ถ้าไม่ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ ฉันคงมีสิ่งค้างคาใจอีกเรื่องหนึ่ง อย่ากระนั้นเลย มีคำกล่าวว่า “การผัดวันประกันพรุ่ง เป็นการขโมยเวลา” เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากให้เวลาสูญหายไปโดยเปล่าประโยชน์ ต้องรีบเขียนเสียก่อนที่จะหมดไฟ เหมือนตอนไปปฏิบัติธรรมที่ธรรมาศรมธรรมมาตา ตอนแรกกะจะเขียนละเอียดยิบว่าระหว่างปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไรบ้าง ฉันเขียนได้แค่การเดินทางแล้วก็สรุปจบ ไม่ได้รายละเอียดของบรรยากาศจริง ๆ ระหว่างถือศีลแปดอยู่ที่นั่นเลย
หนนี้ฉันไปวัดอัมพวัน (วัดอัมพวันเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ ในชื่อวัดของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม) ซึ่งเป็นวัดที่ฉันไม่นึกอยากจะไปมาก่อน เพราะทราบมาว่ามีผู้ไปปฏิบัติธรรมเยอะมาก ฉันไม่ชอบสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านไม่ว่าจะเป็นที่ใด แต่ด้วยความอยากหลีกหนีจากบ้านที่อาศัยอยู่ชั่วคราว ฉันเลยต้องตัดสินใจอย่างกะทันหัน ดูจากเว็บไซต์ของวัดแล้ว แทบไม่ต้องเอาอะไรไปเลย นอกจากของใช้ส่วนตัวจริง ๆ เพราะมีชุดขาวให้ยืมใส่ปฏิบัติด้วย ทั้งยังไม่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเหมือนสถานปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ที่วัดอัมพวันแม้จะมีกำหนดว่าหากต้องการปฏิบัติธรรมแค่ 3 วัน ก็ไปวันศุกร์กลับวันอาทิตย์ หากต้องการปฏิบัติธรรม 7 วัน ให้ไปวันโกน แล้วลาศีลวันโกนถัดมา แต่เอาเข้าจริง ๆ ฉันเห็นไปวันไหนก็ได้ เพราะเวลาเข้าคอร์สปฏิบัติ ก็จะเหมือน ๆ กันอยู่แล้ว คือ เดินจงกรม กับนั่งสมาธิ
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
ออกจากบ้านช่วงปลายเดือนที่แล้ว ในชุดเสื้อยืด กางเกงวอร์มตัดขาเป็นสี่ส่วน (กางเกงสแล็คธรรมดาที่เคยใส่ได้ คับหมดทุกตัว ด้วยน้ำหนักที่ขึ้นมาถึง 5 กิโลในเวลาเพียง 2 เดือน) รองเท้าฟองน้ำ สะพายเป้ใบเล็ก ใส่เฉพาะของที่จำเป็น เพราะไม่ต้องใช้โลชั่น หรือแป้งทาหน้า ไม่มีเสื้อผ้าเป็นชุดไปเพื่อเปลี่ยนกลับ เพราะกะจะใส่ชุดเดิมนี่แหละ การเดินทางลักษณะนี้ ฉันชอบ เพราะรู้สึกเบาสบาย (ไม่ต้องลากกระเป๋าเดินทางใบโต ลืมผ้าเช็ดตัว ฉันก็ใช้ผ้าถุงส่วนที่อยู่ด้านในนั่นแหละเช็ด) ตีตั๋วรถ บขส. จากหมอชิต ไปกลับ 150 บาท ถ้าเที่ยวเดียว 95 บาท ถูกกว่ากันมากเลย ยังไง ฉันก็ต้องกลับภายใน 7 วันตามที่ตั๋วกำหนดอยู่แล้ว ซึ่งฉันว่า ฉันคิดถูกแล้วที่ตีตั๋วไปกลับ เจอรุ่นน้องที่มาปฏิบัติธรรมรุ่นเดียวกัน เธอมารถตู้ ขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เที่ยวเดียว 140 บาท ซึ่งเธอบอกว่าสะดวก บ้านอยู่บางนา ขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีแบริ่งลงที่สถานีอนุสาวรีย์ขึ้นรถตู้เข้ามาส่งถึงในวัดเลย แต่ฉันนั่งรถทัวร์สะดวกกว่า เพราะขึ้นรถเมล์สาย 145 วิ่งสุดสายหมอชิตพอดีเหมือนกัน ประหยัดกว่าด้วย อาจจะช้ากว่ารถตู้ แต่ไม่มีอะไรต้องเร่งรีบนี่นา ชีวิตนี้ เคยเร่งรีบทำงานแข่งกับเวลามามากพอแล้วในอดีต ฉันเข้าใจว่า คนรุ่นใหม่เคยชินกับการเร่งรีบและความสะดวกรวดเร็วเสียแล้ว เพราะฉะนั้น แม้ในสถานการณ์ที่ไม่มีความจำเป็นต้องรีบ ก็ยังต้องการความรวดเร็วอยู่ดี
รถวิ่งประมาณสองชั่วโมง ก็ถึงเป้าหมาย ฉันลงรถที่ถนนใหญ่ มีวินมอเตอร์ไซค์หน้าปากทางเข้าวัด แต่ฉันอ่านในเว็บแล้วว่า เดินเข้าไปก็ได้ เพราะระยะทางไม่ถึงกิโลเมตร คิดว่าเดินเข้าไปดีกว่า โดยแวะซื้อขันน้ำที่ร้านหน้าปากทางก่อน (ซึ่งตอนหลังฉันจึงรู้ว่าไม่จำเป็นต้องซื้อเลย ขันที่วัดก็มีให้ยืมเหมือนกัน และถึงไม่มีให้ยืมก็ไม่ต้องใช้ เพราะอาบน้ำกับฝักบัว คราวหน้า ฉันตั้งใจจะหาแก้วพลาสติกมาไว้ใช้รองน้ำแปรงฟันน่าจะสะดวกกว่าใช้ขัน) ก่อนจะเดินเท้าเข้าไป แดดยามบ่ายดูเหมือนจะร้อนแรง แต่ฉันกลับไม่รู้สึกร้อนเท่าไหร่ เดินได้ไม่นานก็เห็นธงเหลืองกับธงชาติติดอยู่สองข้างสะพานเป็นสัญญาณว่ามาถึงหน้าวัดแล้ว ที่หน้าบริเวณหน้าวัดค่อนข้างกว้าง มีลานจอดรถและร้านขายของบริโภคทั้งของสดของแห้ง มีร้านอาหารที่ปลูกเพิงเหมือนตลาดสดตามต่างจังหวัดด้วย พอย่างเข้าไปในเขตวัดจริง ๆ ระหว่างทางเดินช่วงสั้น ๆ มีพ่อค้าแม่ค้าล็อตเตอรี่รวมทั้งขอทานนั่งอยู่สองฟากฝั่ง ทั้งที่มีป้ายใหญ่มากติดอยู่ว่าห้ามขายของบนถนนนี้ เห็นแล้ว ฉันก็อึ้งทึ่งตะลึงอยู่ในใจ
พอหลุดเข้าไปข้างใน ยิ่งอึ้งมากกว่า เพราะมีแผงลอยตั้งอยู่สองฝั่งทางเดินแคบ ๆ ขายขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม น้ำขวด ขายเสื้อผ้าชุดขาว สะไบ ย่าม ฯลฯ แถวหน้าโรงอาหาร ซึ่งตอนเช้ามืด มีกาแฟร้อนบริการด้วย จัดเป็นชุดเหมือนในเซเว่นเลยทีเดียว 10 บาท (ขาดแต่ปาท่องโก๋ มีแต่ขนมปัง) มีอาหารถุง อาหารกล่องโฟมขายด้วย เพราะอาหารเช้าที่วัดจัดให้ เป็นข้าวต้มเครื่อง บางคนไม่ชอบก็ซื้อกิน แสนสะดวกทุกอย่างจริง ๆ แต่ฉันเห็นว่าวุ่นวาย ไม่เหมือนอยู่ในวัด เหมือนตลาดมากกว่า ฉันนึกว่า นี่เป็นการให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าที่ขายหาเงินเข้าวัด มารู้ว่า แผงลอยพวกนี้ ตั้งขายโดยไม่เสียค่าเช่าที่ และไม่ได้ให้เงินบำรุงวัด พระอาจารย์รูปหนึ่งขอร้องว่าอย่าอุดหนุน ท่านบอกท่านไม่สนับสนุน พูดแบบนี้มาตลอด จนถูกอาฆาตมาดร้าย แต่ฉันก็ยังเห็นผู้ไปปฏิบัติธรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก็ยังซื้อกันเอิกเกริก ฉันแปลกใจว่า ทำไมวัดให้ตั้งขายได้ เกะกะด้วย ไม่เจริญตาเลย กระทั่ง 2-3 วันต่อมา ฉันจึงได้รู้ว่า ทำไม ร้านพวกนี้ตั้งขายอยู่ได้ เพราะแม่ค้าเป็นคนทำงานให้วัดนั่นเอง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
พูดถึงเรื่องกาแฟ หากใครไม่ได้ดื่มตอนเช้ามืด ช่วงกลางวัน มีร้านของวัดที่ขายโดยอุบาสิกา ถูกกว่าช่วงเช้ามืดอีก เพราะขอรับเป็นเงินบริจาคแค่ 5 บาท มีไมโลซองด้วย 10 บาท แถมมีแก้วกาแฟที่ไม่ใช่แก้วกระดาษ มีที่ให้นั่งดื่มเป็นกิจลักษณะด้วย อยู่บริเวณเดียวกับที่ลงทะเบียน เบิกเสื้อผ้า และร้านขายหนังสือนั่นแหละ
ขั้นตอนการลงทะเบียนนั้น ใช้แค่บัตรประชาชน แล้วจะได้บัตรประจำตัวมาติดหน้าอก ซึ่งมีสีต่างกันตามแต่ระยะเวลาการกำหนดปฏิบัติธรรมของแต่ละคน ฉันระบุเวลา 3 วัน ได้บัตรสีชมพู จากนั้นเบิกชุดขาว เบิกย่ามสะพาย (ใบเล็กกะทัดรัดกำลังดี) มีเข็ดขัดให้ด้วย วางในเข่งตรงหน้าช่องเบิกชุดขาวนั่นเอง แต่ฉันตาเซ่อมาก มองไม่เห็น เป็นเช่นนี้เสมอแหละฉัน ไม่ค่อยสังเกตอะไรรอบข้างเลย (เรื่องความช่างสังเกตนี่เป็นคุณสมบัติลำดับต้น ๆ ของคนเขียนหนังสือเลยทีเดียว แต่ฉันก็ไม่มี ไม่รู้เขียนหนังสือได้อย่างไรเหมือนกัน แถมไม่ขยันเขียนอีกต่างหาก) ต่อจากนั้น นำของไปเก็บในห้องพัก ซึ่งเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงโล่งอเนกประสงค์ (มั้ง) พวกเราพักข้างบน มีหมายเลขตอนลงทะเบียนเป็นตัวบอกว่าที่นอนเราอยู่ตรงไหน เฉพาะห้องนี้ น่าจะร่วมร้อยคนได้ เปลี่ยนชุดขาวแล้วลงมากินข้าวที่โรงทาน (ความจริงต้องกินก่อนค่อยเปลี่ยน แต่ฉันไม่รู้) อาหารเจมี แกงส้ม จับฉ่าย แกงจืดมะระ ข้าวสวย แต่ละหม้อใหญ่มาก แกงส้มอร่อยมาก สมเป็นแกงส้ม ไม่หวานเหมือนที่เคยซื้อกิน ฉันกินไปก็อดนึกถึงคนเร่ร่อนจรจัดไร้ที่อยู่ที่กินไม่ได้ เพราะที่วัดมีทั้งข้าวและกับอย่างเหลือเฟือทีเดียว
พอสี่โมงเย็นก็ไปพร้อมกันที่อาคารใหญ่สำหรับฝึกปฏิบัติ คนเยอะมาก ผู้ปฏิบัติเป็นหญิงมากกว่าชายหลายเท่า และเท่าที่เห็น คนหนุ่มสาวจะมากกว่าทุกวัย มีวัยรุ่นบ้าง เห็นเด็กผู้ชายน่าจะเรียนประถมปลายอยู่ 2 คน คงจะมากับผู้ปกครอง ส่วนวัยผู้ใหญ่อายุ 50 ขึ้นไปก็มีแต่ไม่มาก ฉันเข้าใจว่า เพราะที่นี่ฝึกปฏิบัติโดยการให้นั่งขัดสมาธิบนพื้นเพียงอย่างเดียว จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องเข่า เนื่องจากบางแห่งอนุโลมให้นั่งทำสมาธิบนเก้าอี้ได้ มีอุบาสิกาชี้แจงรายละเอียดระหว่างรอท่านพระครูอุปัชฌาจารย์มาทำพิธีบวชเนกขัมมะให้ ท่านพระครูรูปร่างสูงใหญ่ พูดสำเนียงไทยไม่ชัด ตอนแรกฉันนึกว่าเป็นคนญี่ปุ่น ที่แท้เป็นคนจีน ท่านเล่าว่า สมัยอยู่เมืองจีนเป็นนักกีฬา แข็งแรงมาก อยู่ ๆ ก็มีอาการปวดหลัง ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ภายหลังมาบวชที่วัดนี้ได้อย่างไร ฉันจำไม่ได้ จำได้แต่ว่า ท่านบวชแล้วกลับไปเยี่ยมญาติโยมที่เมืองจีน มีแต่คนอยากให้สึก เพราะเสียดายว่าอนาคตท่านอาจไปได้ไกลกว่านี้ แต่ฉันว่า ทางธรรมสงบกว่าทางโลกเยอะเลย ไม่มีอะไรต้องเครียด ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ไม่ต้องไปพะวงถึงอนาคต หรือต้องรื้อฟื้นอดีตมาพูดให้จิตตกเหมือนทางโลก
วันแรกไม่มีอะไรมาก ท่านพระครูแนะนำมาฝึกหายใจเพื่อทำสมาธิและการเดินจงกรม ที่นี่เน้นการภาวนายุบหนอ พองหนอ คือหายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ ฉันเคยฝึกโยคะมาบ้างแล้ว หลักการหายใจแบบเดียวกัน เลยไม่ต้องปรับตัวมาก ถึงเวลา 3 ทุ่มกลับเข้าที่พัก เพื่อพักผ่อน ฉันเป็นคนนอนหลับยากอยู่แล้ว ประกอบกับปวดขามาก เพราะจะบริหารขาแบบที่เคยทำตอนตื่นนอนที่บ้านก็ไม่ได้ เนื่องจากนอนรวมกับคนอื่นและเนื้อที่จำกัด เลยนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ จนตี 3 จึงลุกขึ้นมาอาบน้ำ เพื่อเตรียมทำวัตรเช้าแล้วฝึกปฏิบัติธรรม ระหว่างรอเวลา ฉันเลยจับไม้กวาดมากวาดใบไม้ที่ร่วงเต็มลานหน้าเรือนพักกับเพื่อนร่วมปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง รู้สึกอิ่มเอมใจที่มีโอกาสได้ทำงานให้วัดแม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลย (ตอนย้ายห้องพักมาที่ใหม่ ฉันกับน้องอีกสองคนก็ช่วยกันเก็บกวาดห้องพักเดิม เพื่อรุ่นใหม่มาเข้าพักจะได้ไม่ต้องมาเก็บกวาดอีก ถ้าเป็นเมื่อก่อน ฉันคงทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ เพราะจิตใจยัง “ขุ่นมัว” อยู่มาก)
เสร็จจากการกวาดลานวัดก็เดินไปอาคารภาวนา 1 เพื่อเตรียมทำวัตรเช้าและฝึกปฏิบัติ พระอาจารย์จะเริ่มนำพิธีสวดมนต์ตอน 04.00 น. ประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงเป็นการฝึกเดินจงกรมและนั่งสมาธิครั้งละ 30 นาที จนถึง 06.30 น. หยุดพักรับประทานอาหารเช้า เป็นข้าวต้มเครื่อง (แต่ไม่มีเครื่องปรุงนะ) บางคนไม่ชอบหรือกินไม่อิ่มก็ไปซื้อกินจากแผงลอยหน้าโรงอาหารนั่นเอง อย่างที่เล่าไว้แล้วข้างต้น
พอแปดโมงเช้าก็ฝึกอีกจนถึง 11.00 น. แล้วพักรับประทานอาหารกลางวัน หรือฉันเพลนั่นแหละ พัก 2 ชั่วโมง บ่ายโมงฝึกจนถึง 16.00 น. ได้รับแจกน้ำปานะเป็นนมถั่วเหลืองแล็คตาซอยคนละกล่อง เสร็จแล้ว แยกย้ายกันไปอาบน้ำหรือพักผ่อนกันตามอัธยาศัย เวลา 18.00 น.มาฝึกรอบสุดท้ายของวัน จนถึง 3 ทุ่ม จบไปอีกหนึ่งวัน
การฝึกปฏิบัติ จะเพิ่มเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ หมายถึงว่า วันต่อ ๆ มา พระอาจารย์จะคุยหรือเทศน์สั่งสอนน้อยลง บางวันหากมีคนเขียนถามปัญหามาใส่ไว้ในกล่อง ท่านก็จะตอบคำถามนั้นก่อนโดยสรุป เพื่อเพิ่มเวลาการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิมากขึ้นตามลำดับ จากครั้งละ 30 นาทีเป็น 45 นาที 50 นาที จนถึงหนึ่งชั่วโมง วันท้าย ๆ ที่ฉันอยู่ นั่งจนถึงชั่วโมงครึ่ง มีอยู่ครั้งหนึ่งนานมาก ปวดขาจนเหมือนจะหลุด เหงื่อแตกพลั่ก ต้องคอยระลึกถึงพระพุทธองค์ขณะนั่งสมาธิหาทางช่วยชาวโลกให้พ้นทุกข์ ต้องทนทุกขเวทนามากเกินกว่าจะประมาณได้ บางทีก็นึกถึงแม่ฉันที่เคยป่วยเข้าโรงพยาบาลและผ่าขาเพราะกระดูกหัก ซึ่งแม่ต้องปวดมาก จึงพอทำให้ตัวเองรู้สึกเบาลง ฉันสงสัยว่าพระอาจารย์ให้นั่งถึง 2 ชั่วโมงหรือเปล่านะ เพราะหลัง ๆ ท่านไม่ได้บอกเวลา แต่ฉันรู้สึกว่าเวลามันนานกว่าปกติมาก มันทำให้ฉันรู้ว่า ขีดความอดทนของคนเรานั้นไม่มีที่สิ้นสุด หากใจเรามุ่งมั่น
การได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดอันพวันในครั้งนี้ ทำให้ฉันรู้ว่าตัวเองอดทนต่อทุกขเวทนาได้มากแค่ไหน คนส่วนใหญ่นั่งสมาธิแบบขวาทับซ้าย ซึ่งเป็นท่าพื้นฐาน ฉันนั่งสมาธิเพชรซึ่งยากกว่า นี่เป็นอานิสงส์จากการฝึกโยคะอีกนั่นแหละ ประกอบกับตอนไปฝึกกรรมฐานครั้งแรกที่ธรรมาศรมธรรมมาตา ที่นั่นก็ให้นั่งสมาธิเพชรเหมือนกัน แต่ผ่อนปรนให้เปลี่ยนอริยาบถได้ ฉันก็อดทนไม่เคยเปลี่ยนเลย ครั้งนั้นนั่งได้นานที่สุดหนึ่งชั่วโมง พระอาจารย์ของที่นี่ไม่ให้เปลี่ยน นั่งท่าไหนก็ท่านั้น แน่นอนว่าการที่ขัดสมาธิขาไขว้กันไว้เป็นชั่วโมง โดยไม่เปลี่ยนอริยาบถ มันปวดเมื่อยและทรมานมาก ฉันจึงระลึกได้ว่า นี่เป็นเสมือนการชดใช้กรรมอย่างหนึ่งนั่นเอง ระหว่างนั่งสมาธิ ทำให้เราได้ทบทวนการประพฤติปฏิบัติตัวในอดีตของเรา ฉันเห็นความผิดบาปใหญ่หลวงของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ครั้งหนึ่ง ฉันเกือบจะปล่อยโฮออกมาระหว่างนั่งสมาธิ ต้องกลั้นไว้สุดความสามารถ ปรากฏว่า นอกจากน้ำตาไหลแล้ว ยังมีทั้งน้ำมูก น้ำลายไหลออกมาด้วย ฉันไม่รู้ว่า นี่เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่สนองตอบต่อสภาวะอารมณ์ภายในที่ต้องการระบายออกมาหรือเปล่า เพราะที่ไหลออกมาล้วนเป็นสิ่งที่ถือได้ว่าสกปรกน่ารังเกียจสำหรับผู้อื่นทั้งสิ้น
ฉันพอใจในระดับหนึ่งกับฝึกปฏิบัติธรรมครั้งนี้ แม้การนั่งสมาธิของฉันค่อนข้างกระพร่องกระแพร่ง เพราะจิตแวบไปแวบมาเสมอ ฉันคิดว่าปุถุชนที่ทำสมาธิส่วนใหญ่ ก็คงมีอาการไม่ต่างกัน ผู้ที่สามารถทำสมาธิให้ดำดิ่งลงจนหลุดจากสภาวะจิตที่เกิดดับเป็นปกติ น่าจะเป็นคนฝึกปฏิบัติสม่ำเสมอจนอยู่ตัว จิตแข็งแรงพอที่จะทำสมาธิได้ทุกที โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมอย่างสถานที่ปฏิบัติธรรมมาช่วยเสริม นั่นหมายถึงว่า สามารถนั่งทำสมาธิคนเดียวอยู่ที่บ้านได้จริง ๆ
มีอย่างหนึ่งที่ฉันชื่นชอบมาก นั่นคือ หลังจากนั่งสมาธิ มีการกล่าวคำถวายกุศลแก่หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม และพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เทวดา เปรต เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะทำให้ฉันตระหนักว่า การอดทนต่อเวทนาทำให้เกิดผลบุญกุศลแก่กล้า ซึ่งไม่ใช่ผลดีเฉพาะตัวเรา แต่ยังมีต่อสรรพสิ่งรอบด้านที่เกี่ยวข้องในชีวิตเราอีกด้วย
คนมาปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ มีเป็นพัน ๆ คนต่อวัน ยิ่งช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว ได้ยินว่า แน่นวัดเลยทีเดียว ถ้าการจัดการไม่เป็นระบบ คงวุ่นวายยุ่งเหยิงน่าดู แต่ที่นี่ การจัดการบริหารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้มาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ทำได้ค่อนข้างเรียบร้อย ห้องน้ำสะอาดพอใช้ และมีเพียงพอต่อการให้บริการ
ตอนแรกฉันตั้งใจจะอยู่ถึงแค่วันอาทิตย์ตามที่วัดกำหนด แต่ฉันก็ลากยาวมาถึงวันอังคาร ลาศีลพร้อมกับบางรุ่นที่เขาอยู่มาก่อนแล้ว ใจนั้นอยากอยู่ต่ออีก เพราะอยู่นานเท่าใดก็ได้ แต่มีเหตุให้ฉันต้องกลับมาก่อน คิดว่า คงไปอีกครั้ง คราวนี้อาจจะอยู่ 7 วัน แล้วก็มองหาที่อื่นด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าสถานปฏิบัติธรรมมีวิธีการฝึกแตกต่างกันอย่างไร
วันสุดท้าย ฉันอยู่ปฏิบัติจนถึง 11 โมง ไม่รออาหารเพลแล้ว เปลี่ยนเสื้อผ้า คืนชุดแล้วกลับเลย เดินฝ่าแสงแดดออกมาที่ถนนใหญ่ข้ามสะพานลอยไปรอรถที่ศาลาอีกฟากหนึ่ง ประมาณเกือบชั่วโมงรถก็มา รถวิ่งประมาณชั่วโมงกว่าก็ถึงหมอชิต กว่าจะถึงบ้านเกือบหกโมง เพราะรถในกรุงเทพฯ ติดมาก
เป็นการปฏิบัติธรรมที่อิ่มเอมใจอย่างยิ่งสำหรับฉัน แม้ระหว่างฝึกจิตเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ จะได้ยินเสียงเพลงของ Bee Gees แว่วขึ้นมาในหูเป็นระยะ ๆ ก็ตาม เนื่องจากช่วงเวลาก่อนไปปฏิบัติธรรม ฟังเพลงของวงนี้ทุกวัน เข้าใจว่า “สัญญา” ยังคงอยู่ นี่ถ้าฟังเสียงสวดมนต์หรือเสียงพระแสดงพระธรรมเทศนาหลาย ๆ วันก่อนไป ก็จะดีไม่น้อยทีเดียว ดังนั้น ที่พระท่านว่า คนที่สวดมนต์หรือฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นประจำ เวลาอยู่สภาวะของความเป็นความตาย อนุสติย่อมน้อมนำให้นึกถึงแต่เรื่องดีงาม ซึ่งจะนำไปสู่สุคติภพได้ ฉันเข้าใจลึกซึ้งตอนนี้เอง ทำให้ฉันตั้งใจว่าจะกลับไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันอีกครั้งแน่นอน
ขอขอบคุณhttp://www.bloggang.com/