วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. 2375 มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีน” เข้าใจกันว่า จีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ และได้เปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อปี พ.ศ. 2482 ต่อมาได้รับพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2499
วัดไตรมิตรวิทยารามได้มีการจัดสร้างพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราช สมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 โดยได้รับความร่วมมือจากประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนและพุทธศาสนิกชน ปัจจุบันได้เปิดให้นักท่องเที่ยวกับพุทธศาสนิกชนได้เยี่ยมชมพระมหามณฑป และนมัสการพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553
พระมหามณฑปฯ มีความสูงสี่ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่จอดรถ ชั้นสองและสามเป็นพิพิธภัณฑ์ และชั้นสี่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรามาเดินชมสถานที่ต่างๆ ภายในพระมหามณฑปแต่ละชั้นกัน
ชั้นที่สอง ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช
ก่อนเข้าภายในศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช นักท่องเที่ยวต้องถอดรองเท้าและใส่รองเท้าในถุงที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ เมื่อเดินเข้าข้างในก็สัมผัสกับแอร์เย็นฉ่ำ ให้ลงทะเบียนก่อน มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่เคาน์เตอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะบอกให้นั่งรอคิว โดยนักท่องเที่ยวจะสามารถเข้าชมได้ทีละกลุ่ม เนื่องจากต้องชม Multimedia เป็นห้องแรก ซึ่งมีที่นั่งจำกัด เป็นการฉายวีดิทัศน์แบบสามมิติ ซึ่งน่าสนใจมาก เป็นการเล่าประวัติความเป็นมาของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย โดยมีตัวละครคืออากง เล่าประวัติของตัวเอง ให้หลานชายฟัง ตั้งแต่อากงมีแค่เสื่อผืนหมอนใบ แล้วเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย เล่าให้เห็นถึงความอดทน ความมานะ พยายามในการทำมาหากิน จนกระทั่งสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเศรษฐีได้ นักท่องเที่ยวจะไม่รู้สึกเบื่อในขณะนั่งชม ระบบภาพ แสง สี เสียง ทำได้ดีเยี่ยม
ภายในศูนย์แบ่งออกเป็น 6 ส่วน แต่ละส่วนเล่าถึงความเป็นมาของชาวจีนในเยาวราชที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยเมื่อสองร้อยปีก่อน ว่าชาวจีนได้อพยพเข้ามาในเมืองไทยอย่างไร และมีความเป็นอยู่อย่างไร เราจะได้ทำความรู้จักเบื้องต้นกับชุมชนชาวจีนสำเพ็ง – เยาวราช ย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งได้เติบโตขึ้นจากการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ไทยตลอดมา จนกระทั่งสำเพ็งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ในยุคนั้น ชั้นนี้มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เมื่อเดินดูไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นหุ่นจำลองชาวจีน ร้านค้าและบ้านจำลองแบบสมัยก่อน แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของชาวจีนในยุคก่อน ฝีมือช่างปั้นและสร้างแบบจำลองนั้น ทำได้ละเอียด ประณีตมาก นักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินไปกับสาระ ความรู้ จนไม่อยากจะออกจากศูนย์ มีร้านขายของที่ระลึกอยู่บริเวณทางออกด้วย เมื่อเดินออกมาแล้ว ก็ถอดถุงผ้าคืนใส่ตะกร้าให้เรียบร้อย เพื่อให้นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ได้ใช้ต่อไป
ชั้นที่สาม นิทรรศการหลวงพ่อทองคำ “จากพุทธศิลป์สุโขทัย สู่พุทธสมัยปัจจุบัน”
นักท่องเที่ยวสามารถหลบร้อน หนีความแออัดของผู้คนไปยังชั้นสามของพระมหามณฑป ซึ่งจัดนิทรรศการหลวงพ่อทองคำ เป็นห้อง Multimedia Theatre ที่จัดแสดงสื่อผสม แสง เสียง และภาพ Animation ประกอบกับโมเดลวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย เล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มกำเนิดพระพุทธรูปขึ้นในโลก และพัฒนาการมาสู่พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
ชั้นที่สี่ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร “พระพุทธรูปทองคำ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
ชั้นบนสุดนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) ซึ่งมีอายุถึงเจ็ดร้อยปี นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาสักการบูชาพระพุทธรูปทองคำกันเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถอ่านเรื่องราวโดยสังเขปจากศิลาจารึกเกี่ยวกับองค์พระพทธมหาสุวรรณปฏิมากร และการอัญเชิญมาประดิษฐานในพระมหามณฑป เรื่องราวโดยย่อก็คือ การสร้างพระพุทธรูปทองคำนี้มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้ทองคำบริสุทธิ์หล่อพระพุทธรูปขึ้นมา ต่อมาเมื่อพม่ามารุกราน ชาวบ้านได้ช่วยกันโบกปูนทับพระพุทธรูปทองคำเพื่ออำพรางพระพุทธรูปไว้ ทำให้ไม่ทราบว่าองค์พระพุทธรูปนั้นเป็นทองคำ ต่อมามีการอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระยาไกร และวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารในกรุงเทพฯ จากการเคลื่อนย้ายยกองค์พระขึ้นสู่วิหารเมื่อ พ.ศ. 2498 ทำให้ปูนที่พอกอยู่ได้แตกกะเทาะออกมา ทำให้องค์พระทองคำปรากฎให้เห็น
ขอขอบคุณ http://www.teeteawthai.com/