สิมอีสาน หรือ โบสถ์อีสาน มาจากการที่ทางอีสานเรียกโบสถ์ว่า “สิม” ลักษณะโดยทั่วไปของสิม แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักตามสภาพของแหล่งที่ตั้ง คือ สิมน้ำและสิมบก สิมน้ำ เป็นสิมที่ตั้งอยู่กลางน้ำ เช่น สระ หนอง บึง ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สร้างอย่างชั่วคราวสำหรับวัดที่ยังไม่มีวิสุงคามสีมา ส่วนใหญ่สิมบกเป็นสิมที่ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีลักษณะเป็นอาคารถาวร นอกจากนี้ สิมยังแบ่งตามลำดับอายุก่อนหลังและลักษณะร่วมในรูปแบบได้เป็น 4 ประเภท คือ สิมก่อผนังแบบดั้งเดิม สิมโถง สิมก่อผนังรุ่นหลัง และสิมแบบผสม
สิม มาจากคำว่า สีมา สิมมา หรือพัทธสีมา ที่ปรากฏในคำจารึกบนแผ่นหินที่ประกาศเจตนาอุทิศของผู้สร้างปักไว้ด้านหลังสิมมีปรากฏอยู่ทั่วไป ความหมายของคำเหล่านี้ หมายถึง เขตแดนที่กำหนดในการประชุมทำสังฆกรรมอันเป็นกิจของสงฆ์โดยมีแผ่นสีมาหินเป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตรอบบริเวณตัวสิม*
สิมอีสาน (วัดป่าแสงอรุณ) ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดป่าแสงอรุณ ตำบลพระลับ ห่างจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นประมาณ 6 กิโลเมตร ตามเส้นทางขอนแก่น-กาฬสินธุ์ สิมอีสาน ได้เน้นถึงรูปแบบ ทรวดทรง ความมั่นคงสามารถคุ้มแดดคุ้มฝน ตลอดจนความวิจิตรงดงามของภาพเขียนฝาผนังลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น อันเป็นการปลูกฝังแนวความคิดสร้างสรรค์ที่ดีต่อไป อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดขอนแก่นตลอดไป
การเดินทางสิมอีสานอยู่ในวัดป่าแสงอรุณ ถนนศรีจันทร์ (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ห่างจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นประมาณ 6 กิโลเมตร มีแยกขวามือเข้าถนนโยธาธิการอีก 300 เมตร
ขอขอบคุณ http://www.touronthai.com