พระธาตุหริภุญชัยเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดลำพูน และของประเทศไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงวินิจฉัยถึงจอมเจดีย์
ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทยว่ามีอยู่แปดองค์และได้จำลองเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร คือ
พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียง จังหวัดสุโขทัย
พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระธาตุเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี
สถานที่ตั้งพระธาตุหริภุญชัย ประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกตั้งอยู่ในกลางเมืองลำพูน
บนเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งที่สำคัญยิ่ง คือพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา
ของล้านนาร่วมสิบศตวรรษ
ลักษณะพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์พระธาตุ ซึ่งมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม ดังนี้
ส่วนฐานชั้นล่างสุด เป็นฐานเขียง ซึ่งมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป ๓ ชั้น ถัดจากฐานเขียง เป็นฐานบัวลูกแก้วหรือฐานปัทม์
ส่วนกลาง เป็นชั้นที่ถัดจากบัวลูกแก้วขึ้นไป ทำเป็นฐานเขียงกลมซ้อนกัน ๓ ชั้น และถัดขึ้นไปทำเป็นฐานกลมมีลักษณะ คล้ายมาลัยเถาซ้อนกัน ๓ ชั้น
รองรับองค์ระฆังส่วนกลาง โดยรอบระฆังทำเป็นลายดุนรูปดอกไม้สี่กลีบ และระหว่างลายดอกไม้สี่กลีบ มีการทำเป็นลายดุนนูน เป็นรูปพระพุทธรูป
ส่วนบนถัดจากองค์ระฆังขึ้นไปเป็นส่วนบัลลังก์ก้านฉัตรปล้องไฉน ปลียอดบนสุดเป็นฉัตร ๙ ชั้น
องค์ประกอบทั่วไปของพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัย ในปัจจุบัน เป็นทรงลังกาหรือทรงระฆังมีส่วนสูง ๒๕ วา ๒ ศอก ฐานกว้าง ๑๒ วา ๒ ศอก ๑ คืบ องค์ประกอบทั่วไป
ของพระธาตุหริภุญชัย มีดังนี้
๑. สัตติบัญชร (ระเบียงหอก) ล้อมรั้งไว้ ณ ฐานชั้นล่าง ๒ ชั้น
๒. สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกในทิศเหนือและทิศใต้ ตามคติจักรวาลในการสร้างวัดสมัยโบราณ
๓. ซุ้มกุมภัณฑ์ (ยักษ์) สร้างไว้ประจำมุมทั้ง ๔ ทิศ ตามคติความเชื่อในท้าวกุมภัณฑ์เป็นผู้คุ้มครองสถานที่
๔. ฉัตรอันเป็นเครื่องสูง ใช้ปักเป็นเกียรติยศ ซึ่งฉัตรแบบร่มใช้ถวายเป็นพุทธบูชานิยมใช้เพียงชั้นเดียวมีลวดลาย
แกะสลักซับซ้อนฝีมือละเอียดประดับไว้ตามมุมทั้ง ๔ ทิศ
๕. หอยอสร้างประจำทั้ง ๔ ภายในหอยอมีพระพุทธรูปนั่งประจำหอยอทุกหอ
๖. โดมที่ประทับและแท่นบูชาจะก่อสร้างประจำไว้เพื่อใช้เป็นที่สักการบูชา
ขอขอบคุณ http://pioneer.netserv.chula.ac.th