ชาวบ้านเรียกว่าวัดสูงที่ตั้งวัดตั้งอยู่บนเนินสูงโบสถ์และเจดีย์ก็ตั้งอยู่บนฐานสูงมองดูโดดเด่น เมื่อมองจากทุกทิศทางและมองจากริมกว๊านพะเยา มาถึงวัดศรีอุโมงค์คำ “มานมัสการพระเจ้าล้านตื้อและพระเจ้าแข้งคม”
พระเจ้าล้านตื้อ หรือ พระเจ้าแสนแซ่ หรือ หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยผสมศิลปะพะเยา ปิดทองทั้งองค์ ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่งดงามแห่งล้านนา ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในโบสถ์คู่กับพระเจ้าแข้งคม คำว่า “ตื้อ” เป็นหน่วยการนับของล้านนาดังนี้ หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ ตื้อ
พระเจ้าแข้งคมเป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๓ เมตร สูง ๑.๙ เมตร บริเวณหน้าแข้งมีลักษณะเป็นเหลี่ยม แตกต่างจากพระพุทธรูปโดยทั่วไป สัณนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระยายุทธิษฐิระ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่
พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างพระเจ้าแข้งคมประดิษฐานในวัดศรีเกิด จ.เชียงใหม่ พระยายุทธิษฐิระจึงนำแบบอย่างมาสร้างประดิษฐานขึ้นที่พะเยา แตกต่างกันที่วัสดุที่พะเยาเป็นพระพุทธรูปหินทราย ส่วนทางเชียงใหม่เป็นพระพุทธรูปสำริด
เจดีย์เป็นศิลปะเชียงแสนสีทองอร่าม อยู่ด้านหลังโบสถ์ มีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยมย่อมุม บนเรือนธาตุมีซุ้ม จระนำทั้งสี่ทิศ สูงขึ้นเป็นองค์ระฆังกลม บัลลังก์ ปล้องไฉนและปลียอด
พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย หน้าตัก ๒ เมตร ประดิษฐานในวิหารหลังเสาที่ตั้งอยู่ติดกับอาคารเรียนของ ร.ร. พินิตประสาธน์ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ขอพรสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นอย่างรวดเร็วทันใจ
ภายในศาลายังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งคือ พระเจ้ากว๊าน เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑ เมตร ขุดพบในเจดีย์โบราณกลางกว๊านพะเยา โดยวัดตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา จากสี่แยกประตูชัย ใช้ถนนประตูชัยตรงเข้าถนนดอนสนาม แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า ถ.พหลโยธิน (สายเก่า) ตรงไปประมาณ ๓๐๐ เมตร วัดอยู่ขวามือ
ขอขอบคุณ http://travel.thaiza.com/