วัดสวนแก้ว หมู่ ๑ ตำบลบางเลน เป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมโดยพระพิศาล ธรรมพาที (พระพยอม กัลยาโณ) เป็นพระนักพัฒนา ท่านได้ริเริ่มโครงการต่างๆของมูลนิธิสวนแก้วเพื่อพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคมจนประสบความสำเร็จ เช่น โครงการร่มโพธิ์แก้ว โครงการที่พักคนชรา โครงการซุปเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้ โครงการสวนแก้วเนอร์สเซอรี่ และอีกหลายโครงการ โครงการซุปเปอร์มาร์เก็ตผู้ยากไร้จำหน่ายสินค้าที่มีผู้นำมาบริจาคให้และซ่อมแซม เปิดวันจันทร์-ศุกร์ ๑๐.๐๐-๑๖.๓๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์เปิดเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. วันพุธปิด โทร. ๐ ๒๕๙๕ ๑๙๔๕-๗, ๐ ๒๕๙๕ ๑๔๔๔ โทรสาร ๐ ๒๕๙๕ ๑๒๒๒ หรือ www.suankaew.or.th
การเดินทาง จากสะพานพระนั่งเกล้า ตรงไปสี่แยกไฟแดงที่ ๒ เลี้ยวซ้ายเข้าบางกรวย ประมาณ ๒ กิโลเมตรจะถึงวัด หรือ จากท่าน้ำนนทบุรี ข้ามไปฝั่งท่าน้ำบางศรีเมือง แล้วต่อรถสองแถวไปถึงวัดสวนแก้ว ค่าโดยสาร คนละ ๘ บาท
วัดอัมพวัน สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ วัดบางม่วง สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ หอไตรกลางน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สมบูรณ์ที่สุด ลักษณะเป็นเรือนไม้ยกใต้ถุนสูง ตัวหอมีขนาด ๒ ห้อง ช่วงล่างเป็นลูกฟักกระดานดุน ตอนบนเป็นซี่ลูกกรงไม้ กลึงเสา กรอบประตูเป็นเสาหัวเม็ด ประตูหูช้าง เครื่องลำยองเป็นไม้จำหลัก หลังคาซ้อน ๒ ชั้น มีปีกนก ๑ ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาใต้เชิงชาย หน้าบันประดับไม้สลักลายรดน้ำหน้าบานประตูทางเข้าหอไตรเป็นบานไม้ลงรักปิดทอง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ อกเลาเป็นไม้จำหลักลายดอกพุดตาน ลูกฟัก เหนือประตูเป็นภาพนกข้างละตัว เหนือขึ้นไปเป็นภาพพระอาทิตย์ พระจันทร์ และในห้องสะกัดท้าย หอไตรเป็นที่เก็บพาน ตะลุ่มและฐานพระพุทธรูปไม้จำหลักจำนวนมาก
การเดินทาง
เรือ โดยสารเรือหางยาวจากท่าเรือหน้าที่ว่าการอำเภอบางใหญ่ ใช้เวลาประมาณ ๕ นาที
รถยนต์ ใช้เส้นทางถนนวงแหวนรอบนอกบางบัวทอง-ตลิ่งชัน เลี้ยวแยกซ้ายมือที่ตำบลบางม่วง
วัดอินทร์ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๘ หมู่ที่ ๒ ตำบลเสาธงหิน สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๒๖๓ ชุมชนวัดอินทร์ สมัยโบราณเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เนื่องจากมีวัดในบริเวณแถบนี้หลายวัดแต่ละวัดอยู่ติด ๆ กันเป็นวัดขนาดใหญ่ มีเสนาสนะงดงามแทบทุกวัด อันเป็นเครื่องหมายบ่งบอกฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงของคนโบราณ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูป พระประธานปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทรายแดงฐานชุกชีอ่อนโค้งท้องสำเภา ตกแต่งด้วยผ้าพิมพ์และลายปูนปั้นที่สูงค่ายิ่ง เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้นี้ยังมีร่องรอยการลงรักปิดทองประดับกระจกมาก่อน แสดงให้เห็นว่าเป็นช่างชั้นสูงที่มีฝีมือเป็นเลิศในแถบนี้ อุโบสถหลังเก่าและวิหารเป็นอาคารเครื่องก่อทั้ง ๒ หลัง เดิมหลังคามุงด้วยกระเบื้องเผากาบกล้วยไม่เคลือบสีด้านหน้าด้านหลัง มีหลังคาซ้อน ๒ ตอน หน้าบันเรียบไม่มีลวดลายเหมือนกันทั้ง ๒ หลัง อุโบสถมีประตูเข้า ๑ ประตู
วัดส้มเกลี้ยง ตั้งอยู่เลขที่ ๓๕ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางแม่นาง สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๒๒๓ สมัยอยุธยา ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะต่างๆ อาทิ อุโบสถ ลักษณะทั่วไปเป็นบ้านทรงไทยมีมุขทั้ง ๒ ด้าน มีช่อฟ้า ใบระกา ประตู หน้าต่าง ปิดทอง ลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
วัดพระนอน ตั้งอยู่เลขที่ ๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลบางแม่นาง สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๘ ชาวบ้านถือเอาเหตุผลที่วัดนี้มีพระนอนที่ศักดิ์สิทธิ์มาแต่เดิมจึงได้ขนานนามว่า “วัดพระนอน” มาจนทุกวันนี้ ในปีที่อำเภอบางใหญ่ประสบอุทกภัยบริเวณอนุสรณ์และสถานที่โดยรอบบริเวณวัดจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่เป็นที่น่าสังเกตและมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่บริเวณอุโบสถของวัดพระนอนแห่งนี้ น้ำไม่ไหลท่วมสู่บริเวณอุโบสถแม้แต่ปีที่น้ำท่วมสูงสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕
วัดราษฎร์ประคองธรรม ๖๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลเสาธงหิน เป็นวัดสังกัดมหานิกาย สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๕๖ เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดค้างคาว บริเวณด้านหน้าวัดติดคลองอ้อมนนท์ มีสวนล้อมรอบ ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อพระนอน) และหลวงพ่อโต (ซำปอกง) ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจและเดินทางมาเคารพสักการะอยู่เสมอ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๕๙๕ ๑๔๕๖
การเดินทาง ใช้ถนนรัตนาธิเบศร์ เมื่อข้ามสะพานพระนั่งเกล้า และผ่านสี่แยกท่าอิฐ จะถึงสี่แยกบางพลูให้เลี้ยวซ้ายเข้าวัด นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางเข้าถึงได้จากเส้นทางตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี บริเวณเทศบาลบางม่วงได้อีกทางหนึ่ง
วัดปรางค์หลวง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยของพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้า อู่ทอง) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนต้นประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๔ เดิมชื่อ “วัดหลวง” ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้มาเห็นองค์พระปรางค์ ที่สร้างขึ้นไว้พร้อมกับการสร้างวัด จึงได้เปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดปรางค์หลวง” สำหรับปูชนียวัตถุ มีประธานในอุโบสถ นามว่า “หลวงพ่ออู่ทอง” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตัก ๙ คืบ มีความศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านมาสักระบูชา
วัดท่าบันเทิงธรรม ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลบางใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างอยู่ในราชสกุล “ปราโมช” ชื่อ “คอยท่า” จึงมีชื่อว่า “วัดท่า” ในสมัยนั้น ได้รับการทำนุบำรุงบูรณะพัฒนาให้เจริญขึ้นมาตามลำดับเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นต้นมา จึงได้เพิ่มเติมนามวัดเป็น “วัดท่าบันเทิงธรรม” มีปูชนียวัตถุ คือ รอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสมโภชน์พระและปิดทองเป็นงานประจำทุกปี
วัดพิกุลเงิน สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๔ ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง ต่อมาได้มีคนจีนชื่อ ฮะ ซึ่งเป็นต้นตระกูล “โฑณวนิก” ล่องเรือผ่านมาเห็นสภาพวัดเกิดศรัทธาจึงบริจาคทรัพย์สินส่วนตัว สร้างอุโบสถขึ้นในราวพ.ศ. ๒๕๒๑ ต่อมาประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า “วัดพิกุล” วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพุทธโสธร” จำลององค์แรกของประเทศไทย
วัดสะแก สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ ๒๐๓๕ เดิมชื่อ “วัดกลางคลอง” ตั้งชื่อตามลักษณะที่ตั้งของวัด ไม่ปรากฏประวัติผู้สร้าง พระประธานเป็นปางสมาธิสมัยอยุธยา เนื้อหินทราย นามว่า “หลวงพ่อพุทธมหามงคล” โบสถ์ก่อสร้างด้วยหินอ่อน บานประตู หน้าต่างเป็นไม้สักแกะสลักตัวนูน ชาวบ้านนิยมศรัทธา “พระผงรูปเหมือนพระครูสินิทนนทคุณ” ด้านหลังเป็นยันต์ นะคงคา
วัดคงคา สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๐ ไม่ปรากฎหลักฐานที่สร้างวัดชาวบ้านเรียกว่า “วัดโคก” เนื่องจากบริเวณวัดบางตอนเป็นที่เนินสูงแต่ที่ได้นามว่า “วัดคงคา” เนื่องจากอยู่ริมคลองลัดและคลองบางใหญ่ พระประธานในอุโบสถคือ หลวงพ่อศิลาแดง (แลง) ทรงนาง เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ปิดทองคำเปลว แบบสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
วัดพระเงิน ตั้งอยู่เลขที่ ๒๓ หมู่ ๘ ตำบลบางแม่นาง สร้างเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๓๖๔ ผู้ริเริ่มสร้างคือ พระอาจารย์เสือ เป็นที่ตั้งของหอไตรอายุประมาณ ๑๐๐ ปี เป็นอาคารไม้ ตัวหอขนาด ๒ ห้อง ตั้งบนคานและเสาคอนกรีตเสริมเหล็กปักอยู่ในสระน้ำ ตัวหอไตรมีเฉลียงรอบ หลังคาเป็นชั้นซ้อน ๒ ชั้น ประดับเครื่องลำยอง ไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกหน้าบันเป็นไม้กระดานเรียบ สภาพปัจจุบันไม้ผุพังไปมากพอสมควร
วัดเสาธงหิน ตั้งอยู่เลขที่ ๓๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลเสาธงหิน เดิมชื่อวัดสัก ในสมัยอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรวบรวมไพร่พลมาตั้งทัพบริเวณวัดและปักธงไว้กับกองหินเพื่อให้ทหารมองเห็นได้แต่ไกล และโปรดให้สร้างพระพุทธรูปเนื้อชินเงิน ๓ องค์ คือ ประธาน ๑ องค์ พระสาวก ๒ องค์ ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสงครามได้กลับมาบูรณะวัดอีกครั้งหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเสาธงหิน มาตราบจนทุกวันนี้ชาวบ้านเล่าว่าครั้งหนึ่งน้ำเค็มขึ้นถึงจังหวัดนนทบุรี แต่หน้าวัดเสาธงหิน เป็นน้ำจืด ชาวบ้านโจษขานกันไปทั่วและพากันไปตักดื่มกิน นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวแล้ว หลวงพ่อโต พระประธานอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก
วัดยุคันธราวาส ตั้งอยู่เลขที่ ๒๒ หมู่ ๗ บ้านสวนเจ้า ตำบลบางเลน เดิมชื่อ “วัดยุคนธร” สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๐ โดยสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทว) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกำลที่ ๔) ได้โปรดสร้างวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามขึ้นที่กรุงเทพมหานคร และเนื่องจากมีวัสดุต่างๆเหลือจากการก่อสร้างจำนวนหนึ่งจึงได้นำมาสร้างวัดยุคันธราวาส ภายในวัดมี “พระแท่นที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
วัดต้นเชือก ตั้งอยู่เลขที่ ๘ หมู่ ๔ ตำบลบ้านใหญ่ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๒๔ แต่เพิ่งจะมาพัฒนาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๐ วิหารเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อวิหาร” พระประธาน สร้างในสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านในตำบลบ้านใหม่และตำบลใกล้เคียงต่างพากันมาสักการะทำบุญเป็นจำนวนมาก
ถนนสายดอกไม้ อำเภอบางใหญ่ มีการส่งเสริมการปลูกดอกไม้ประดับจนทำให้ถนนกาญจนาภิเษกที่อยู่ในพื้นที่อำเภอบางใหญ่ได้ชื่อว่าเป็น “ถนนสายดอกไม้” เนื่องจากทั้งสองข้างทางมีเหล่าพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด สะพรั่งด้วยสีสันเสมือนหนึ่งเชิญชวนผู้พบเห็นให้แวะชื่นชมและเลือกซื้อ ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี อำเภอบางใหญ่ได้จัดงาน “อเมซิ่งบางใหญ่ ถนนสายดอกไม้” ณ บริเวณห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ ที่ว่าการอำเภอบางใหญ่เพื่อให้เกษตรกรนำไม้ดอกไม้ประดับมาจำหน่ายโดยตรงในราคาถูกพิเศษ ให้ผู้ที่สนใจเลือกซื้อเพื่อไปมอบให้ญาติมิตรในเทศกาลปีใหม่ หรือในโอกาสสำคัญอื่น ๆ
ขอขอบคุณ http://www.tamdoo.com/