ภูเก็ต… เกาะศักดิ์สิทธิ์แผ่นดินนี้ ทุก ๆ ปี ที่นี่จะมีประเพณีใหญ่ยิ่งระดับที่โลกต้องจดจารอยู่ประเพณีหนึ่ง
คนภูเก็ตเรียกกันว่า ‘ประเพณีถือศีลกินผัก’ หรือ ‘เจียะฉ่าย’ ซึ่งก็คือ ‘เทศกาลกินเจ’ ของคนเชื้อสายจีนทั่วโลกนั่นเอง ปีนี้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระ ในระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 5 ตุลาคมอันยิ่งใหญ่… ท้องทะเลอันงามงด และชายหาดอันเลอค่าของเกาะนี้อาจไร้ความหมายไปโดยปริยาย
เพราะจุดสนใจสูงสุดจะถูกย้ายมาอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต …แน่นอนถนนสายสำคัญ ๆ จะเกลื่อนกล่นไปด้วยผู้คน และนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ ที่นุ่งขาวห่มขาว ธงเหลืองสะบัดพลิ้วปลิวไสว ประทัดสีแดงฉานถูกจุดก้องไกรดารดาษไปทั่วทุกท้องถนน
ประเพณีถือศีลกินผัก มีหลากหลายตำนาน ที่น่าสนใจยิ่งจากประเทศจีน แต่สำหรับเกาะสวรรค์แห่งนี้แล้ว มีหลักฐานว่า เริ่มต้นพิธีครั้งแรกที่อำเภอกะทู้ เมื่อ 184 ปี ที่ผ่านมา
ใน พ.ศ. 2368 มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า …พระยาถลาง ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านเก็ตโฮ่ ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ดีบุก แต่ตอนนั้นยังเป็นป่าทึบ ชุมชุกด้วยไข้มาเลเรีย ต่อมามีคณะงิ้วปั่วฮี่ จากเมืองจีนมาเปิดการแสดง ชาวคณะได้เกิดล้มป่วยลง คณะงิ้วจึงได้ประกอบพิธีกินผักขึ้น เพื่อบวงสรวงเทพเจ้า ‘กิ๋วฮ๋องไต่เต่’ และ ‘ยกอ๋องซ่งเต่’ การณ์ปรากฏว่า โรคภัยไข้เจ็บได้หายไปหมดสิ้น จากนั้นมา ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาสูงสุด จึงประกอบพิธีกินผักขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) รวม 9 วัน 9 คืน มาเป็นประจำทุกปี จนถึงทุกวันนี้
ตลอด 9 วันสำคัญดังกล่าว ทุกคนที่เข้าร่วมพิธี จะต้องงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งน้ำนมและน้ำมัน ที่มาจากสัตว์ รักษาศีลห้า ทำบุญทำทาน รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์แต่งกายสีขาว งดบริโภคผักที่มีกลิ่นแรงทุกชนิด
เย็นวันที่ 17 ตุลาคม ถือว่าเป็นวันสุกดิบ ก่อนเริ่มเทศกาล… ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะเริ่มทำพิธียกเสา ‘โก้เต้ง’ สัญลักษณ์ของเทศกาลการกินผักขึ้น โดยบนยอดเสา จะมีตะเกียง 9 ดวง ประดับไว้เพื่อบูชาเทพเจ้า 9 องค์ ตามความเชื่อตามตำนาน และต้องจุดไว้ตลอด 9 วัน จนกว่าพิธีจะจบสิ้น
ทุก ๆ วันต่อ ๆ มา จะมีขบวนแห่จากม้าทรงและพี่เลี้ยง จัดขบวนออกมาให้ชื่นชม และสักการะ กันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเชิญเทพประทับร่างแล้ว แต่ละองค์จะสำแดงอิทธิฤทธิ์แตกต่างกันไป โดยทุกองค์เน้นที่การทรมานตนเอง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้กับผู้ถือศีลกินผัก ตามความเชื่อว่า ‘กิ้วอ๋องไต่เต่’ (ราชาผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) จะเป็นผู้รับเคราะห์แทน
แต่ละคืน ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะจัดให้มีพิธีการลุยไฟบนกองถ่าน ปีนบันไดมีด …ฯลฯ และพิธี ‘โก๊ยห่าน’ หรือการสะเดาะเคราะห์ด้วยการเดินข้ามสะพาน และจัดพิธีแห่พระส่งกลับสวรรค์ในตอนใกล้เที่ยงคืน โดยการเชิญ ‘หยกอ๋องซ่งเต่’ หรือพระอิศวร ซึ่งถูกอัญเชิญมาเป็นประธาน ในพิธีตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน ให้เสด็จกลับคืนสู่สรวงสวรรค์
งานยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นั้น หลายคนที่ไม่ใช่คนภูเก็ตอาจยังไม่ทราบ… เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น วันที่ 17 ตุลาคม ตามศาลเจ้าต่าง ๆ จะสั่งลาเทศกาลถือศีลกินผักด้วยพิธีกรรมสุดท้าย คือการอันเชิญเสาโกเต้งลง และดับตะเกียงทั้ง 9 ดวง
ตามด้วยพิธีเลี้ยงอาหารแก่บรรดาทหาร ที่เรียกกันว่า ‘โข้กุ้น’ ตามทิศต่าง ๆ ที่ท่านได้เดินทางลงมารักษาการ ทั้งใน และนอกศาลเจ้า ให้กลับไปยังเบื้องบน หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนที่นำพระที่บ้าน มาร่วมพิธีที่ศาลเจ้า จะอัญเชิญพระกลับไปยังบ้านของตนเอง ถือเป็นการเสร็จพิธี เป็นอันสิ้นสุดภารกิจกินเจอันยิ่งใหญ่ในวาระนี้
ที่ร่ายยาวมาทั้งหมด คนภูเก็ตอ่านแล้ว อย่าเพิ่งส่ายหน้าหัวเราะแบบเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ นะครับว่า เรื่องแบบนี้ เรารู้กันมาแต่อ้อนแต่ออกแล้ว
พี่น้องพ้องเพื่อนในจังหวัดอื่น ๆ อาจจะไม่ทราบ ขั้นตอนแห่งวาระอันสำคัญนี้
บางคนอาจจะกำลังตัดสินใจเดินทางมาภูเก็ต เพื่อมาร่วมเทศกาลสำคัญที่ว่า
ลองมาสัมผัสดูสักครั้งสิครับ
รับรองได้ว่า… นี่คือประเพณีเก่ากาลเกือบ 200 ปี อันทรงคุณค่าของชาวภูเก็ต ที่จะดำรงอยู่ในความทรงจำ…และความประทับใจอันงดงามของคุณ ไปจนชั่วชีวิต
ขอขอบคุณ http://www.phuketbulletin.co.th/