อุโบสถวัดพระทอง การเดินทางสู่วัดพระทองนั้นไม่ยากหากเดินทางเข้าภูเก็ตจะต้องผ่านอำเภอถลาง ทางแยกวัดพระทองอยู่ซ้ายมือก่อนเข้าตัวเมืองถลางไม่มาก หรือเข้าทางถนนนาในก็ได้ (เดือนตุลาคม 2553 จะต้องเข้าทางถนนนาในเนื่องจากทางหลักเข้าวัดพระทองปิดซ่อมอยู่ครับคาดว่าจะเสร็จสิ้นเดือนพฤศจิกายน) ถ้าเข้าทางถนนนาในก็จะเห็นสนามเด็กเล่นและลานจอดรถด้านหน้าพระอุโบสถ ปกติพระอุโบสถไม่ได้เปิดให้เข้าชม จะเปิดเฉพาะวิหารพระทองซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของอุโบสถ
อุโบสถวัดพระทอง วัดพระทอง ชาวบ้านเรียกว่าวัดพระผุดหรือวัดพระหล่อ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองคำครึ่งพระองค์ที่โผล่เพียงพระเกตุมาลาขึ้นมาจากพื้นดินประมาณ 1 ศอก โดยมีตำนานเล่าว่า เดิมบริเวณวัดเป็นที่เลี้ยงสัตว์ในเช้าวันหนึ่งมีเด็กชายได้นำควายไปเลี้ยงที่ทุ่งนา หาที่ผูกเชือกควายไม่ได้ก็เลยนำไปผูกกับหลักที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินหลังจากกลับมาถึงบ้านเด็กชายก็มีอาการเจ็บป่วยและตายลงในที่สุด และเมื่อไปดูควายที่ทุ่งนาก็เห็นควายนอนตายอยู่ ตอนกลางคืนพ่อของเด็กชายฝันเห็นถึงสาเหตุที่เด็กตายเพราะได้นำเชือกไปผูกไว้กับพระเกตุมาลาของพระพุทธรูป จึงชักชวนชาวบ้านให้ไปขุดขึ้นมาบูชา แต่เกิดมหัศจรรย์มีตัวต่อแตนขึ้นมากับดินที่ขุดเป็นจำนวนมากอาละวาดไล่ต่อยผู้ที่มาขุด และไม่ทำร้ายคนที่ไม่ขุด เจ้าเมืองทราบจึงให้สร้างหลังคาบังพระเกตุมาลาทองคำไว้
หลายปีต่อมามีชีปะขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลางท่านกลัวจะมีคนตัดพระเกตุไปขาย จึงร่วมกับชาวบ้านช่วยกันเก็บเปลือกหอยมาเผาไฟทำปูนขาวกับทรายโบกปิดทับพระพุทธรูปเอาไว้ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พม่าได้เข้ามาตีภาคใต้ของไทยและยึดเมืองถลางได้ ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับพม่า แต่ไม่สำเร็จ เกิดสิ่งมหัศจรรย์มีมดคันตัวเล็กๆ ขึ้นมากับดินที่ขุดเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าที่ถูกกัดก็เป็นไข้และล้มตายไปหลายร้อยคน พม่าที่เหลือจึงเอาไฟมาเผามด และได้พยายามขุดไปจนถึงพระศอ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ยกทัพมาตีเมืองคืนจากพม่าได้
หลังจากนั้นหลวงพ่อสิงห์เดินทางมาจากเมืองสุโขทัยมาปักกรดที่เมืองถลาง ได้ชักชวนชาวบ้านสร้างกุฏิ วิหารและอุโบสถ หลวงพ่อพระผุดเป็นพระประธานในอุโบสถ แต่ได้ก่อสวมหลวงพ่อพระผุดเฉพาะหน้าเท่านั้นให้สูงกว่าเดิมเพื่อสะดวกแก่กิจกรรมสงฆ์
ขอขอบคุณ http://www.touronthai.com/