วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร Wat Phra That Si Chom Thong–ประวัติความเป็นมา

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร มีบริเวณที่ตั้งเป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
ตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร และพระบรมธาตุเจ้าศรีจอมทอง
ดอยจอมทอง หรือ ดอยศรีจอมทองนั้น ในสมัยพุทธกาลมีเมืองตั้งอยู่ใกล้ๆ กับดอยลูกนี้ ชื่อ เมืองอังครัฏฐะมีเจ้าผู้ครองเมืองนามว่า พระยาอังครัฎฐะ พระยาอังครัฎฐะเมื่อได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าได้บังเกิดในโลกแล้ว เวลานี้ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ในประเทศอินเดีย จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้ว จึงเสด็จสู่เมืองอังครัฏฐะพร้อมด้วยภิกษุสาวกทางอากาศ ได้มารับอาหารบิณฑบาตจาก พระยาอังครัฏฐะ และทรงแสดงธรรมโปรดพร้อมทั้งได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า “เมื่อเรานิพพาน แล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวา (พระทักษิณโมลี) ของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่ดอยจอมทองแห่งนี้ ” แล้วเสด็จกลับ พระยาอังครัฏฐะเมื่อได้ทราบจากคำพยากรณ์นั้นแล้ว จึงได้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทอง ด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่ทรงพยากรณ์ไว้นั้น แล้วอยู่ครองราชย์จนสิ้นพระชมมายุ
กาลล่วงมาจนถึงพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไป ณ เมืองกุสินารา และเมื่อได้จัดการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วจึงได้แบ่งพระบรมธาตุเจ้า โดยพระมหากัสสัปปะเถระ ผู้เป็นพระสังฆเถระในที่นั้นได้ขอเอาซึ่ง พระทักษิณโมลีธาตุ (พระบรมธาตุพระเศียรเบื้องขวา ) จากพระเจ้ามัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราได้แล้ว จึงอธิษฐานขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จไปประดิษฐานอยู่ที่ยอดดอยจอมทอง ตามที่พระพุทธองค์ได้พยากรณ์ไว้
ต่อมากาลเวลาล่วงมาถึง พ.ศ. 218 พระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์อินเดียในสมัยนั้น ได้เสด็จไปสู่ดอยจอมทอง ได้สั่งขุดคูหาให้เป็นอุโมงค์ใต้พื้นดอยจอมทอง แล้วให้สร้างสถูปไว้ภายในคูหานั้นแล้ว เอาพระบรมธาตุเจ้าที่อยู่ในสถูป ที่พระยาอังครัฏฐะให้สร้างไว้บนยอดดอยนั้น เข้าไปไว้ในสถูปที่สร้างใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทองแล้วรับสั่งให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำคูหาเอาไว้ แล้วทรงอธิษฐานว่า “ต่อไปข้างหน้า ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินและศรัทธาประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ผู้ชนให้ได้กราบไว้สักการะบูชา ” แล้วจึงได้เสด็จกลับ
กาลกล่าวมาถึง พ.ศ. 1995 นายสร้อย นางเม็ง สองสามีภริยาบ้านอยู่ใกล้กับดอยจอมทองนั้น ได้สร้างวัดขึ้นบนยอดดอยจอมทองนั้น แล้วให้ชื่อว่า “ วัดศรีจอมทอง” การสร้างวัดยังไม่เสร็จดี นายสร้อย นางเม็ง ก็ได้ถึงแก่กรรมไป ต่อมาถึง พ.ศ. 2009 มีชายสองคน ชื่อ สิบเงินและสิบถัว ได้ช่วยกันบูรณะก่อสร้างวัดศรีจอมทองต่อมา (มีพระสารีบุตรเถระ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก)
กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2042 ในสมัยพระธัมมปัญโญเถระ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง ได้มีตาปะขาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่วัดนั้นเกิดนิมิตฝันว่า เทวดาได้มาบอกว่าใต้พื้นวิหารบนยอดดอยที่ตั้งของวัดนี้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า และพระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการะบูชาต่อไป ตาปะขาวจึงได้ไปเล่าความฝันนั้นให้แก่เจ้าอาวาสฟัง เจ้าอาวาสจึงได้ทำการอธิษฐานจิตว่า “ถ้ามีจริงดังความฝันนั้น ขอให้พระบรมธาตุจงได้เสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด” เมื่ออธิฐานแล้วในวันรุ่งขึ้นก็ได้พบพระบรมธาตุเจ้าอยู่ในรูพระเกศโมลีของพระพุทธรูป ซึ่งตั้งประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารนั้น จึงได้เก็บรักษากันไว้โดยเงียบ ๆ และรู้กันเพียงแค่เจ้าอาวาสและตาปะขาว
กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2058 สมัยนั้นพระมหาสีลปัญโญเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจอมทอง มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระมหาพุทธญาโณ มาจากเมืองพุกามได้สั่งให้พระอานันทะ ผู้เป็นลูกศิษย์ไปสืบดูพระบรมธาตุที่วัดศรีจอมทอง ซึ่งบางทีอาจจะทราบระแคะระคายว่าที่วัดนั้นมีพระบรมธาตุ เมื่อพระอานันทะได้ไปถึงวัดศรีจอมทองแล้ว ได้ทำการสักการะบูชาอธิฐานจิตอยู่ ฝ่ายพระมหาสีลปัญโญ เจ้าอาวาสเมื่อได้เห็นอาการเช่นนั้นจึงนำเอาพระบรมธาตุ ซึ่งเก็บรักษากันต่อมานั้นออกมาแสดงให้พระอานันทะทราบ พระอานันทะจึงได้นำความไปทูลพระดิลกปนัดดา (พระเมืองแก้ว) ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ให้ทรงทราบ
ครั้งเมื่อ พ.ศ. 2060 พระรัตนราช (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อได้ทราบความที่ พระมหาพุทฺธญาโณว่า “พระบรมธาตุเจ้าได้เสด็จมาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง ภายในอาณาเขตแว่นแคว้นของพระองค์เช่นนั้นแล้ว” ก็มีพระทัยยินดีปิติปราโมทย์เป็นกำลัง จึงรับคำสั่งแก่พระมหาพุทฺธาญาโณเถระว่า “ขอพระคุณเจ้าจงไปจัดการเรื่มปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างพระวิหารหลังหนึ่ง ให้เป็น 4 มุขเหมือนวิหารวัดชัยศรีภูมิ แล้วได้ก่อปราสาทหลังหนึ่งให้เหมือนปราสาทอันมีอยู่ในพระอุโบสถวัดมหาโพธิหลวง (วัดเจ็ดยอด) ไว้ภายในท่ามกลางพระวิหารนั้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้า ให้เป็นอัครสถานอันประเสริฐต่อไป” ดังนี้ แล้วทรงประทานเงินหมื่นหนึ่งเพื่อเป็นค่าอุปกรณ์ในการก่อสร้าง พระเถระเจ้ารับคำพร้อมด้วยปะขาวนักบุญ และนายช่างทั้งหลายไปสู่วัดพระธาตุศรีจอมทอง แล้วร่วมกับเจ้าอาวาสเริ่มการปลูกสร้างพระวิหารและปราสาท ในปีชวดอัฏฐศก พ.ศ. 2060 ตามแบบที่พระเมืองแก้ว เจ้าผู้คร้องนครสั่งนั้นทุกประการ
เมื่อการก่อสร้างพระวิหารและปราสาทสำเร็จบริบูรณ์แล้ว พระเถระจึงไปทูลถวายพระพรให้เจ้าผู้ครองนครทรงทราบ พระเมืองแก้วเจ้าผู้ครองนครมีใจยินดีมากนัก จึงรับสั่งให้สุวรรณช่างทองสร้างโกศทองคำน้ำหนักเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาต ุและพร้อมด้วยเถรานุเถระ เสนาอำมาตย์ชาวบ้านชาวเมืองออกไปทำมหกรรมฉลองเป็นมหาปางใหญ่ แล้วเชิญพระบรมธาตุเจ้าเข้าไว้ในโกศทองคำตั้งไว้ภายในปราสาทนั้นแล้ว ทรงโปรดพระราชทานวัตถุไทยทานและเครื่องแห่ไว้กับพระบรมธาตุเจ้าเป็นอันมาก และถวายข้าคนไร่นาตามเขตป่า ที่ดิน ย่านน้ำ ไว้สำหรับให้ปฏิบัติรักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุให้เจริญถาวรสืบต่อไปตลอด 5000 พระวัสสา
เหตุการณ์สำคัญของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
พ.ศ. 1995 วัดถูกสร้างขึ้นบนยอดดอยจอมทอง มีชื่อว่า “ วัดศรีจอมทอง”
พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
พ.ศ. 2478 ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52
พ.ศ. 2506 ได้รับพระราชทานยกฐานะวัดขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
พ.ศ. 2524 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา
พ.ศ. 2538 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ

ขอขอบคุณ http://www.teeteawthai.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .