วัดอรุณ กรุงเทพฯ

511_696

ครั้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์จนเสร็จสมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
แม้จะมีการปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัย รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน
แต่ก็ยังคงความสวยงามในสภาพเดิมไว้ทุกประการ ตามที่รัชกาลที่ ๕
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ไว้ดังนี้

พระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่ภายในรั้วล้อมทั้ง ๔ ด้าน
คือด้านตะวันออก ตะวันตก เหนือ และใต้
ตอนล่างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ทาด้วยน้ำปูนสีขาว
ตอนบนเป็น รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง มีรูปครุฑจับนาค
อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒
ทำด้วยเหล็ก ติดอยู่ตอนบนที่รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดงทุกช่อง
แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูนเหมือนกำแพง
ตอนล่างทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์ใหญ่นั้น
มี เก๋งจีน แบบของเก่าเหลืออยู่อีก ๑ เก๋ง
หน้าบันและใต้เชิงชายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี
และภาพสีเทาเขียนเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ แบบจีน
ผนังของเก๋งจีนด้านในทาด้วยน้ำปูนสีขาว ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นภาพสีเกี่ยวกับนรก
ในรัชกาล ๕ โปรดให้ลบออกเสียเพราะทรงพิจารณาเห็นว่าไม่งาม
ส่วนรั้วด้านใต้ที่ติดกับกำแพงพระราชวังเดิมนั้น
เป็นรั้วก่อด้วยอิฐถือปูนทึบตลอดทั้งด้าน

ลานพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งแต่รั้วถึงฐานพระปรางค์ปูด้วยกระเบื้องหิน
มีท่อระบายน้ำจากพื้นลานลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ละมุมด้านในของรั้วมีแท่นก่อไว้มีลายเป็นขาโต๊ะตั้งติดกัน
เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับตั้งเครื่องบูชา หรือวางของ
รอบๆ ฐานพระปรางค์มี ‘ตุ๊กตาหินแบบจีน’ เป็นรูปสัตว์ต่างๆ
เช่น วัว ควาย ลิง สิงโต เป็นต้น กับ ‘รูปทหารจีน’ ตั้งไว้เป็นระยะๆ
และบริเวณลานที่ตรงกับพระมณฑปทิศ
มีราวเทียนและที่สำหรับปักธูปบูชาทั้ง ๔ พระมณฑป

องค์พระปรางค์ใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก
โปรดให้เปลี่ยนเพียงรูปกินนรกินรี และแจกันปักดอกไม้ตามช่องต่างๆ
เป็นซีเมนต์ครึ่งซีกติดกับผนังคูหาด้านใน แทนของเก่า
ซึ่งสลักด้วยหินเป็นตัวๆ ตั้งไว้ เพราะถ้าจะทำใหม่ให้เหมือนเก่า
จะต้องใช้เงินมาก ด้วยของเก่าเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ได้โปรดให้รื้อประตูเข้าพระปรางค์ใหญ่ออกหมดทั้ง ๙ ประตู
แล้วสร้างขึ้นใหม่เพียง ๕ ประตู เป็นประตูซุ้มแบบ วัดราชประดิษฐ์ฯ

ซุ้มเหนือบานประตูทางเข้าพระปรางค์ทั้งด้านนอกและด้านในเป็นลายปูนปั้นลงสี
ทำเป็น รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕
ติดอยู่ตรงด้านนอกและด้านใน คือที่รั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี ๓ ประตู
ซุ้มเหนือบานประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็น รูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒
ประตูกลางระหว่างโบสถ์น้อยและวิหารน้อยเป็น รูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕
และประตูข้างใต้พระวิหารน้อยเป็น รูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔
ส่วนที่รั้วทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี ๒ ประตู
ซุ้มเหนือบานประตูเหนือเก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑
ประตูใต้เก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓

องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก
แต่ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ
และยังคงแข็งแรงมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ได้นี้
แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .