ความจริงของพระเจ้าเก้าตื้อที่ไม่ได้ปรากฏในที่สาธารณะ วัดสวนดอก

ท่านเล่าว่าพระเจ้าเก้าตื้อที่เห็นนี้ได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่แทนของเก่า โดยมีคณะศรัทธาญาติโยมซึ่งมีหัวเรือใหญ่เป็นอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ ร่วมกับผู้มีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง ได้ไปปรึกษาหารือกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อจะทำการลอกทองคำที่หุ้มพระเจ้าเก้าตื้อออก และปิดใหม่ให้ดูสวยงามขึ้นซึ่งในขณะนั้นเห็นว่าทองเก่าได้หลุดลอกออกบางส่วน และการปิดทองใหม่ก็ได้ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้ทองชนิดพิเศษเรียกว่าทองวิทยาศาสตร์ ์ซึ่งจะทำให้องค์พระมีสีทองสุกใสแวววาว

การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ ชาวบ้านที่ศรัทธาวัด ต่างไม่เห็นด้วยที่ต้องลอกทองเก่าซึ่งเป็นทองบริสุทธิ์ออก และปิดทองใหม่ ซึ่งเป็นทองผสม ไม่ได้เป็นทองคำบริสุทธิ์เหมือนแต่แรก แต่ชาวบ้านใกล้เคียง คนเฒ่าคนแก่ และพระในวัดที่เป็นคนท้องถิ่นไม่สามารถทัดทานความตั้งใจนั้นได้ จึงต้องปล่อยให้บูรณะจนแล้วเสร็จ ท่ามกลางความเสียดายของชาวบ้าน ซึ่งการบูรณะ ครั้งนี้กระทำเมื่อปลายปี 2539 และมาเสร็จเมื่อต้นปี 2540

แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุกับอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้นี้หลายเรื่อง เช่นมีญาติเสียชีวิตอย่างกระทันหัน และเจ้าตัวประสบเคราะห์กรรมต่างๆนานา นต้องลาออกจากหน่วยงานและได้มาบวชชีที่วัดนี้เพื่อเป็นการขอขมา (ปัจจุบันได้สึกแล้ว)

จะเป็นอาถรรพ์ด้วยเหตุจากการลอกทองพระเจ้าเก้าตื้อหรือไม่คงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก แต่จากคำร่ำลือของชาวบ้านวัดสวนดอก และชาวเชียงใหม่ที่ทราบเรื่องนี้ ต่างกล่าวว่าเป็นเพราะการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำและเป็นการฝืนมติของชุมชน

จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อพอจะจับประเด็นได้ว่า วัดสำคัญๆของเชียงใหม่เมื่อจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
ก็จะมีการพิจารณาตามขั้นตอนของคณะสงฆ์ ที่ไม่ต่างจากการแต่งตั้งในทางโลก ดูยศ ดูตำแหน่ง แล้วก็แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ทำให้ขาดความรู้สึกผูกพันกับวัดนั้นมาก่อน เหมือนเป็นพระจากที่อื่นที่มาอยู่ใหม่ เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสก็พยายามสร้างผลงาน ให้เป็นที่ปรากฏ การสร้างถาวรวัตถุ การระดมทุนรับบริจาค ก็ถือเป็นผลงานที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้

การที่ลอกทองคำเก่าดั่งเดิมของพระเจ้าเก้าตื้อออกและปิดทองใหม่นี้ เป็นการฝืนความรู้สึกของชาวบ้านที่มีความผูกพัน และหวงแหนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือ และสิ่งนี้ยังเป็นเรื่องที่ค้างคาใจชาวบ้านและชาวเชียงใหม่มาจนถึงทุกวันนี้

จากการที่ได้สนทนากับหลวงพ่อ ทำให้สิ่งที่ผมสงสัยในใจนั้นกระจ่างขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะมาพูดคุยกับหลวงพ่อ มีคนบอก ว่าพระเจ้าเก้าตื้อนั้นเป็นพระเก่าแก่มาก แต่เมื่อมาเห็นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นพระใหม่เหมือนวัดทั่วๆไป เพียงแต่มีการจัดฉากและเปิด ไฟให้ดูสวยงาม ปิดบังร่องรอยของอดีตจนหมดสิ้น

การที่หลวงพ่อปู่กวักมือเรียกอยู่หลายครั้งในตอนแรกนั้น ก็พอจะเข้าใจว่าท่านคงต้องการเล่าความจริงให้ฟัง เล่าแทนชาวบ้าน ที่รักและหวงแหนพระพุทธรูปที่ตนเคารพนับถือมาหลายชั่วอายุคน

ขอขอบคุณ http://www.photoontour.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .