จารึกวัดพระธาตุพนม

ชื่อจารึก จารึกวัดพระธาตุพนม
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ –
อักษรที่มีในจารึก ไทยน้อย
ศักราช พุทธศักราช ๒๑๕๗
ภาษา ไทย
ด้าน/บรรทัด จำนวนด้าน ๑ ด้าน มี ๑๘ บรรทัด
วัตถุจารึก หินทราย
ลักษณะวัตถุ รูปใบเสมา
ขนาดวัตถุ กว้าง ๔๘ ซม. สูง ๖๓ ซม.
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ ๑) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นพ. ๑”
๒) ในหนังสือ ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย – ลาว กำหนดเป็น “จารึกวัดพระธาตุพนม ๒”
๓) ในหนังสือ อุรังคนิทาน กำหนดเป็น “ศิลาจารึกของเจ้าพระยานคร”
ปีที่พบจารึก ไม่ปรากฏหลักฐาน
สถานที่พบ ห้องเก็บของภายในวิหารคด วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ผู้พบ ไม่ปรากฏหลักฐาน
ปัจจุบันอยู่ที่ ห้องเก็บของภายในวิหารคด วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พิมพ์เผยแพร่ ๑) จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุพนม, ๒๕๒๒), ๒๙ – ๓๐.
๒) ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย – ลาว (กรุงเทพฯ : คุนพินอักษรกิจ, ๒๕๓๐), ๓๐๔ – ๓๐๗. ๓) อุรังคนิทาน (กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์, ๒๕๓๗), ๑๒๗ – ๑๒๙.
ประวัติ ตามหนังสือกราบทูลของพระยาพนมนครานุรักษ์ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๖๓ กราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ดูเหมือนว่าเพิ่งจะค้นพบและคัดลอกสำเนาส่งมา และในบัญชีสำรวจของกรมศิลปากร พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ กล่าวว่า “หินฝังที่บัลลังก์ของพระวิหารทิศตะวันออก จำนวน ๑๘ บรรทัด ภาษาไทย จ.ศ. ๙๗๖” ตามหนังสือที่ ๒๕๙/๒๔๙๕ ของแผนกศึกษาธิการจังหวัดนครพนม แจ้งว่า “ตามที่กรมศิลปากรให้ค้นหาศิลาจารึกที่พระธาตุพนม ที่ประตูตะวันออกวิหารทิศใต้ มีจารึก ๖ แห่งๆ ละ ๑๔ บรรทัดนั้น ทางจังหวัดนครพนมหาไม่พบ แต่พบจารึกรายอื่นจึงคัดลอกส่งมา” (จารึกบนแผ่นดินเผา ธาตุพนม ๓) ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงจารึกพระธาตุพนม ๒ แต่อย่างไรก็ตาม น่าเชื่อได้ว่า จารึกหลักนี้ยังคงอยู่จนถึงสมัยพระธาตุพนมล่ม พ.ศ. ๒๕๑๘ ดังปรากฏใน จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม พ.ศ. ๒๕๒๒ หน้า ๒๙ ว่า “พระเจ้าเมืองนครพนมได้มาปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนมเมื่อศักราช ๙๗๖ ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๕๗ และได้ทำจารึกขึ้นแผ่นหนึ่ง กล่าวถึงถาวรวัตถุที่ได้บูรณะ ศิลาจารึกหลักนี้เดิมพบอยู่ที่ใต้ฐานหอพระแก้ว จึงขุดขึ้นมาประดิษฐานไว้ตรงมุมกำแพงแก้วด้านเหนือ ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ สร้างกำแพงแก้วใหม่ จึงย้ายมาที่เชิงปราสาทหอข้างพระ ด้านหน้าองค์พระธาตุพนม เมื่อองค์พระธาตุพนมล้ม ศิลาจารึกก็ถูกพังทับด้วย” จารึกหลักนี้อ่านครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ และส่งมากรุงเทพฯ พร้อมกับสำเนาลายมือลงชื่อผู้อ่านว่า นายจารย์ ธรรมรังสี และ รองอำมาตย์ตรี วาศ สมิตยนตร์ ผู้จด ต่อมา พระเทพรัตนโมลี ได้ศึกษาและพิมพ์เผยแพร่ ครั้งแรกพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ “อุรังคนิทาน” และพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ “จดหมายเหตุการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม”
เนื้อหาโดยสังเขป พระยานครพิชิตธานี พร้อมด้วยท้าวพระยาในท้องถิ่นได้บูรณะพระธาตุพนม และสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ อีกด้วย ตอนท้ายได้สาปแช่งผู้ถือสิทธิ์ครอบครอง ทำลายทานวัตถุ อันได้แก่ ทาสโอกาส ที่ดิน ไร่นาของวัด ในครั้งนี้ได้บูรณะเรือนธาตุชั้นที่ ๑ และกล่าวถึงการตกแต่งด้วย ซึ่งน่าจะหมายถึงลวดลายจำหลักอิฐรอบเรือนธาตุ
ผู้สร้าง พระยานครพิชิตราชธานี
การกำหนดอายุ ข้อความจารึกบรรทัดที่ ๑ ระบุ จ.ศ. ๙๗๖ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๑๕๗ อันเป็นสมัยที่พระวรวงศาธรรมิกราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. ๒๑๔๑ – ๒๑๖๕)

ขอขอบคุณ http://www.sac.or.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .