ทัศนาพระถ้ำหินย้อยวัดพายัพ อลังการงานสร้าง-โบสถ์หินอ่อน

วัดพายัพ” ถ.ชุมพล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางเมืองนครราชสีมา ทางทิศพายัพของเสาหลักเมือง จึงตั้งชื่อวัดตามทิศว่า “วัดพายัพ”

ภายในวัดแบ่งเป็นเขตพุทธาวาส 2 ไร่, เขตธรรมาวาส 2 ไร่ เขตสังฆาวาส ถนน สนามหญ้า 3 ไร่ เขตที่จัดประโยชน์ให้เช่าอยู่อาศัย 5 ไร่ และปลูกต้นไม้ 3 ไร่ รวมเนื้อที่วัดพายัพ 15 ไร่ 69 ตารางวา

วัดพายัพ เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองนครราชสีมา สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งพระองค์ทรงครองราชย์อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงเลือกสถานที่ในการสร้างเมืองนครราชสีมา จึงให้ช่างฝรั่งเศสเขียนแบบแปลนก่อสร้าง เป็นรูปเหลี่ยม มีคูคลองน้ำรอบกั้นข้าศึก มีกำแพงประตูเมือง 4 มุมเมือง

และได้ทรงสร้างวัดขึ้นภายในกำแพงเมืองจำนวน 6 วัด คือ วัดพระนารายณ์ (วัดกลาง) วัดบึง วัดบูรพ์ วัดอิสาน วัดสระแก้ว และวัดพายัพ

สิ่งก่อสร้างภายในวัดพายัพ มีอุโบสถทรงเรือสำเภา สมัยอยุธยาตอนปลาย 1 หลัง หอไตรทรงไทยไม้สองชั้น 1 หลัง กุฏิทรงไทยไม้ชั้นเดียว 1 หลัง

ยังมีอุโบสถหินอ่อน อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง งบประมาณ 40 ล้านบาท ลักษณะศิลปะทรงเรือสำเภาสมัยอยุธยาที่มุ่งสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นปริศนาธรรมดุจเรือสำเภาขนส่งสรรพสัตว์ข้ามห้วงทะเล คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปให้ถึงฝั่งพระนิพพาน

โบสถ์หลังนี้ สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงสถาปนาสร้างเมืองนครราชสีมา พิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2530 โดยมีนายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน

ส่วนปูชนียวัตถุของวัดพายัพ มีพระพุทธรูปประธานประจำหอสงฆ์ และศาลาหอฉัน หน้าตัก 53 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา จำลองแบบมาจากพระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์สารนาถ ประเทศอินเดีย

และพระพุทธรูปประธานอุโบสถ สูง 3.69 เมตร ปางปฐมเทศนาห้อยพระบาท จำลองแบบมาจากถ้ำอชันตา ประเทศอินเดีย

ใบเสมาหินแกะสลัก เขตสีมาอุโบสถเก่าศิลปะแบบลังกา เนื่องจากกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาจากประเทศลังกา ใบเสมานี้ได้นำไปปักเขตพุทธาวาส

รวมทั้ง หน้าบันอุโบสถเก่า ภาพลายไม้แกะสลัก โดยวัดพายัพได้ทำการรื้ออุโบสถหลังเก่า เนื่องจากชำรุดทรุดโทรม แล้วสร้างอุโบสถใหม่ขึ้นแทนในปัจจุบัน จึงได้นำไปมอบให้ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ภายในวัดพายัพแห่งนี้ ยังมีถ้ำหินงอก หินย้อย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณอายุกว่า 300 ปี จำนวนหลายองค์ด้วยกัน

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2533 พระราชวิมลโมลี เจ้าอาวาสวัดพายัพ ได้ไปหาหินทำลูกนิมิต หินประดับสวนและหินอ่อนปูอุโบสถ แต่กลับไปพบหินงอกหินย้อยที่ชาวบ้านตั้งโชว์หน้า บริเวณบ้านเขาวง ต.หน้าพระลาน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี

สอบถามชาวบ้าน เล่าให้ฟังว่า ได้เก็บหินเหล่านี้มาจากบริเวณระเบิดหินภูเขา ซึ่งรัฐบาลให้สัมปทานแก่บริษัทโรงงานโม่หินผลิตปูนซีเมนต์ โดยพวกคนงานได้เจาะรูฝังระเบิดไดนาไมต์ทำการระเบิดหินที่ภูเขามาเป็นเวลานานหลาย 10 ปี และยังทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อระเบิดเปิดหน้าเขาออก บางครั้งพบโพรงถ้ำ ซึ่งภายในมีหินงอกหินย้อยสีสันสวยงามจำนวนมาก หินเหล่านี้เป็นสมบัติอันล้ำค่าทางธรรมชาติที่หาดูยาก แต่กลับถูกระเบิดทำลายแตกหักเสียหายไปหมด น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ คนงานระเบิดหินแล้วคัดเอาหินไปทำปูนซีเมนต์ ส่วนหินงอกหินย้อยสีต่างๆ ที่ถูกระเบิดออกแตกหักเสียหาย ใช้ทำประโยชน์ไม่ได้ ก็ไถทิ้งลงเหวหรือถมทิ้ง เก็บไว้ก็ไม่มีคนซื้อ

 

หินงอกหินย้อยเหล่านี้ต้องถูกทำลายไป ทั้งที่เป็นหินที่มีความสวยงาม มีรูปร่างสีสันวิจิตรพิสดาร เป็นสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน ควรที่จะเก็บรักษาไว้ แต่ไม่มีใครเห็นคุณค่าเก็บรักษา

ได้ลองสอบถามคนงานว่าหินเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหน คนงานตอบว่า เมื่อระเบิดไปก็เจอเรื่อยๆ แสดงว่ามีหินงอกหินย้อยอีกจำนวนมากที่จะต้องถูกระเบิดทำลายทุกวัน ตราบใดที่ประเทศไทยยังทำปูนซีเมนต์ด้วยหินปูน ภูเขาจะต้องถูกระเบิดต่อไปจนหมด

พระราชวิมลโมลี เล็งเห็นว่า หากมีผู้คิดเอาหินงอกหินย้อยไปสร้างถ้ำขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ น่าจะทำได้ เพราะหินยังมีอยู่มากมาย โดยใช้วัดพายัพเป็นที่เก็บรักษา จึงได้คิดหาวิธีการเก็บรักษาหินงอกหินย้อยไว้ให้คนรุ่นหลังได้มาเที่ยวชม ทัศนศึกษา โดยได้สร้างกุฏิวายุภักษ์ขึ้น และตกแต่งชั้นล่างให้เป็นถ้ำหินงอกหินย้อย

พระราชวิมลโมลี ได้ออกแบบเขียนแปลนและทำการควบคุมการก่อสร้างทุกขั้นตอน คำนวณให้สามารถรับน้ำหนักหินได้ ก่อนเริ่มสะสมขอซื้อหินงอกหินย้อยจากคนงานระเบิดเขา ที่บ้านเขาวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533-2536

จากนั้นนำหินมาคัดแยกกลุ่ม ประเภทสี ล้างทำความสะอาดด้วยโซดาไฟ ใช้สว่านเจาะหินทุกก้อน ใส่กาว ฝังเหล็ก 2-3 หุน ตามขนาดน้ำหนักหิน ใช้คนงานและพระภิกษุ-สามเณร ช่วยกันยกติดตั้งเกาะแขวนห้อย เชื่อมด้วยไฟฟ้า อัดปูนซีเมนต์ แต่งรอยต่อด้วยหินก้อนเล็ก เต็มพื้นที่ สร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.2536 มูลค่า 4,730,000 บาท

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2536 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเยี่ยมชมภายในถ้ำแห่งนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่วัดพายัพ เมืองโคราช

ภายในถ้ำได้เก็บรวบรวมรักษาพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแกะสลักหินทราย สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีอยู่หลายองค์ที่คงสภาพสมบูรณ์ คือ “พระพุทธรูปอุลลุกมณี”

พระพุทธรูปอุลลุกมณี ลักษณะเป็นพระพุทธรูปอินเดียสมัยคุปตะ เนื้อหินทราย ภายในองค์พระจะมีอุลลุกมณีผสมอยู่ทั้งองค์ ด้านพระปฤษฎางค์ถูกคนร้ายเจาะเป็นแผลลึกประมาณ 2 นิ้ว มีแร่อุลลุกมณีอยู่ด้านในองค์พระ แสดงว่าเป็นพระพุทธรูปทำมาจากอินเดียหรือช่างชาวอินเดีย มาช่วยสร้างวัดพายัพและได้สร้างพระพุทธรูปไว้สักการบูชาประจำวัด

ยังมีพระพุทธรูปสมัยทวารวดี เนื้อศิลา ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปสมัยลพบุรี เนื้อศิลาเขียวหรือเนื้อหินเพชร ลงรักปิดทอง นอกจากนี้ มีพระพุทธรูปโบราณศิลปะสมัยต่างๆ อีกหลายองค์ ซึ่งวัดพายัพได้ประดิษฐานไว้ในถ้ำหินงอกหินย้อย เปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชาอธิษฐาน ทำบุญไหว้พระหรือมาถวายสังฆทาน อบรมศีลธรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชา ชนทั่วไป

ถ้ำหินงอกหิน ย้อยวัดพายัพแห่งนี้ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจของชาวโคราชอีกแห่งหนึ่ง สามารถเข้ามาทำบุญไหว้พระ ถวายสังฆทานได้ทุกวัน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่สามารถร่วมทำบุญค่าน้ำ-ไฟ สามารถใส่ตู้รับบริจาคได้ตามกำลังศรัทธา

ผู้ที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชมถ้ำหินย้อยแบบเป็นหมู่คณะ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่พระมหาสถาพร ญาณวุฑโฒ วัดพายัพ ถ.ชุมพล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทรศัพท์ 0-4424-1525, 08-9581-9059

ขอขอบคุณ http://www.oknation.net

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .