ประวัติวัดไชยศรี ความเป็นมาของสิมและฮูปแต้มวรรณกรรมสินไซ

ที่ตั้งและการเดินทาง
ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 22 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้เส้นทางถนนมะลิวัลย์ ขอนแก่น-ชุมแพ ประมาณ 14 กิโลเมตร แยกขวาตรงสี่แยกตรงข้ามกับทางแยกที่จะไปอำเภอพระยืน เข้ามาอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อนถึงบ้านม่วงก่อน แล้วเลี้ยวขวาแยกจากบ้านม่วง อีก 5 กิโลเมตร ก็จะถึงหมู่ที่ 8 บ้านสาวะถี อันเป็นที่ๆตั้งของวัดไชยศรี

ประวัติความเป็นมา

สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ.2408 โดยความศรัทธาของชาวบ้าน ที่ได้ชื่อว่า วัดไชยศรี พอจะสันนิฐานได้ว่า เป็นชื่อวัดที่นิยมตั้งอยู่หลายวัดทั่วไป แต่คนในท้องถิ่นสมัยก่อนนิยมเรียกว่า วัดใต้ ส่วนเจ้าอาวาสยุคแรกไม่ปรากฏนาม จนถึงสมัยหลวงปู่อ่อนสา จึงค่อยปรากฏหลักฐาน จึงถือว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ในสมัยหลวงปู่อ่อนสาวัดเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งด้านการศึกษา การปฏิบัติธรรมและการก่อสร้างทางวัตถุ มีพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมากสิ่งก่อสร้างส่วนมากทำด้วยไม้ ต่อจากนั้น หลวงปู่เปลี่ยน ฐิตตะปัญโญ เจ้าอาวาสรูปต่อมา ท่านก็ได้นำพาญาติโยมพัฒนาวัดไชยศรีสืบต่อมได้เป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2532 พระอาจารย์วสันต์ มหาปุญโญ หรือพระครูบุญชยากร ท่านได้นำพาชาวบ้านและสามเณร ฟื้นฟูปฏิสังขรณ์วัดไชยศรี ทั้งในด้านประเพณีวัฒนธรรม ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่จะรองรับศรัทธาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

ประวัติความเป็นมาของสิมและฮูปแต้ม
สิม หมายถึง ภาษาที่คนโบราณอีสานเรียกโบสถ์ มาจากคำว่า สีมา หมายถึง เขตที่พระสงฆ์ใช้ประชุมทำสังฆกรรม ฮูปแต้ม หมายถึง ภาพเขียนหรือภาพวาด ในที่นี้หมายถึง ภาพจิตรกรรม

ความเป็นมาของวรรณกรรมสินไซ
ต้นกำเนิดของนิทานสินไซ หรือ สังข์สินชัย เป็นวรรณกรรมที่เขียนขึ้นโดยปราชญ์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ชื่อท้าวปางคำ ท้าวปางคำเดิมนั้นมีข้อสันนิฐานบางตำนานว่า เป็นเจ้าอยู่เมืองหนองบัวลำภู ครั้งหนึ่งได้เดินทางไปคล้องช้างแถบเมืองจำปาศักดิ์ เมื่อไปถึงเมืองจำปาศักดิ์ได้พบกับนางเภาลูกสาวเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ทั้งสองได้เกิดชอบพอรักใคร่จึงลักลอบได้เสียกัน แต่ต่อมาเจ้าปางคำได้เดินทางกลับเมืองหนองบัวลำภู นางเภาโกรธแค้น จึงสาปแช่งหากหญิงใดลักลอบสมสู่กับชายแล้วท้องโดยไม่มีพ่อให้หญิงนั้นตั้งเครื่องเซ่นสรวงพลีกรรมสังเวย ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะแห้งแล้ง ท้าวปางคำเมื่อกลับมาจากจำปาศักดิ์แล้ว จึงได้เขียนวรรณกรรมเรื่องสินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัยขึ้น

เรื่องราวสินไซ
เริ่มเรื่องที่เมืองเปงจาล มีท้าวกุสราชเป็นกษัตริย์ปกครอง มเหสีนามว่า นางจันทาเทวี และมีพระขนิษฐานามว่า นางสุมณทา ต่อมามีพระยายักษ์เจ้าเมืองอโนราชชื่อกุมภัณฑ์ มาลักลอบฉุดนางสุมณทาไปเป็นมเหสี จนมีพระธิดาชื่อพระนาง สีดาจันทร์ ต่อมาพระธิดาสีดาจันทร์ได้เป็นมเหสีของท้าววรุณนาคแห่งเมืองบาดาล ท้าวกุสราชเป็นพระออกเดินทางสืบหานางสุมณทา ได้พบกับลูกสาวทั้งเจ็ดของเศรษฐีเมืองจำปา เกิดชอบพอกันจึงกลับมาสึกและสู่ขอนำมาเป็นมเหสีรองทั้งเจ็ดคน ต่อมานางจันทามเหสีเอกและนางลุนธิดาคนสุดท้องของเศรษฐี ได้ประสูติโอรส คือ นางจันทาคลอดลูกเป็นคชสีห์เป็นราชสีห์เฉพาะลำตัว แต่มีส่วนหัวเหมือนช้างชื่อว่า สีโห นางลุนได้ลูกแฝด คนหนึ่งชื่อ สินไซ เพราะมีธนูและดาบออกมาด้วยตอนคลอด ส่วนอีกคนมีรูปร่างเป็นหอยสังข์ จึงได้ชื่อว่า สังข์หรือสังข์ทอง ส่วนมเหสีอีกหกคนคลอดเป็นเช่นคนปกติทั่วไป เรียกว่า กุมาร หรือท้าวทั้งหก ต่อมาเกิดการชิงดีชิงเด่นกันในระหว่างกลุ่มมเหสี นางจันทา นางลุน ท้าวสีโห ท้าวสินไซ และท้าวสังข์ ถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนที่ไม่ดีต่อบ้านเมือง ท้าวกุสราชหลงเชื่อสั่งเนรเทศออกจากเมืองไปอยู่ป่า

เมื่อพระองค์โตเป็นหนุ่ม ท้าวซึ่งเป็นพระโอรสของหกมเหสีได้รับมอบหมายจากท้าวกุสราช ให้ไปตามนางสุมณทาซึ่งเป็นอาที่เมืองยักษ์อโนราช ท้าวทั้งหกพบกับสินไซกลางป่าเห็นว่ามีฤทธิ์กล้าหาญ ส่วนพวกตนไม่มีวิชาอาคม จึงออกอุบายอ้างคำสั่งของท้าวกุสราชให้สินไซไปตามหานางสุมณทา สินไซเชื่อและด้วยมีความกตัญญูต่อพระราชบิดาด้วย จึงออกตามพร้อมด้วยสีโหและสังข์ โดยให้ท้าวทั้งหกรออยู่ระหว่างทาง ทั้งสามพี่น้องต้องฝ่าฟันอุปสรรค ต่อสู้กับทั้งยักษ์ นาค ครุฑ งูซวง ข้ามแม่น้ำหลายครั้ง แต่ด้วยปัญญาและวิชาสามารถโดยอาศัยเจตนาที่ไม่คิดทำร้ายใครเพียงแต่ต้องการนำเอาอาคืนเท่านั้น สุดท้ายก็ตามพบและนำนางสุมณทากลับคืนมาได้ โดยได้รบชนะและฆ่ายักษ์กุมภัณฑ์ตายแล้ว อาจจะได้รับความลำบาก จึงอยากให้กลับด้วยกันแต่พอเดินทางกลับมาสมทบกับท้าวทั้งหกที่รออยู่ กับถูกแผนร้ายผลักตกเหว สินไซเกือบสิ้นชีวิต ดีว่าพระอินทร์ลงมาช่วยไว้ ฝ่ายท้าวทั้งหกเมื่อนำนางสุมณทาและสีดาจันทร์กลับคืนถึงเมืองเปงจาล ตอนแรกท้าวกุสราชก็เชื่อ

ต่อมาความจริงก็ถูกเปิดเผยด้วยโดยนางสุมณทาที่รักความเป็นธรรม ทำให้ท้าวกุสราชสั่งเนรเทศมเหสีและโอรสทั้งหกออกจากเมืองแล้วพระองค์ก็ไปรับนางจันทา นางลุน สินไซ สีโหและสังข์กลับเมืองเปงจาล แล้วมอบเมืองเปงจาลให้สินไซขึ้นปกครองแทน ต่อมายักษ์กุมภัณฑ์ได้รับการชุบชีวิตจากพระยาเวสสุวรรณเจ้าแห่งยักษ์ ให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความรักที่มีต่อนางสุมณทา จึงมาลักลอบนำนางสุมณทากลับเมืองอโนราชและจับสินไซไปเป็นตัวประกัน จนสีโหและสังข์ต้องตามไปช่วย เกิดสงครามใหญ่อีกครั้ง พระอินทร์ต้องมาไกล่เกลี่ยชี้ให้เห็นโทษของสงคราม พร้อมเสนอทางออกที่เหมาะสมมีเหตุผลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทุกอย่างจึงลงเอยด้วยดีทุกฝ่ายได้กลับไปสู่บ้านเมืองดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

ข้อมูลจากเอกสารประกอบการบรรยายกิจกรรมการเรียนรู้วิชาส.30261 ภาพจิตรกรรมฝาผนัง(ฮูปแต้ม)วัดไชยศรี บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตามโครงการอนุรักษ์แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ (เรียบเรียงข้อมูลโดยพระครูบุญชยากร)

ขอขอบคุณ http://tvthainetwork.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .