อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มรดกวัฒนธรรม

กำแพงเพชร เป็นเมืองผ่านในเส้นทางขึ้นสู่ภาคเหนือตอนบน หลายคนขับรถผ่านไปไม่คิดจะแวะเข้าเมืองกำแพง ทั้งที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และสมบูรณ์สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย นั่นคือโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร นับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแห่งหนึ่งของเมืองไทย มีหลักฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งอาณาจักรสุโขทัย ร่วมสมัยกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

กรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ.2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ เป็นประธาน

อุทยานประวัติศาสตร์แห่งกำแพงเพชร เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ ทั้งในด้านการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชน ในอดีต ตลอดจนโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต

ทั้งนี้มีโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งมุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ 503 ไร่และเขตอรัญญิก เนื้อที่ 1,611 ไร่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า พัฒนาโบราณสถานและบริเวณเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ

มิใช่เพียงความภูมิใจของคนไทยเท่านั้น คณะกรรมการมรดกโลก แห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ยังได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่เมืองคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534 นับเป็นมรดกโลกตามบัญชีในลำดับที่ 574 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เป็นการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพิจารณามรดกโลกวางไว้คือ ข้อ 1 ในฐานะที่เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมที่มี ความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปะ อย่างแท้จริง ข้อ 3 เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียมประเพณีหรืออารยธรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

มรดกโลกที่ได้รับกันส่วนใหญ่จะได้ผ่านหลักเกณฑ์เพียงข้อเดียวเท่านั้น แต่อุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลกของกำแพงเพชร ผ่านหลักเกณฑ์ถึง 2 ข้อจากทั้งหมด 6 ข้อ ซึ่งทั่วโลกมีเพียง 20 กว่าแห่งเท่านั้นที่ผ่านหลักเกณฑ์ถึง 2 ข้อ

โบราณสถานของเมืองกำแพงเพชร เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ มีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท พุทธศาสนาในสมัยนั้นมีพระสงฆ์ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสีหรือวัดที่อยู่ในเมือง และอรัญวาสีหรือฝ่ายที่อยู่นอกเมืองไม่น้อยกว่า 40 วัด

สิ่งปลูกสร้างทุกอย่าง เช่น ตัววัด เจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป กำแพง เสาอาคาร กุฏิ แม้กระทั่งถานหรือส้วม ล้วนแล้วแต่ใช้ศิลาแลงทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นโบราณสถานเพียงแห่งเดียวในประเทศและอาจจะแห่งเดียวในโลก ที่ใช้ศิลาแลงมาก่อสร้าง เป็นเอกลักษณ์หาจากที่อื่นไม่ได้ และจังหวัดกำแพงเพชรเป็นจังหวัดเดียวที่ใช้เอกลักษณ์ของโบราณสถานมาตั้งเป็น ชื่อจังหวัดนั้นคือ กำแพงเพชร

ชื่อเดิมของกำแพงเพชร คือเมืองชากังราว คำว่าชากังราวเป็นภาษามอญ แปลตรงตัวว่ากำแพงเพชร เพราะกำแพงเมืองมีความแข็งแรงเหมือนเพชรนั่นเอง ปัจจุบันกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยจำนวน 70 เมือง กำแพงเมืองของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นกำแพงเมืองที่สวยที่สุด สมบูรณ์ที่สุดหนึ่งเดียวของเมืองไทย

ขอขอบคุณ https://blog.eduzones.com

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .