“ประวัติวัดสมานรัตนาราม”

ii

ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึง “วัดสมานรัตนาราม” ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นวัดที่มีนักท่องเที่ยว ตลอดถึงพ่อค้าประชาชน และนักแสวงบุญทั้งหลายเข้าทำบุญที่วัดไม่ขาดสายเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ซึ่งสิ่งที่เป็นแรงดึงดูดผู้คนให้เดินทางมาในวัดนี้ นอกจากความสงบร่มรื่น และทิวทัศน์ที่สวยงามภายในวัดแล้ว เป้าหมายของผู้คนที่เดินทางมาที่วัดสมานรัตนารามแห่งนี้ คือ องค์พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุข ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทรงไว้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และสามารถประสิทธิ์ประสาทพรแก่ผู้ที่มากราบสักการะให้สำเร็จผลในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการ

ส่วนประวัติการสร้างวัดสมานรัตนารามนั้น พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ (ไพรัตน์ ปญฺญาธโร) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้เล่าให้ฟังว่า ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าสืบกันต่อกันมา เดิมที ณ ตำบลบางแก้วแห่งนี้ มีขุนท่านหนึ่ง เป็นคหบดีผู้มีฐานะฐานะมั่นคงและเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ขุนท่านนี้มีนามว่า ขุนสมานจีนประชา (เดิมชื่อจ๋าย สืบสมาน) ท่านขุนมีน้องสาว 1 คน คือ นางยี่สุ่น วิริยะพาณิชย และมีภรรยา 2 คน คือ นางทิม สืบสมาน และ นางผ่อง สืบสมาน (เพิ่มนคร) ต่อมาเมื่อท่านขุนสมานจีนประชาถึงแก่อนิจกรรมลง นางยี่สุ่นผู้เป็นน้องสาวพร้อมกับภรรยาทั้ง 2 มีความประสงค์จะสร้างวัด เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ขุนสมานจีนประประชา จึงได้ดำเนินการสร้างวัดนี้ขึ้น เมื่อสร้างวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร” แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียกว่า “วัดใหม่ขุนสมาน” เป็นวัดราษฎร์ คณะสงฆ์ปกครองวัดสมัยนั้นเป็นฝ่ายมหานิกาย แต่ปกครองไม่นานนัก ผู้สร้างวัดได้ถวายพระในคณะธรรมยุตมี พระครูศิริปัญญามุนี (อ่อน เทวนิโพ) เป็นประธานสงฆ์ในการรับถวาย ภายหลังนางยี่สุ่นผู้เป็นน้องได้สร้างพระปรางค์เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษเอาไว้ ซึ่งพระปรางค์ดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นที่หน้าพระอุโบสถ์จนถึงปัจจุบัน

และได้ค้นพบหลักฐานที่สำคัญว่า ในปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประทับที่วัดนี้ว่า “พระบาทเสด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทางชลมารคผ่านมาได้ทรงแวะเยี่ยมวัดขุนสมานจีนประชา ชาวบ้านผู้หนึ่งชื่อ นายเหว่า โพนสุวรรณ์ นำนกกวักเผือกถวาย ณ วัดแห่งนี้ด้วย” ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญและเป็นอุดมมงคลยิ่งแก่วัดและประชาชนชาวบางแก้วสมัยนั้นจวบจนปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อครา สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จออกตรวจสังฆมณฑลทางเรือตามลำแม่น้ำบางปะกง พระองค์ได้เยี่ยมวัดนี้ และทรงเห็นป้ายวัดไม่สอดคล้องกับชื่อตำบลไผ่แสวก จึงทรงตั้งชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดไผ่แสวก” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของตำบล ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมานานหลายสิบปี ทางราชการได้ยุบตำบลไผ่แสวกไปรวมกับตำบลบางแก้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พระเถระผู้ใหญ่พร้อมด้วยภิกษุ สามเณร ชาวบ้าน อุบาสก และอุบาสิกา ได้มีมติเห็นพร้องกันว่าสมควรที่จะเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ โดยชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ต้องมีคำว่า “สมาน” เพื่อให้เกียรติแก่ตระกูลสืบสมานผู้สร้างวัด และให้มีคำว่า “แก้ว” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบล จึงได้ขออนุญาตไปยังหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดสมานรัตนาราม” มาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปถึงวัดสมานรัตนาราม ควรไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดอื่น เช่น พระราหูองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คุ้มดวงคุ้มภัยแก้วัน ปีชง, หลวงพ่อโต ปางมารวิชัย อายุกว่า 120 ปี พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า, หลวงพ่อประทานพร พระปางลีลา แบบพระประธานภายในพุทธมณฑล ขอโชคลาภและให้สุขภาพแข็งแรง, หลวงพ่อดำ (จำลองแบบจากนาลันทา เมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย, พระพุทธรูปประจำจังหวัด ประดิษฐานจังหวัดละหนึ่งองค์, พ่อปู่ฤาษี (พ่อแก่) บรมครูของเหล่าศิลปินทุกแขนง ให้โชคลาภ เงินทอง, พระพิฆเนศปางปาฏิหาริย์ 108 กร ขอสิ่งใดสำเร็จรวดเร็วทันใจ ดังปาฏิหาริย์, พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางประทานบุตรแห่งโชคลาภและประทานการงาน เงินทอง องค์ปฐมต้นแบบองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และจระเข้โหราเทพารักษ์ ฯลฯ

ขอขอบคุณ http://travel.kapook.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .