“หลวงพ่อปากแดงศักดิ์สิทธิ์” พระประธานในพระอุโบสถ วัดหลวงพ่อปากแดง หรือวัดพราหมณี (พระอารามหลวง) ต.บ้านใหญ่ อ.เมือง จ.นครนายก

paragraphparagraph___116

“นครนายก” เดิมมีชื่อว่า “บ้านนา” เล่ากันว่า
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน
ทำนาหรือเพาะปลูกอะไร ไม่ค่อยได้ผลและมีไข้ป่าชุกชุม
ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นจนที่นี่กลายเป็นเมืองร้าง

ต่อมา พระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือดร้อนของชาวเมือง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกภาษีนาเพื่อจูงใจชาวเมืองให้อยู่ที่เดิม
ทำให้มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้น จนเป็นชุมชนใหญ่
และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่า “เมืองนายก”

นครนายกเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ
ประมาณ ๑๐๗ กิโลเมตร ตามถนนเลียบคลองรังสิต
สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี
มีหลักฐานแนวกำแพงเนินดินและสันคู อยู่ที่ตำบลดงละคร

แต่ชื่อนครนายกนั้น ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ว่าเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออก สมัยพระเจ้าอู่ทอง
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ ทรงจัดลักษณะการปกครองโดยแบ่งเป็นมณฑล
นครนายกได้เข้าไปอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรี จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕
ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง ให้มีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแทน

“วัดพราหมณี” ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดนครนายก
ตั้งอยู่ที่ริมถนนสายน้ำตกสาริกา-นางรอง หลักกิโลเมตรที่ ๔
ต.บ้านใหญ่ อ.เมือง จ.นครนายก โดยได้สร้างขึ้นในรัชสมัย
ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๖
ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีอายุ ๑๐๐ กว่าปีแล้ว

วัดพราหมณี มีพระประธานศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นที่เคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง
มีชื่อว่า “หลวงพ่อปากแดง” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์
หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว สูง ๑ เมตร เป็นศิลปะสมัยล้านช้าง จีวรเป็นลายดอกพิกุล
พระโอษฐ์แย้มทาสีแดงเห็นชัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อปากแดง”
สิ่งที่เด่นสะดุดตาขององค์พระประธานในพระอุโบสถ “หลวงพ่อปากแดง”
คือ ที่ปากของหลวงพ่อมีสีแดงสด เหมือนมีผู้นำลิปสติกไปทาไว้
ผู้เฒ่าผู้แก่ย่านนั้นยืนยัน ว่าเห็นปากท่านแดงแบบนี้มาตั้งแต่เกิด
แม้แต่ปู่ย่าตายายของผู้เฒ่าเหล่านี้ก็บอกว่าเห็นมาตั้งแต่เกิดเหมือนกัน

พระสุธีพรหมคุณ หรือ “หลวงพ่อตึ๋ง สุภาจาโร” เจ้าคณะจังหวัดนครนายก
เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อปากแดง หรือวัดพราหมณี (พระอารามหลวง)
เล่าว่าตามตำนานเล่าขานเชื่อกันว่า หลวงพ่อปากแดงเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับ
หลวงพ่อพระสุก และหลวงพ่อพระใส ที่ประดิษฐานอยู่ที่ จ.หนองคาย ในปัจจุบัน
ที่ได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ครั้นพอมาถึงประเทศไทย
ชาวบ้านได้แยกย้ายไปตามวัดต่างๆ ส่วน “หลวงพ่อปากแดง” นั้น
ถูกชาวบ้านอัญเชิญและนำมาหยุดยังพื้นที่ว่างบริเวณที่เป็นวัดพราหมณีปัจจุบันนี้
จากนั้นก็ลงมือสร้างวัดแล้วก็อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นเป็น พระประธานในพระอุโบสถ

ซึ่งต่อมา “หลวงพ่อปากแดง” ก็กลายมาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
ของชาวจังหวัดนครนายกจนถึงทุกวันนี้ โดยความเชื่อของประชาชนนั้น
ประชาชนที่เดินทางไปเที่ยวน้ำตกสาริกา จะต้องแวะกราบสักการบูชา
พร้อมกับบนบานด้วยกล้วยน้ำว้า ๙ หวี, หมากพลู ๙ ชุด,
พวงมาลัย ๙ พวง และน้ำแดง ๑ ขวด กันอย่างล้นหลาม
พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานให้สมความปรารถนาของตัวเอง

วัดพราหมณี ยังคงมีเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
คือ เมื่อครั้งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒
กองทัพญี่ปุ่นได้เลือกบริเวณที่ตั้งของวัดพราหมณีเป็นจุดพักทัพ
ของกองพันทหารที่ ๓๗ ซึ่งมีจุดหมายจะไปรวมพลกันที่บริเวณเขาชะโงก
(ปัจจุบันคือสถานที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก)

จึงมีทหารญี่ปุ่นล้มตายอยู่ในเขต จ.นครนายก หลายแห่งด้วยกัน
ปรากฏว่ามีการค้นพบกระดูกของทหารญี่ปุ่นใกล้วัดพราหมณี
ดังนั้น สมาคมทหารสหายสงครามกองพลญี่ปุ่นที่ ๓๗
จึงได้สร้าง อนุสรณ์สถานไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงทหารญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ณ วัดพราหมณี

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม สร้างเป็นศาลาจตุรมุขเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน
พระพุทธรูปปางประทานพร ด้านหน้าพระพุทธรูปเป็นแท่นหินจารึกอักษรญี่ปุ่น
ด้านซ้ายพระพุทธรูปเป็นแท่นหินอ่อน โดยมีการจารึก
ข้อความไว้อาลัย สดุดีความกล้าหาญ และระลึกถึงไว้ที่ฐานพระพุทธรูป

ป้ายจารึกด้านซ้ายของพระพุทธรูป และแท่นหินบูชาหน้าพระพุทธรูป
ดังข้อความโดยสรุปของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดังนี้

“อนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗ จัดสร้างโดยสมาคมทหารสหายสงคราม
กองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงดวงวิญญาณ
ของบรรดาทหารซึ่งสังกัดกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗ จำนวน ๗,๙๒๙ นาย
ที่สูญเสียชีวิตในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๘”

นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวภายในวัด ประกอบด้วย พระวิหารเจ้าแม่กวนอิม
ซึ่งจัดสร้างโดยกลุ่มนักธุรกิจจากไต้หวัน, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช,
อุทยานการศึกษา มีรูปปั้นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์อยู่รอบบริเวณวัด
อาทิเช่น ช้างพันธุ์แอฟริกา, กวาง, ควายป่า เป็นต้น
สวนพักจิตร (สวนต้นไทร) ใช้เป็นที่พักผ่อนทำสมาธิหรือทำกิจกรรมยามว่าง

ปัจจุบัน วัดพราหมณี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
เนื่องด้วยในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดพราหมณี
จากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา
พร้อมกับวัดราษฎร์อื่นๆ ทั่วประเทศรวมจำนวน ๒๐ วัด
และในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และคณะ
ได้นำประกาศสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ยกฐานะวัดไปถวายให้
พระเดชพระคุณพระสุธีพรหมคุณ หรือหลวงพ่อตึ๋ง วาจาสิทธิ์
เจ้าคณะจังหวัดนครนายก และเจ้าอาวาสวัดพราหมณี
สร้างความปลาบปลื้มให้แก่พุทธศาสนิกชนและสาธุชนผู้ศรัทธาทั้งหลายยิ่งนัก

จากนั้นในวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
พระเดชพระคุณพระสุธีพรหมคุณ ได้เดินทางเข้ารับหนังสือโปรดเกล้าฯ
ยกฐานะวัดพราหมณีเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
จากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร อีกครั้งหนึ่ง

ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .