วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น

40_23_4_1

ที่ตั้ง
วัดไชยศรีหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใต้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย
ระยะทาง
ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น 21 กิโลเมตร ดยกาารเดินทางใช้เส้นทางตามถนนมะลิวัลย์ สายขอนแก่น – ชุมแพ ถึง กิโลเมตรที่ 14 แล้วเลี้ยวขวาตามเส้นทางสาวะถี ผ่านบ้านม่วง ระยะทาง 7 กิโลเมตร ก็ถึงวัดไชยศรี
สภาพทั่วไป
วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่มีโบสถ์ (ชาวอีสานเรียกสิม) ที่ก่าแก่มาก อายุกว่าร้อยปีเศษ โดยสิมนี้เดิมหลังคามุงด้วยแผ่นไม้ (เรียกแป้นเกล็ด ทำด้วยไม้เป็นแผ่น ๆ คล้ายกระเบื้องในปัจจุบัน) และมีเอกลักษณ์ คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรม อีสานดั้งเดิม แต่พอถึงปี พ.ศ. 2525 หลังคาได้ทรุดโทรมมาก หน้าฝนน้ำฝนรั่วลงภายในโบสถ์ ชาวบ้านจึงทำการรื้อและทำหลังคาใหม่ ด้วยความเข้าใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตน จึงทำหลังคา เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ส่วนฝาผนัง ทั้งด้านนอกและด้านใน ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง (อีสานเรียก ฮูปแต้ม) ยังเห็นอย่าง เด่นชัดมาก แม้จะผ่านมากกว่าร้อยปีแล้วก็ตามที
ประวัติความเป็นมา
วัดไชยศรี มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 8 ไร่เศษ ตามหลักฐานทราบว่าตั้งวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2408 ส่วนโบสถ์หรือสิมนี้ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่คงสร้างประมาณ ปีพ.ศ. 2443 ได้รับ วิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยมีหลวงปู่อ่อนสา เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้ เป็นผู้ออกแบบและพาญาติโยมสร้างขึ้น
สำหรับลักษณะของโบสถ์นี้ ฐานส่วนล่างและผนังเป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน ช่วงบนเดิมเป็นแบบไม้ทั้งหมด รวามทั้งหลังคาด้วย บานประตูและหน้าต่างแกะสลัก ส่วนภาพฝาผนังเป็นฝีมือช่างเขียนภาพพื้นบ้านชื่อ นายทอง ทิพย์ชา เป็นคนชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยการเขียนภาพนี้ เขียนตามที่หลวงปู่อ่อนสา ท่านกำหนด ให้ผนังด้านในส่วนมาก เป็นภาพอดีตพุทธะมหาเวสสันดร สังข์สินไชย ภาพเทพและภาพสัตว์ต่าง ๆ ผนังด้านนอกเป็นภาพนรก 8 ขุม (หลุม) และวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องสังข์สินไชย ลักษณะเด่นคือ เป็้นการเขียนแบบช่างพื้นบ้านและเขียนด้วยสีฝุ่นซึ่งหามาจากธรรมชาติ

จุดเด่นของสิมหรือโบสถ์หลังนี้คือ
รูปทรงที่เห็นครั้งแรกจะรู้สึกประทับใจในทันที เพราะมีลักษณะมวลทึบ หนักแน่นบึกบึนมีเอกภาพในทรวดทรง ดูเรียบง่าย แต่ทว่า สมบูรณ์ในตัวเอง บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและอุปนิสัยของผู้คนในอดีตของท้องถิ่นได้ชัดเจนที่สุด คือมีชีวิตเรียบง่าย อดทนต่อสู้บากบั่น หนักแน่นมั่นคง มีสัจจะและสมถะในการครองชีวิต นอกจากนี้ยังมีสุนทรีรสที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้รูปทรงของสถาปัตยกรรมอันได้กลั่นกรองแล้ว จนกลายเป็นปฏิมากรรมขึ้นมาชิ้นหนึ่ง
ซึ่งสามารถทำให้ผู้เข้าถึงได้ชื่นชม(ออนซอน) เฉกเช่นศิลปะบริสุทธิ์ทั้งหลาย

การซ่อมแซม
ปี พ.ศ. 2525 ซ่อมหลังคาใหมม่โดยทางวัดและชาวบ้านร่วมกันบูรณะ ปีพ.ศ. 2535 กรมศิลปากรได้จัดงบประมาณซ่อมแซม 400,000.00 บาท เพื่อต่อเติมปีกด้านข้างของโบสถ์ ทั้งสองด้าน เพื่อป้องกันภาพจิตรกรรมฝาผนังจากแดดและฝน
การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสิมวัดไชยศรี(อุโบสถ) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 127 ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544

ขอขอบคุณ https://sites.google.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .