นสิ้นแผ่นดิน วัดนั้นยังค้าง อยู่บ้างเล็กน้อย จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี จ้างช่างไปเขียนผนัง พระอุโบสถ วิหารการเปรียญและเขียนเพดานประตูหน้าต่าง เขียนเป็นลายรถน้ำมีปราสาทตราแผ่นดินและเขียนเป็นดวงจันทร์เต็มบริบูรณ์ คือ พระชนกชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาไลน์ท่านทรง พระนามว่า เพ็งองค์ 1 จันทร์องค์1 เบื้องต่ำเขียนเป็นเครื่องยศหญิงบาน 1ชายบาน 1 คือ ท่านผู้ได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรี แล้วให้แก้ไขพระเจดีย์เสียใหม่ให้ต้องตามแบบอย่างกรุงเก่า แล้วถวายพระนามประทานว่า พระพุทธไตรรัตนโลกภินันทปฎิมาหรือพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา”
รอบวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร มีป้อมปราการเป็นทำนองเดียวกันกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง แต่เดิมมีป้อมไม้ชื่อ “ป้อมทับทิม” มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นสถานที่พักกองทัพ และประกอบพิธีกรรมในการยกทัพไปตีทางเหนือหลายคราว ในสมัยรัชกาลที่ 4 และการยกทัพไปปราบฮ่อในสมัยรัชกาลที่ 5 จากความสำคัญของป้อมปราการดังกล่าว เทศบาลเมืองบางศรีเมือง จึงนำมาเป็นตราสัญลักษณ์ของเทศบาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เพียงแต่จะมีพระปรีชาสามารถในเรื่องของการค้าขายจนได้รับพระฉายาว่า “เจ้าสัว” พระองค์ยังเป็นกษัตริย์ที่มีจิตใจฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา ในรัชกาลของพระองค์ได้ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลากหลายวัดด้วยกัน โดยวัดที่พระองค์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์นั้นก็จะมีเอกลักษณ์ตรงที่เป็นศิลปะแบบไทยผสมกับจีนซึ่งถือเป็นพระราชนิยมของพระองค์
วัดเฉลิมพระเกียรตินี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ในพื้นที่ซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของพระอัยกา (ตา) พระอัยกี (ยาย) และพระราชมารดาของพระองค์ หรือเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย โดยพระองค์ทรงเห็นว่าควรที่จะสถาปนาสถานที่แห่งนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงสักแห่งหนึ่งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่บุคคลทั้งสามนั้น
แต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นป้อมปราการเก่า ชื่อว่าป้อมทับทิม ใช้ในการสอดส่องป้องกันข้าศึกที่อาจจะรุกล้ำเข้ามาทางแม่น้ำ และเมื่อพระองค์มีพระราชประสงค์ในการสร้างวัด จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) ตำแหน่งที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กองสร้างวัดขึ้น และโปรดให้สร้างป้อมปราการก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมมหาราชวังรอบวัดไว้เป็นอนุสรณ์ พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่าวัดเฉลิมพระเกียรติ เมื่อพระองค์จะเสด็จสวรรคต วัดเฉลิมพระเกียรตินี้ยังสร้างไม่เสร็จดี เพราะเมื่อในเวลานั้นพระองค์ยังได้ตรัสถึงวัดต่างๆ ที่ยังสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ค้างไว้ และขอให้ผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ได้ช่วยทะนุบำรุงวัดที่ชำรุดและวัดที่ยังสร้างค้างอยู่นั้นให้เสร็จเรียบร้อยด้วย ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว พระองค์ก็ทรงรับเป็นพระราชภาระในการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติจนเสร็จเรียบร้อยในเวลาต่อมา
ที่วัดแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถ ที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ตามแบบพระราชนิยม หลังคาพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องรางดินเผาทำเป็นลอนลูกฟูกแบบจีน หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสดจากประเทศจีน ประดับตกแต่งสีให้เป็นใบและดอกพุดตาน
เมื่อเข้าไปด้านในจะได้พบกับ “พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา” พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุดแร่ทองแดง ที่อำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา ได้แร่ทองแดงจำนวนมาก จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานประจำในพระอุโบสถแห่งนี้ นอกจากนี้ บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถยังเขียนลายรดน้ำปิดทอง ตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 3 และรูปกระต่ายภายในวงพระจันทร์เต็มดวง แต่ในตอนนี้อุโบสถกำลังซ่อมแซม อีกไม่นานคงจะแล้วเสร็จและงดงามเหมือนดังเดิม นอกจากพระอุโบสถแล้ว ก็ยังมีอาคารอีกสองหลังสร้างขนาบข้าง และมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกัน ทั้งหน้าบันที่มีศิลปะแบบไทยผสมจีน ต่างกันแต่เพียงขนาดของอาคาร นั่นก็คือพระวิหาร และการเปรียญหลวง ฉันเลือกเดินเข้าไปภายในพระวิหารก่อน เพื่อมากราบ “พระศิลาขาว” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระวิหาร จึงทำให้นิยมเรียกวิหารหลังนี้ว่าวิหารพระศิลาขาว พระองค์นี้ประดิษฐานอยู่ในบุษบกไม้สักลงรักปิดทองประดับกระจก มีลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม ช่วยส่งเสริมให้องค์พระดูโดดเด่น ก่อนจะเดินไปยังการเปรียญหลวง ซึ่งภายในประดิษฐาน “พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์” เป็นพระประธาน จิตรกรรมฝาผนังภายในเขียนสีเป็นลายดอกไม้ร่วงสีอ่อนหวานเหมือนกับในพระวิหาร ส่วนบริเวณด้านหลังพระอุโบสถนั้น มองไปจะเห็นพระเจดีย์องค์สีขาวดูโดดเด่นอยู่เบื้องหลัง เป็นเจดีย์ทรงลังกา องค์เจดีย์เป็นรูปทรงกลมมีฐานแปดเหลี่ยมสองชั้น จากฐานถึงยอดมีความสูงประมาณ 45 เมตร ภายในบรรจุพระบรมธาตุ
นอกจากในเขตพุทธาวาสแล้ว ส่วนของเขตสังฆาวาสก็ยังมีความน่าสนใจ เพราะเป็นหมู่กุฏิทรงไทย จำนวน 16 หลังด้วยกัน ซึ่งสร้างและจัดแผนผังอย่างมีระเบียบ เป็นเรือนไทยภาคกลางทรงมะนิลาใต้ถุนสูง มีความสวยงามบ่งบอกถึงความเป็นศิลปะไทยๆ แต่เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขตสังฆาวาส
ขอขอบคุณ http://thaigoodview.com/