ประวัติความเป็นมา :
จังหวัดกำแพงเพชร เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยไม่น้อยกว่า 700 ปี เคยเป็นเมืองเก่าที่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว นครชุม ไตรตรึงษ์ เทพนคร และ เมืองคณฑี นอกจากนี้เมืองกำแพงเพชรยังเป็นเมืองที่สองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ครองเมือง มีบรรดา ศักดิ์เป็น ” พระยาวชิรปราการ” ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ได้เปลี่ยนเมืองกำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำแพง เพชร
ตามประวัติศาสตร์ กล่าวว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เดิมเรียกชื่อว่า “เมืองชากังราว” และมีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไตรตรึงษ์ เทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงเป็นเมืองยุทธ
ศาสตร์มีหลักฐานที่แสดงให้เห็น ว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ วัดโบราณ มีหลักฐานให้สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมือง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่าเมืองหนึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก มีพระมหาธาตุอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเมืองเดิมที่เรียกชื่อว่า “ชากังราว” พระเจ้าเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์สุโขทัย เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.1890 ต่อมามีการสร้างอีกเมืองหนึ่งทางฝั่งตะวันตกเช่นกัน เมืองนี้ปรากฏชื่อในจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นว่า เมืองนครชุม เป็นเมืองที่มีวัดวาอารามใหญ่โตหลายวัด เป็นฝีมือสร้างครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีอยู่หลายวัด ต่อมาเกิดเกาะขึ้นตรงกลางหน้าเมืองนครชุม สายน้ำเปลี่ยนทางเดินไปทางทิศตะวันตก ทำให้เมืองนครชุมเป็นเมืองดอน จึงได้ย้ามมาสร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกตรงข้ามกัน เมืองที่สร้างใหม่นี้มีป้อมกำแพงมั่นคงแข็งแรงไว้ต่อสู้ข้าศึก มีลำน้ำทั้งเก่าและใหม่เป็นคูเมือง คงเห็นว่าเป็นเขื่อนขันธ์ที่มั่นคง จึงให้ชื่อว่า เมืองกำแพงเพชร
ครั้นเมื่ออำนาจของกรุงสุโขทัยเริ่มเสื่อมลง พระเจ้าอู่ทองสามารถตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองเอกทางใต้ได้ และ พอถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1(พลั่ว) รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงศรี
อยุธยา พระองค์สามารถยกทัพมาตีกรุงสุโขทัยได้ จากสงครามนี้ทำให้เขตปกครองของสุโขทัยถูกแบ่งออกเป็น 2 อาณาเขตคือเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) ระแหง (ตาก) และพระบาง (นครสวรรค์) เมืองทางฝั่งแม่น้ำปิงถูกแบ่งเป็นเขตหนึ่ง และเมืองสุโขทัย สองแคว สวรรคโลก พิจิตร เมืองทางฝั่งแม่น้ำยมและน่านอีกเขตหนึ่ง ทั้งสองเขตมีเมืองราชธานีปกครองเมืองเล็กในย่านของตน สำหรับทางแม่น้ำปิงนั้นได้รวมเมืองชากังราว และเมืองนครชุม ยกเป็นราชธานีปกครองเมืองทางลุ่มแม่น้ำปิงในย่านนี้ โดยโปรดฯ ให้พระยายุธิษฐิระ ราชบุตรบุญธรรมเป็นผู้ครองเมือง ส่วนทางด้านลุ่มแม่น้ำยมและน่าน ให้เมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี มีพระเจ้าไสยลือไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ 3 เป็นผู้ครองเมือง และในสมัยที่ยังมีการทำสงครามกับพม่านั้น กำแพงเพชรมีบทบาทในการทำสงครามหลายครั้ง เป็นที่ตั้งในการการทำสงครามต่อสู้กับพม่า ทั้งตั้งรับ ที่พักพล ที่เตรียมเสบียงอาหาร บางครั้งพม่ามีกำลังมากก็ต้องอพยพผู้คนลงมาอยู่ที่อยุธยา เคยถูกพม่ายึดเป็นที่มั่นหลายครั้ง และถูกทำลายเสียหายอยู่เสมอ เป็นเมืองที่พระเจ้าตากสินดำรงพระยศครั้งสุดท้ายก่อนจะเสด็จขึ้นเสวยราชย์ ณ กรุงธนบุรี เป็นพระยาวชิรปราการผู้สำเร็จราชการเมือง
ปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะ มีโบราณสถานเก่าแก่ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงหลายแห่งรวมอยู่ใน “อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการประกาศเป็น “มรดกโลก” ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ภายใต้ชื่อว่า “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534
ที่ตั้ง :
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000 ตามทางหลวงหมายเลข 101 ถึงหลัก กม.ที่ 360 เลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. หรือสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 055-711921, 055-712528
รายละเอียด และ อัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ :
อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ชาวไทย 20 บาท : ชาวต่างประเทศ 100 บาท
อัตราค่ายานพาหนะ
รถจักรยานสองล้อ คันละ 10 บาท/คัน
รถจักรยานยนต์ คันละ 20 บาท/คัน
รถจักรยานสามล้อ คันละ 20 บาท/คัน
รถจักรยานยนต์สามล้อ คันละ 30 บาท/คัน
รถยนต์ทุกชนิด คันละ 50 บาท/คัน
โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นงานสถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะโดดเด่น ทั้งในด้านความเชื่อของบรรพชนในอดีต มีการใช้วัสดุศิลาแลง เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการก่อสร้าง และที่สำคัญรูปแบบทางศิลปกรรม ทั้งหมดเป็นของแท้ดั้งเดิมทั้งสิ้น ชวนหลงใหลกับภาพ ที่สะทอนให้เห็นถึงความ เจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้นที่มีอายุ ไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 ประกอบไปด้วย โบราณสถานดังนี้
โบราณสถานในกำแพงเมือง
ประกอบไปด้วย •วัดพระแก้ว •วัดพระธาตุ •วังโบราณหรือสระมน •พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร •พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ •ศาลหลักเมือง •ศาลพระอิศวร •กำแพงและป้อมเมืองกำแพงเพชร •วัดสระแก้ว
โบราณสถานฝั่งตะวันตก หรือ เมืองนครชุม
มีลักษณะของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่มผืนผ้า ประกอบไปด้วย •เมืองนครชุม •พระบรมธาตุนครชุม •วัดซุ้มกอ •วัดหนองพิกุล •วัดหนองยายช่วย •วัดหม่องกาเล •วัดหนองลังกา •วัดเจดีย์กลางทุ่ง •ป้อมทุ่งเศรษฐี •เมืองไตรตรึงส์ •วัดวังพระธาตุ
โบราณสถานนอกเมือง หรือ เขตอรัญญิก
จะตั้งอยู่นอกเมืองห่างจากำแพงเมืองประมาณ ห้าร้อยเมตร ประกอบไปด้วย •วัดอาวาสใหญ่ •วัดช้างรอบ •วัดสิงห์ •วัดพระสี่อิริยาบถ •วัดพระนอน •วัดกรุสี่ห้อง •วัดอาวาสน้อย •วัดช้าง •วัดฆ้องชัย •วัดนาคเจ็ดเศียร •วัดกำแพงงาม •วัดกะโลทัย •วัดป่าแลง
แผนที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
(คลิกเพื่อขยายภาพ)
ผังอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
1. วัดพระบรมธาตุ
2. วัดเจดีย์กลางทุ่ง
3. กำแพงป้อมทุ่งเศรษฐี
4. วัดพระธาตุ
5. วัดพระแก้ว
6. สระมน
7. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกำแพงเพชร
8. หลักเมือง
9. วัดพระนอน
10. วัดพระสี่อิริยาบถ
11. วัดสิงห์
12. วัดช้างรอบ
13. วัดอาวาสใหญ่
สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
โบราณสถานในกำแพงเมือง
วัดพระแก้ว (Wat Phra Kaeo)
ตั้งอยู่ที่ ถนนราชดำเนิน 2 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และสำคัญมากในอดีต ตั้งอยู่บริเวณเขตพระราชวังเก่า ปัจจุบันเป็นวัดร้างจากหลักฐานพบว่า เมื่อพระยายุธิษฐิระ ราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) ได้ครองเมืองกำแพงเพชร สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้พระราชทานพระแก้วมรกต ให้มาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร จึงได้บูรณวัดนี้จากวัดเดิมให้ใหญ่โตสวยงาม มีเอกลักษณ์ในรูปแบบสกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผลจากการเป็นเมืองหน้าด่านของสองอาณาจักร คือกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา ยังผลให้เกิดการซึมซับศิลปะของทั้งสองอาณาจักรเข้าด้วยกัน เกิดเป็นศิลปะสกุลช่างกำแพงเพชรขึ้น สิ่งก่อสร้างภายในวัดส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลง เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถาน มรดกโลก ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญ อยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ภายในบริเวณวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานที่ฐานมีสิงห์ล้อม เจดีย์ทรงกลมที่ฐานมีช้างรอบ วิหาร มณฑป อุโบสถ และเจดีย์ราย ทั้งหมดล้อมรอบด้วย กำแพงศิลาแลงเป็นแท่ง ๆ โดยรอบ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ ประกอบด้วย
พระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานไพทีขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปโกลนจากศิลาแลง เป็นพระประธาน ประ
ดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหลัง มีบุษบกทรงมณฑปขนาดใหญ่ ฐานบัวย่อมุม หน้ากระดานประดับด้วยลูกฟัก เชื่อกันว่า บุษบก นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต จึงเป็นที่มาของชื่อวัดพระแก้ว
พระเจดีย์สิงห์ล้อม เป็นเจดีย์ประธานทรงระฆัง แบบลังกา รูปทรงมีเอกลักษณ์สวยงาม บนฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานมีซุ้มโดยรอบทั้งสี่ด้าน ภายในประดับด้วยสิงห์ปูนปั้นอยู่ในคูหา แต่ได้ชํารุดหมด ถัดจากซุ้มรูปสิงห์ขึ้นไป เป็นซุ้มจระนำ ภายในประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นที่ชำรุดเกือบทั้งหมด
พระประธาน ภายในพระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ภายในองค์พระก่อด้วยศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ เป็นประธาน โดยมีอัครสาวกเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ด้านหลัง ประจำเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม คล้ายศิลปะอู่ทองของอยุธยา
พระเจดีย์ช้างเผือก เป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานสี่เหลี่ยม หน้ากระดานประดับด้วยช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 32 เชือกโดยรอบ และแปลกกว่าเจดีย์ทรงระฆังและช้างล้อมอื่น ๆ คือบนฐานสี่เหลี่ยมยังมีเจดีย์ ประจำมุมทั้ง 4 มุม ด้านหน้าพระเจดีย์ช้างเผือก ปรากฏโกลนศิลาแลงรูปพระบาท ขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์ช้างเผือก ซึ่งคาดว่าคือพระอัฏฐารศ พระพุทธรูปสูง 18 ศอก ที่มักนิยมสร้างในกรุงสุโขทัยและในตำนานพระพุทธสิหิงค์ ก็เคยมาประดิษฐานที่กำแพงเพชร จึงเชื่อว่าทั้งพระพุทธสิหิงค์ และพระแก้วมรกตน่าจะเคย ประดิษฐาน อยู่ที่วัดพระแก้วนี้มาก่อนทั้ง 2 องค์ และ เมื่อรัชกาลที่ 6 ได้เสด็จมาที่กำแพงเพชรได้โปรดเรียกกลุ่ม โบราณสถานขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางเมืองว่า “วัดพระแก้ว”
กำแพงศิลาแลง เป็นกําแพงวัด ที่สร้างจากแท่งศิลาแลง นำมาปักเรียงกันไปเป็นกำแพง ด้านบนยึดด้วยทับหลังศิลาแลง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
วัดพระธาตุ (Wat Phra That)
ตั้งอยู่ที่ ถนนปิ่นดำริห์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เป็นวัดหลวงโบราณประจำเมืองกำแพงเพชร อยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว รูปแบบสถาปัตยกรรมสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร สิ่งปลูกสร้างก่อด้วยอิฐและศิลาแลง แตกต่างจากวัดพระแก้วซึ่งใช้ศิลาแลงเป็นหลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นภายหลังวัดพระแก้ว มีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมเป็นประธาน ล้อมรอบด้วยระเบียบคด ที่เชื่อมต่อกับวิหารด้านทิศตะวันออก ที่สองข้างวิหารมีเจดีย์รายอยู่ข้างละ 1 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วย
พระเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานแปดเหลี่ยม ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร มีระเบียงคดล้อมรอบพระเจดีย์ประธาน ต่อเนื่องมายังด้านหลังพระวิหาร ผังรูปแบบดังกล่าว เป็นรูปแบบที่มักสร้างในกรุงศรีอยุธยา โดยระเบียงคดนี้ นิยมที่จะประดิษฐานแถวพระพุทธรูปอยู่โดยรอบ เหมือนอย่างเช่นที่ วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ถัดจากด้านหน้าพระวิหาร
พระเจดีย์ราย เป็นพระเจดีย์บริวาร ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ประจำด้านซ้าย 1 องค์ และ ด้านขวา 1 องค์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังบนตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยม
พระวิหาร เหลือเฉพาะส่วนฐานที่ก่อด้วยศิลาแลง ข้างบนฐานปรากฏโคนเสาสีเหลี่ยมอยู่หลายต้น ด้านหลังพระวิหารเป็นพระเจดีย์ประธาน ซึ่งล้อมรอบด้วยระเบียงคด
ประตูซุ้มยอด เป็นประตูทางเข้าออกวัด ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง
วังโบราณหรือสระมน (Wang Ancient or Sa Mon)
สระมน หรือบริเวณวังโบราณ ทางด้านเหนือวัดพระแก้วจะมีกําแพงดินสี่เหลี่ยมอยู่เกือบติดกําแพงเมืองด้านเหนือ ภายในกําแพงมีคูล้อมทั้ง 3 ด้าน ตรงกลางขุดสระมน เป็นที่เข้าใจว่า บริเวณสระมนนี้เป็นวัง ส่วนปราสาทราชฐานไม่มีเหลืออยู่เลย เมื่อขุดลอกสระแล้วตกแต่งบริเวณสระรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 16 เมตร พบฐานศิลาแลงบางตอน และได้พบกระเบื้องมุงหลังคาตกหล่น พบเศษเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับอยู่ทั่วไป
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร (Kamphaeng Phet National Museum)
ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นดำริห์ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง เป็นที่แสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่างๆ อาทิเช่น ศิลปทวารวดี ศิลปลพบุรี ศิลปรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา และมนุษย์ซึ่งใช้ประดับฐานเจดีย์ หรือติดตั้งวิหาร นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ที่ในสมัย รัชกาลที่ 5 ได้ถูกลอบตัดเศียรและพระหัตถ์ เมื่อ พ.ศ.2429 และได้ถูกซ่อมแซมให้คืนดีในภายหลัง สามารถเข้าชมได้ทุกวันในเวลาราชการ เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 055-711570
พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ
(Museum Chaloemphrakiat)
ตั้งอยู่ที่ 104/5 ถนนปิ่นดำริห์ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 อยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ภายในเขตกำแพงเมืองเก่าของจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี สร้างด้วยไม้สักเป็นเรือนไทยหมู่แบบเรือนไทยภาคกลาง พิพิธภัณฑ สถานจังหวัดกำแพงเพชรฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนของประวัติศาสตร์เมือง ส่วนของมรดกดีเด่น เช่น หินอ่อน แหล่งน้ำมัน และส่วนของชาติพันธุ์วิทยา แสดงถึงชนเผ่าต่างๆ เช่น มูเซอ กะเหรี่ยง ลีซอ และ การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น มีห้องโสตทัศนูปกรณ์ และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยใช้ระบบมัลติมีเดีย มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัด ผลิตภัณฑ์ชาวเขาและกลุ่มแม่บ้าน นอกจากนั้นมีศูนย์จริยศึกษา เพื่อฝึกหัดอบรมงานศิลปประดิษฐ์สำหรับเยาวชนในวัยเรียน ซึ่งจะเป็นนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด โดยจะสอนเกี่ยวกับพุทธศาสนา มรรยาท การแกะสลัก ร้อยมาลัย ซึ่งจะเปิดสอนเฉพาะวันอาทิตย์ และในบริเวณยังมีสวนกล้วยกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งกล้วยพื้นบ้านไทย และพันธุ์กล้วยนานาชาติ อาทิเช่น กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยตานีดำ กล้วยคุณหมิง กล้วยหอมแกรนด์เนนม กล้วยพม่าแหกคุก กล้วยน้ำว้าลูกไส้ดำ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กล้วยน้ำหมาก ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 09.00-16.30 น. ค่าบัตรผ่านประตู 10 บาท ค่าเข้าชมมัลติมีเดีย 250 บาท/คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 055-722341-2
ศาลหลักเมือง (City Pillar Shrine)
ตั้งอยู่บริเวณวัดพระแก้ว และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ เมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองที่มีนามอันเป็นมงคล ซึ่งหมายถึง ความมั่นคง ประดุจเป็นเมืองที่มีปราการทำด้วยเพชร ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรจึงเป็นสิ่งที่พ้องกับความมั่นคง ไม่หวั่นไหว จึงเหมาะสำหรับขอพรเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย อาชีพ ของหาย ของรัก ฯลฯ
ศาลพระอิศวร (San Phra Isual)
ตั้งอยู่ด้านหลังศาลจังหวัด มีฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง 1.50 เมตร บนฐานชุกชีมีเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ที่จำลองขึ้น เทวรูปพระอิศวรองค์เดิมปัจจุบันตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เทวรูปองค์เดิมนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชาวเยอรมันมาเที่ยวเมืองกำแพงเพชร และได้ลักลอบตัดพระเศียรและพระหัตถ์ของเทวรูป ส่งลงเรือมายังกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2429 ความทราบถึงรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้ขอพระเศียรและพระหัตถ์คืน และโปรดให้สร้างรูปจำลองประทานให้เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันได้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี พร้อมทั้งจำลองอีกองค์หนึ่งประดิษฐานไว้ที่ศาลพระอิศวร ส่วนพระองค์จริงได้นำมาซ่อมแซมให้ดีดังเดิม แล้วนำมาตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เป็นสมบัติศิลป์ชิ้นพิเศษที่มีค่ายิ่งของเมืองกำแพงเพชรสืบมา
คนไทยแม้จะนับถือพระพุทธศาสนา แต่ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์หลายพิธีก็ยังมีศาสนาพราหมณ์มาผสมผสานอยู่ด้วย เช่นพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีแรกนาขวัญ พระราชพิธีโสกันต์ และพิธีขึ้นระวางและสมโภชพระยาช้างต้น ฯลฯ ซึ่งจะมีการกล่าวอัญเชิญเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์มาร่วมพิธีด้วย
พระอิศวร หรือ พระศิวะ เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในบรรดาเทพเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม แต่ละองค์จะมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไปและมีผู้นับถือองค์ใดองค์หนึ่ง ตามความเชื่อของตน
ประวัติของพระอิศวรมีเรื่องราวพิสดารแตกต่างกันหลากหลาย เช่น ในบางตำนานกล่าวว่าพระอิศวรเป็นบุตรของพระกัศยปกับนางสุรภี บางตำนานกล่าวว่าพระอิศวรเกิดจากพระนลาฏของพระพรหม บางแห่งก็ว่าเกิดจากพระพรหมบำเพ็ญตบะเสโทไหล และได้เอาไม้ขูดที่ขนง ฉวีถลกโลหิตหยดไหลลงไปในไฟ บังเกิดเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งขึ้นมานามว่ารุทร หรือพระศิวะนั่นเอง และที่เชื่อกันมากที่สุดก็คือตำรับที่ว่า เมื่อไฟบรรลัยกัลป์ได้เผาผลาญล้างโลกหมดสิ้นแล้ว พระเวทย์และพระธรรมได้มาประชุมกัน และสร้างพระอิศวรขึ้นมาสร้างโลก
พระอิศวรมีรูปกายสีขาว บางตำรับก็ว่ามีกายสีแดงบ้าง สีกายดำบ้าง มีตาสามตา ตาที่สามอยู่ตรงหน้าผาก เมื่อใดที่ลืมตาดวงนี้ จะบันดาลให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์แผดเผาทุกสิ่งที่ขวางหน้า เหนือตาที่สามเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกมีเกศามุ่นเป็นชฎารุงรัง นัยว่าเพื่อทรมานพระคงคาที่ต้องไหลผ่านตามเกศานี้ก่อนที่จะไหลมายังพิภพโลก มีประคำกะโหลกหัวคนคล้องคอ มีสังวาลเป็นงู มีศอสีนิลเนื่องจากเสวยยาพิษนาคราชคราวอสูรและเทวดาร่วมกันกวนน้ำอมฤต มีตรีศูลธนู คทายอดหัวกะโหลกเป็นอาวุธ บางครั้งก็ถือบ่วงบาศบัณเฑาะว์ และสังข์ มีโคเผือกชื่ออุศุภราช หรือนนทิเป็นพาหนะ มีชื่อเรียกมากกว่าพันชื่อตามแต่ลักษณะที่ปรากฏ เช่น นิลกัณฐ์ มเหศวร หรือปรเมศวร จันทรเศขร หรือจันทรเษกระ ภูเตศวร และฑิคัมพร ฯลฯ
ในประเทศไทยได้พบประติมากรรมของพระอิศวร เป็นจำนวนมากทั่วทุกภาค ไม่แพ้ประติมา
กรรมประเภทพระพุทธรูป และเทพเจ้าอื่น ๆมีทั้งประเภทที่ทำด้วยสำริดและปูนปั้นชนิดลอยตัวและที่แกะสลักติดอยู่กับ ศาสนสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ ส่วนใหญ่จะมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งขอมเรืองอำนาจ สถานที่พบได้แก่ตามปราสาทหินต่าง ๆ ประติมากรรมรูปพระอิศวรสำริดที่มีชื่อเสียงที่สุดและอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ คือ เทวรูปพระอิศวรสำริด สูง 2.10 เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณกลางห้องโถงชั้น 2 ของอาคารพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกำแพงเพชร
เทวรูปพระอิศวรองค์นี้ มีจารึกอักษรไทยที่ฐานพระบาทว่า เจ้าพระยาธรรมาโศกราช เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2053 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 และ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ลักษณะเป็นฝีมือช่างไทยแต่ทำตามอย่างศิลปะเขมรแบบบายน ราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 18 คือทำพระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนพระพุทธรูปสมัยลพบุรีทั่ว ๆไป มงกุฎทำเป็นหมวกแขก มีเครายาวจนถึงสร้อยคอ กำไลแขนทำเป็นรูปงูพันอยู่ 3 รอบ ผ้าทรงยาวลงมาเหนือเข่าเล็กน้อย ชายสายรัดด้านหน้าปล่อยยาวลงมาถึงพระชานุ ที่นิ้วพระหัตถ์และพระบาทสวมพระธำมรงค์ทุกนิ้ว
กำแพงและป้อมเมืองกำแพงเพชร (Walls and a fort Kamphaeng Phet)
สร้างด้วยศิลาแลง เป็นกำแพงชั้นเดียว นอกกำแพงมีคูกว้างและลึก มีอยู่ 8 ป้อมด้วยกัน สร้างติดกับกำแพงเมือง 7 ป้อม อีกป้อมหนึ่งอยู่ใกล้สะพานกำแพงเมือง สร้างเป็นเชิงเทินมี 2 ตอน ตอนล่างเป็นมูลดินสูงขึ้นไป 3-4 เมตร ตอนบนก่อด้วยศิลาแลง เป็นเชิงเทินมีใบเสมาบนสันกำแพงมีทางเดินกว้างพอให้ทหารเดินสวนกันได้ ใต้ใบเสมาของกำแพงมีช่องรูปสี่เหลี่ยมสำหรับใช้ยิงปืนออกมา และไว้สำหรับมองข้าศึก ประตูเมืองมีอยู่ 8 ประตู
วัดสระแก้ว (Wat Sa Kaeo)
เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศเหนือ ระหว่างเส้นทางที่เข้าสู่เขตอรัญญิกของ เมืองกําแพงเพชร สิ่งก่อสร้างภายในวัดมีเฉพาะฐานอาคารขนาดใหญ่ที่เป็นอุโบสถเพียงหลังเดียว สร้างติดกับคลอง ส่งน้ำโบราณหรือที่เรียกว่าคลองท่อทองแดง เดิมจะมีคูน้ำล้อมรอบหรือที่เรียกว่าอุทกสีมา โดยน้ำจากคลองท่อ ทองแดงจะไหลเวียนรอบฐานอุโบสถ
โบราณสถานฝั่งตะวันตก หรือ เมืองนครชุม
เมืองนครชุม (Muang Nakhon Chum)
ตามเส้นทางเข้าสู่เมืองนครชุม จากทางหลวงหมายเลข 1 แยกเข้าเมืองกำแพงเพชรไปตามทางหลวงหมายเลข 115 ถึงสะพานข้ามแม่น้ำปิงไปฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองกำแพงเพชร เมืองนครชุมทอดยาวทั้งทางด้านซ้ายและขวาของสะพาน มีถนนเข้าสู่เมืองนครชุมทั้ง 2 ด้าน เมืองนครชุมได้ปรากฏครั้งแรกจากศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ปีมหาศักราช ที่ 1279 ปีระกาตรงกับ พ.ศ. 1900 สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ครองราชย์ พ.ศ.1891 – 1917 ได้สร้างนครชุมขึ้นทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิงของเมืองสุโขทัย ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่าน มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ตรงปากคลองสวนหมาก กำแพงเมืองเป็นลักษณะคันดินสามขั้น มีวัดพระบรมธาตุเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบันถูกลำน้ำปิงเซาะพังทะลายปัจจุบันมองเห็นแนวกำแพงเมืองเป็นช่วง ๆ
พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมายังกำแพงเพชร เป็นการเสด็จประพาสต้น อันมีผลที่ให้เมืองนครชุมได้ ขยายตัวเป็นตำบลหนึ่ง อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชรในระยะต่อมา สภาพทั่วไปของตำบลนครชุมตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพง เพชร ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชรไปทางทิศเหนือ ประมาณ 10 กม. เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน และมีถนนสายพหลโยธินตัดผ่านตำบล ลักษณะของเมืองนครชุม เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 2,900 เมตร ยาว 4,010 เมตร เป็นเมืองที่มีคูเมือง 2 ชั้น และกำแพงเมือง 3 ชั้น กำแพงเมืองเป็นมูลดินสูง 2-3 เมตร ล้อมรอบคูเมืองด้านเหนือ ลักษณะตัวเมืองยาวขนานไปกับแม่น้ำปิง จากตะวันออก ไปตะวันตก ภายในกำแพงเมือง มีวัดเก่าแก่อยู่ 2-3 วัดที่สำคัญคือ “วัดพระบรมธาตุ” จากหลักฐานที่ค้นพบ วัดพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศิลาจารึกหลักที่ 3 และพระเครื่อง ซุ้มกอ นอกตัวเมืองมีกลุ่มโบราณสถานขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนภายในตัวเมืองนครชุมปรากฏร่องรอยโบราณสถาน ได้แก่ คูเมือง คันดิน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกำแพงเมือง เจดีย์วัดมหาธาตุ ต้นโพธิ์ที่พระมหาธรรมราชาทรงปลูกชุมชนนครชุมเก่า
วัดพระบรมธาตุนครชุม (วัดพระบรมธาตุเจดียาราม)
Wat Phra Borom That Nakhon Chum
(Wat Phra Borom That Chediyaram)
วัดพระบรมธาตุ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ 15/1 ปากคลองสวนหมาก บ้านนครชุม หมู่ที่ 3 ถนนทางหลวง 1078 ตำบลนครชุม อำเภอเมือง เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ 9 องค์ ต้นศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ที่พระยาลิไททรงปลูกไว้ พระอุโบสถหลังเก่า พระวิหาร วิหารพระนอน ศาลาเรือนไทย นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้แก่ชุมชน อีกด้วย
วัดพระบรมธาตุ เป็นพระอารามหลวงประจำเมืองนครชุมมาแต่โบราณ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น ตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ที่พบบริเวณมุขเด็ดของพระวิหาร (ต่อมาได้รักษาไว้ที่วัดเสด็จ และกรุงเทพฯ ตามลำดับ) เดิมภายในวัดมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(ทรงดอกบัว) สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างโดยกษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัย คือพระมหาธรรม ราชาลิไทหรือพระยาลิไท สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1900 เพื่ออุทิศถวาย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์หนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงองค์หนึ่ง และพระเจดีย์ประจำรัชกาลองค์อีก 1 องค์ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ สถาปนาไว้ในพระเจดีย์องค์กลาง ปลูกพระศรีมหาโพธิ์จากลังกา ณ วัดพระบรมธาตุเจดียาราม และพระองค์ได้เสด็จมาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นวัดพระบรมธาตุนครชุมมีความเจริญ มากเพราะเป็นวัดพระอารามหลวงประจำเมือง ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา(ครั้งหลัง) เมื่อวันที่ 2 กันยายน ปี พ.ศ. 2497
ตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 3 ต่อมาขาดผู้ดูแลรักษา วัดพระบรมธาตุได้กลายสภาพเป็นวัดร้างอยู่กลางป่า จนถึงสมัยพระยากำแพงเพชร(น้อย) เป็นผู้ว่าราชการเมือง ได้ค้นพบพระเจดีย์ จึงร่วมมือกับราษฎรทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2414 พระยากำแพงเพชร (อ่อง) ผู้ว่าราช การเมืองกำแพงเพชรในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีเศรษฐีชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีอาชีพค้าไม้ชื่อแซพอ (แซภอ หรือ พระยาตะก่า) มีใจศรัทธาและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมจากการถูกทิ้งร้างมานานกว่า 300 ปี (จากครั้งเมืองนครชุมถึงกาลล่มสลายเพราะภัยทางธรรมชาติ แม่น้ำปิงกัดเซาะกำแพงเมืองพังพินาศความเจริญทางพุทธ จักรและอาณาจักรจึงสูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม ทำให้เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือเมืองกำแพงเพขรเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่) ได้นำช่างมาจากพม่า ทำการรื้อถอนพระเจดีย์ 3 องค์ แต่เดิมสมัยกรุงสุโขทัยนั้น เป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัวตูม) ตั้งเรียงกันสามองค์ อยู่บนฐานเดียวกัน แล้วทำการก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นองค์เดียวในรูปทรงมอญ แต่ไม่แล้วเสร็จ แซภอได้ถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ.2418 การปฏิสังขรณ์ชะงักไป จนต่อมา ปี พ.ศ.2448 พะโป้ น้องชายแซภอ ได้ทำการบูรณะต่อ พะโป้รวบรวมทุนทรัพย์เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยได้นำยอดฉัตรมาจากเมืองร่างกุง ประเทศพม่าขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์พระบรมธาตุจนสำเร็จในเดือน 6 พ.ศ.2449 จากนั้นได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์องค์เก่ากลาง มาบรรจุอยู่ในภาชนะเงินรูปสำเภาเงินมีพระธาตุอยู่ 9 องค์ นำมาบรรจุในพระเจดีย์องค์ใหม่ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพง เพียง 3เดือน จากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2449 ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า “…ในพ.ศ.2329 สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ ได้ให้เจ้าเมืองกำแพง เพชรพระยารามณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้อง ให้ประชาชนแผ้วถางพบเจดีย์ตามจารึกและปฏิสังขรณ์ขึ้นในปี พ.ศ.2414 (ซงพอ หรือพระยาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีให้ศรัทธาจะบูรณปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯจึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้”
ปัจจุบันพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงไทยประยุกต์มอญ เนื่องจากการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น พระยาตะก่า และ พะโป้ พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงได้สร้างพระเจดีย์ทรงมอญครอบไว้บนฐานเดิม เนื่องจากใช้ช่างชาวกะเหรี่ยง ลักษณะองค์จึงออกไปทางศิลปะพม่า พระเจดีย์จึงมีรูป อย่างที่เห็นในปัจจุบัน และได้บูรณะใหม่อีกครั้ง ในปี พ.ศ.2533 โดยทำเป็นสีทองทั้งองค์ มีซุ้มจรทั้งสี่ทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประจำซุ้ม ตั้งอยู่บนฐานสูงประมาณ 1 เมตร มีกำแพงล้อมรอบ เป็นองค์เจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนมาเป็นเวลาช้านาน บริเวณด้านหน้าพระบรมธาตุ ทำเป็นศาลาเล็ก ๆเพื่อใช้เป็นจุดบูชาพระบรมธาตุ และมีบริการดอกไม้ธูปเทียน มีองค์พระธาตุจำลองสำหรับให้ปิดทองและมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ให้เราได้กราบไหว้บูชา
วัดพระบรมธาตุนอกจากจะมีสถานที่สำคัญหลายอย่างแล้ว ภายในวัดก็มีแหล่งความรู้ที่สำ คัญคือศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม โดยจัดแสดงเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมาย และแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายอย่าง แสดงวิถีชีวิตของชาวเมือง เป็นศูนย์รวบรวมวัตถุโบราณและเรื่องราวต่าง ๆของเมืองนครชุมเอาไว้มากมาย เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญ ญาท้องถิ่น ทั้งทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก่ชุมชนและสังคม ในยุคปัจจุบันเพื่อให้ยั่งยืนสืบไป นอกเราจะได้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว เรายังสามารถใช้เป็นแหล่งความรู้และเรียนรู้ได้อีกด้วย ภายในวัดกว้างขวางสะอาดจัดระเบียบอาคารได้อย่างดี เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างอีกวัดหนึ่ง
เปิดให้เข้านมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ทุกวันตั้งแต่เช้าจนเย็นและศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุมเปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. และเพื่อสืบทอดประเพณีบูชาพระบรม ธาตุ ทางจังหวัดจะจัดงานประเพณี พบพระเล่นเพลง ซึ่งเป็นประเพณีไหว้พระบรมธาตุ ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยงานจะจัดขึ้นทุกปี ในวันเพ็ญเดือน 3 ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ โดยงานจะจัด 5 วัน 5 คืน ซึ่งในทุก ๆ ปี มีประชาชนเข้ามาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 055-616228-9 ,055-616366
วัดซุ้มกอ (Wat Sum Ko)
ตั้งอยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทางด้านทิศใต้ หรืออยู่เขตอรัญญิกของเมืองนครชุม บริเวณท้องที่โบราณที่เรียกว่าทุ่งเศรษฐี โดยอยู่ใกล้กับป้อมทุ่งเศรษฐี เป็นวัดขนาดเล็ก ไม่ปรากฏแนวกําแพงวัด เดิมคงจะมีคูน้ำล้อมรอบที่เรียกว่าอุทกสีมา ตามแบบนิยมของอาณาจักรสุโขทัย เช่นเดียวกับวัดเจดีย์กลางทุ่ง ปัจจุบันโบราณสถานที่ยังปรากฏอยู่ คือพระเจดีย์ประธาน ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่
ด้านหลังพระวิหาร โดยพระวิหารนั้นปรากฏเพียงส่วนฐานเตี้ยๆ เจดีย์ประธานเป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม แบบลังกา ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ส่วนยอดเหนือองค์ระฆังขึ้นไปพังทลายลงหมดแล้ว วัดนี้เคยขุดพบพระเครื่อง “ซุ้มกอ” เป็นจำนวนมาก หนึ่งในเบญจภาคียอดพระเครื่องที่นักสะสมพระเครื่องปรารถนา จึงเป็นเหตุให้คนบางกลุ่มได้มารื้อและทำลายส่วนต่างๆของวัด เพื่อค้นหาพระเครื่อง ยังผลให้โบราณสถานชำรุดเสียหายอย่างมาก จนแทบไม่เหลือสภาพของวัด ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีฐานวิหารขนาดเล็ก 1 หลัง
วัดหนองพิกุล (Wat Nong Phikun)
บริเวณอรัญญิก เมืองนครชุม มีวัดโบราณเก่าแก่แปลกและสวยงามอยู่วัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกขานกันว่าวัดหนองพิกุล อยู่บริเวณทางเข้าวัดพิกุล หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุม อำเภอเมือง ในท่ามกลาง วัดซุ้มกอ วัดหนองพุทรา วัดหนองลังกา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล และบริเวณวัดเจดีย์กลางทุ่งอันงดงามตระการตา เป็นวัดที่สร้างขึ้น ในกลุ่มอรัญญิกนอกเมืองทางทิศใต้ของโบราณสถานวัดซุ้มกอ แผนผังของวัดเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำโดยรอบทั้ง 4 ด้าน หรือที่เรียกว่า อุทกสีมา สิ่งก่อสร้างภายในวัดหนองพิกุล แตกต่างจากวัดแห่งอื่นๆ คือสร้างมณฑปอยู่หลังวิหารทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะของมณฑป เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ฐานสูงประมาณ 1.50 เมตร ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ทั้งที่ฐานและตัวอาคาร เครื่องบนพังลงหมด เดิมเป็นเครื่องไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอ เป็นกระเบื้องมุงหลังคา ทรงหลังคาเป็นมณฑปยอดแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งมีขนาดใหญ่ ลักษณะมณฑปแบบนี้เหมือนกับมณฑปวัดศรีชุม มณฑปวัดตระพังทองหลาง กรุงสุโขทัย ด้านข้างและด้านหลังมีเจดีย์ 8 องค์ ศาสนสถานกลุ่มนี้มีมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ ด้านหน้าของมณฑปนอกกำแพงแก้ว มีฐานวิหารที่เหลืออยู่หนึ่งหลัง บริเวณหลังกำแพงแก้ว มีฐานศาลา อยู่หลายแห่ง โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ มณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานตั้งอยู่หลังวิหาร มณฑปก่อผนังหนาทึบทั้งสามด้าน เว้นทางเข้า-ออก เฉพาะทางด้านหน้าด้านเดียว ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว วัดหนองพิกุลแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็น เทวาลัยมาก่อน โดยประดิษฐานรูปเคารพ อาจเป็นเทพเจ้าทั้ง 3 ของพราหมณ์ คือพระพรหม พระนารายณ์ และพระอิศวร เป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา แต่เมื่อศาสนาพราหมณ์ หมดความนิยม ได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานแทน เพราะมีร่องรอยการสร้างที่ซ้อนทับกันอยู่
วัดหนองพิกุลแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ผู้สร้างวัดหนองพิกุล คือนางพิกุล ธิดาของเศรษฐีใหญ่แห่งบ้านป้อมเศรษฐี มาสร้างวัดนี้ จึงเรียกกันตามผู้สร้างว่าวัดหนองพิกุล วัดนี้จึงมีลักษณะสวยงามอ่อนช้อย มีลักษณะเหมือนสตรี และที่สำคัญวัดหนองพิกุล ได้ขุดพบพระเครื่องที่เรียกกันว่าพระนางกำแพงที่งดงามจำนวนมาก ทำชื่อเสียงให้แก่ชาวกำแพงเพชรมาตลอดนับศตวรรษ บางตำราว่าที่เรียกว่าวัดหนองพิกุลเพราะ บริเวณวัดมีต้นพิกุล ขนาดใหญ่หลายต้น และมีหนองน้ำโดยรอบที่เรียกกันว่า อุทกสีมา เลยเรียกรวมกันว่าวัดหนองพิกุล บริเวณวัดหนองพิกุลมีบ่อน้ำโบราณขนาดใหญ่ ที่ก่อด้วยอิฐ อายุประมาณ 700 ปี
วัดหนองยายช่วย (Wat Nongyaichuay)
วัดหนองยายช่วย หรือ วัดหนองพลับ อยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโบราณสถานวัดหนองลังกา โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงกลมหรือทรงระฆังก่อด้วยอิฐ ฐานเขียงด้านล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมหน้ากระดาน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม และฐานบัวแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวถลา องค์ระฆังค่อนข้างเล็ก และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูง นับเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังทางฝั่งเมืองกำแพงเพชร โดยเฉพาะการทำชั้นฐานบัวแปดเหลี่ยมรองรับชั้นมาลัยเถา สำหรับทางด้านหน้าเจดีย์ประธานมีวิหาร ขนาด 5ห้อง หรือ ห้าช่วงเสา ก่อด้วยอิฐ 1 หลัง
วัดหม่องกาเล (Wat Mong Ka Le)
อยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของโบราณสถานวัดหนองพิกุล โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังศิลปะสุโขทัย ก่อด้วยอิฐ มีซุ้มพระยื่นออกมาจากฐานตอนล่างทั้ง 4 ด้าน ชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวถลา องค์ระฆังค่อนข้างเพรียวหรือชะลูด ปากองค์ระฆังไม่ผายออกมากนัก ถัดจากองค์ระฆังเป็นส่วนที่เรียกว่าบัลลังก์ สำหรับส่วนยอดขององค์เจดีย์หักพังทลายเกือบหมด เหลือหลักฐานเฉพาะส่วนของแกนปล้องไฉน
วัดหนองลังกา (Wat Nong Langka)
เป็นวัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทางด้านทิศใต้หรือเขตอรัญญิกของเมืองนครชุม นับเป็นวัดที่มีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากที่สุดของเขตอรัญญิก สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำโดยรอบทั้ง 4 ด้าน เป็นอุทกสีมา ตามแบบแผนสุโขทัย โดดเด่นด้วยเจดีย์ทรงระฆังรูปทรงเพรียวงาม เจดีย์ประธานเป็นลักษณะ เจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังแบบศิลปสุโขทัยก่อด้วยอิฐอยู่ภายในกําแพงแก้ว มีซุ้มพระยื่นออกมาจากฐานตอนล่าง ทั้ง 4 ด้าน ชั้นมาลัยเถาซึ่งรองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวคว่ำ – บัวหงาย ซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น องค์ระฆังค่อนข้าง เพรียวหรือชะลูด ปากระฆังไม่ผายออกมากนัก ถัดจากองค์ระฆังเป็นส่วนที่เรียกว่าบัลลังก์และส่วนยอดเจดีย์ซึ่ง ประกอบด้วยแกนปล้องไฉน บัวฝาระมี ปล้องไฉนและปลียอด โดยมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ปรากฏทั้งสี่ด้าน ส่วนผังของวัดนั้นหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โบราณสถานที่ปรากฏอยู่ ประกอบด้วย
พระวิหาร ตั้งอยู่ส่วนหน้าของโบราณสถาน ก่อด้วยอิฐ ส่วนของผนังก่อเป็นซุ้มเข้าไปแบบช่องเว้นช่อง
เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ศิลปะสุโขทัย ก่อด้วยอิฐทั้งองค์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์ที่มีรูปลักษณ์โดเด่นเป็นพิเศษ คือ มีการทำซุ้มประดิษฐานองค์พระที่ฐานเจดีย์โดยรอบทั้งสี่ทิศ ฐานเจดีย์เป็นฐานสี่เหลี่ยม หน้ากระดานทำซุ้มลึกเข้าไปในผนังอย่างสวยงาม ถัดขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถา มีบัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันสามชั้น รับปากระฆังซึ่งมีขนาดที่ไม่ผายมาก องค์ระฆังค่อนข้างเพรียว ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัลลังก์ ส่วนของท้องไม้ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ ด้านบนเป็นแกนปล้องไฉน ซึ่งประดับลูกแก้วอกไก่สองแถว ต่อด้วยบัวฝาละมี ปล้องไฉน และปลียอด
วัดเจดีย์กลางทุ่ง (Wat Chedi Klang Thung)
ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีขนส่งกำแพงเพชร เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ภายนอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร บริเวณทุ่งเศรษฐีซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ ใกล้กับวัดซุ้มกอและป้อมทุ่งเศรษฐี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ เด่นบริเวณท้องทุ่ง โดยแลเห็นเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัวตูม เช่นเดียวกับ เจดีย์วัดกะโลทัย และ วัดวังพระธาตุ) ขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ อยู่ด้านหลังพระวิหาร แวดล้อมด้วยลานประทักษิณ เป็นเจดีย์ศิลปะแบบสุโขทัย ฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยม ลดหลั่นกัน 3 ชั้น ด้านบนมีฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นแว่นฟ้าย่อมุมไม้ยี่สิบ ซ้อนลดหลั่น 2 ชั้น โดยมีเรือนธาตุย่อมุมไม้ยี่สิบอยู่ด้านบน รองรับยอดเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ส่วนยอดนั้นได้ทลายลง มีการจัดผังวัดแบบ อุทกสีมา คือใช้แนวคูน้ำโดยรอบ เป็นอุทกสีมา มีโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ได้แก่ พระวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าของโบราณสถาน ปรากฏเฉพาะส่วนฐาน เพื่อแสดงขอบเขตของวัด ซึ่งเป็นผังที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย ส่วนอื่นๆได้ชำรุดเสียหายเกือบทั้งสิ้น จากการถูกขุดค้น เพื่อค้นหาพระเครื่องทุ่งเศรษฐี ภายในวัดเจดีย์กลางทุ่ง มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ
กำแพงป้อมทุ่งเศรษฐี (Walls of the fort Thungsetthi)
ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อย เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ อยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ ลักษณะเป็นป้อมปราการ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่ก่อด้วยศิลาแลงรูป สูงประมาณ 6 เมตร ยาวด้านละ 84 เมตร ด้านเหนือถูกรื้อทําลายตลอดแนว แต่ละด้านมีช่องประตู เข้าออกตรงบริเวณกึ่งกลางป้อม 4 ด้าน ด้านนอกก่อเป็นกําแพงสูง ด้านในของป้อมมีเชิงเทิน ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินติดต่อกันได้ ตอนบนสุดก่อเป็นรูปใบเสมา ใต้ใบเสมาทุกใบมีช่องอาจจะใช้เป็นช่องปีน ตรงมุมกําแพงทั้งสี่มุมทําเป็น ป้อมรูปสี่เหลี่ยมยื่นออกมา มีรูอยู่ติดกับพื้น ตอนล่างของแนวกําแพงมีช่องกุดทําเป็นวงโค้งยอดแหลมภายในบริเวณป้อมไม่ปรากฏ ร่องรอยสิ่งก่อสร้างอื่นใด
เมืองไตรตรึงส์ (Maung Trai Trueng)
ตั้งอยู่ที่บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ บนทางหลวงหมายเลข 1 สายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ห่างจากเมืองกำแพงเพชรไปทางใต้ตามถนนพหลโยธินประมาณ 18 กม. เลี้ยวซ้ายสู่วัดวังพระธาตุ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ตามตำนานสิงหนวัติกุมารมีว่า เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.1547 พระเจ้าไชยศิริ กษัตริย์เมืองเชียงรายได้อพยพผู้คนหนีภัยสงคราม มาสร้างเมืองไตรตรึงส์ ใช้เป็นเมืองชั่วคราว ต่อมาภายหลังเมื่อมีผู้อพยพลงมามากขึ้นเห็นว่าทำเลดีจึงได้สร้างเป็นเมืองใหญ่ ปัจจุบันยังพบซากกำแพงเมืองคูเมืองและพระเจดีย์เก่า ๆ อยู่มาก ลักษณะทั่วไปของเมืองไตรตรึงษ์เป็นเมืองที่ซากกำแพงเมืองยังปรากฏเห็นได้ชัดเจน ตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับแม่น้ำปิงขนาดกว้างประมาณ 450 เมตร ยาวประมาณ 800 เมตร มีทางเข้าสู่เมือง 2 ทาง ภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถานทางศาสนาหลายแห่ง วัดสำคัญในกำแพงเมืองมี 2 วัดเรียกว่า วัดเจ็ดยอด และวัดพระปรางค์ ภายนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้มีวัดขนาดใหญ่เรียกกันว่า วัดวังพระธาตุ ที่วัดนี้มีเจดีย์ทรงไทยหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นเจดีย์หลัก รอบเจดีย์มีเจดีย์รายทั้ง 4 ทิศ หลักฐานที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบลูกปัดหินสีขนาดเล็กภายในบริเวณวัดวังพระธาตุ นอกจากนี้ยังพบตะเกียงโบราณแบบโรมัน และชิ้นเครื่องเคลือบลายครามขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป
วัดวังพระธาตุ (Wat Wang Phra That)
ตั้งอยู่ที่ ถนนทางหลวงชนบท กพ. 1035 ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ทางทิศตะวันออกของเมืองไตรตรึงษ์ มีวังน้ำแม่ปิง ขนาดใหญ่ใกล้บริเวณวัด ที่พระเจดีย์ประธานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ คนในท้องถิ่นจึงเรียกกันว่า วัดวังพระธาตุ ภายในมีโบราณสถานสำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) ศิลปะสุโขทัย ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเห็นรูปทรงขององค์เจดีย์ได้ครบถ้วน เป็นเจดีย์ทรงดอกบัว บนฐานสี่เหลี่ยมลดหลั่น 5 ชั้น ฐานเรือนธาตุย่อมุม นับเป็นพระธาตุเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มี่สภาพสมบูรณ์มากองค์หนึ่งที่นับว่าใหญ่ที่สุดในเมืองกําแพงเพชร ด้านหน้าพระเจดีย์ มีพระวิหารฐานก่อด้วยอิฐ มีพระประธานประดิษฐานบนฐานชุกชี ด้านข้างพระอุโบสถมี ศาลท้าวแสนปม ซึ่งมีเรื่องราวในตำนานพื้นบ้านโบราณ ว่าเป็นผู้ก่อตั้ง เมืองเทพนคร
โบราณสถานนอกเมือง หรือ เขตอรัญญิก
วัดอาวาสใหญ่ (Wat Awat Yai)
ตั้งอยู่ที่ ถนนทางหลวง 101 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดขนาดใหญ่วัดหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลง ด้านหน้าเป็นวิหารฐานสูงมีทางขึ้น 3 ด้าน มีเจดีย์รายรอบ ด้านหน้าสุดนอกเขตกำแพงแก้วมีบ่อน้ำใหญ่ เรียก “บ่อสามแสน” เพราะน้ำในบ่อนี้ไม่เคยแห้ง ผังโบราณสถานจัดวางได้อย่างสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของวัดอาวาสใหญ่ โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วยพระเจดีย์ราย อยู่ส่วนหน้าสุดของวัด ขนาบเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระวิหารประธาน ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปฉาก มีพระเจดีย์ ข้างละแปดองค์ แต่ละฐานมีลักษณะแตกต่างกันไป ส่วนพระวิหารประธาน อยู่ส่วนหน้าของวัด ระหว่างฐานพระเจดีย์รายทั้งสอง ตั้งอยู่บนฐานทักษิณรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นทั้งสามด้าน หน้ากระดานฐานประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนบนฐานโดยรอบประดับด้วยราวกันตกศิลาแลง เช่นเดียวกับ วัดพระสี่อิริยาบถ ส่วนท้ายพระวิหาร มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนพระเจดีย์ประธาน อยู่ถัดจากพระวิหารประธาน เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ รูปทรงงดงาม ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานรูปแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปทำบัวแปดเหลี่ยมย่อมุม ชั้นบนสุดเป็นหน้ากระดานรูปแปดเหลี่ยมย่อมุมทรงสูง ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเหนือขึ้นไปนั้นได้ทลายลง บ่อศิลาแลง เดิมเป็นบ่อที่ใช้ในการขุดศิลาแลงขึ้นมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างวัด ภายหลังได้ใช้เพื่อเป็นที่เก็บน้ำ
วัดอาวาสน้อย (Wat Awat Noi)
ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดอาวาสใหญ่ ห่างกันประมาณ 500 เมตร จากทางแยกถนนสายกำแพงเพชร-สุโขทัย เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในกำแพงเพชร มีสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะฐานใหญ่อันเป็นที่ตั้งของวิหาร วิหารที่ปรากฏร่องรอยให้เห็น มีฐานกว้างถึง 25 เมตร ยาวถึง 115 เมตร นับว่าเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่สำรวจพบในกำแพงเพชร ตรงกลางวิหารมีเจดีย์ขนาดใหญ่ฐานสี่เหลี่ยมตั้งอยู่บนลานวิหาร มีขนาด กว้างด้านละ 14 เมตร บนฐานสี่เหลี่ยมเป็นฐานแปดเหลี่ยม เจดีย์ถูกขุดทลายแทบไม่เหลือหลักฐานให้เห็น ด้านตะวันออกบนฐานใหญ่ มีวิหารกว้าง 15 เมตร ยาว 41 เมตร มีมุขเด็จหน้าและหลัง เสาวิหารเป็นเสาสี่แถว 8 ห้อง และเสา 2 แถว หน้าและหลัง 2 ห้อง เสาศิลาแลงล้มเกือบหมด ด้านตะวันตกของเจดีย์บนฐานเดียวกันมีฐานวิหารอีกฐานหนึ่ง กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร เสาวิหารเป็น เสา 4 แถว 8 ห้อง และ 20 ห้อง มีเจดีย์รายรอบ อีก 17 ฐาน
ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ประธานหนึ่งองค์ ภายในวิหารมีแท่นพระ ซึ่งแต่เดิมเป็นแท่นพระประธาน นับว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดวัดหนึ่งในกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.2499 กรมศิลปากรขุดค้นในพระเจดีย์ศิลาแลงบนฐานวิหารใหญ่ ได้พบพระพุทธรูปต่างสมัยรวมกันอยู่มากมาย พร้อมพระเครื่องจำนวนมาก ในปัจจุบันวัดอาวาสน้อยยังถูกขุดค้นหาพระเครื่อง และสมบัติที่ฝังอยู่ตลอดเวลา ด้านหน้าวัด มีการขุดบ่อลูกรังเกือบถึงเขตวัด บ่อน้ำโบราณ ฐานเจดีย์บางส่วน ถูกขุดทำบ่อลูกรังไปสิ้น ราษฎรบุกรุกเข้าทำกิน ใกล้ฐานวิหาร มีการถากดายหญ้า เพื่อผลิตผลทางการเกษตร ตามประวัติเล่าต่อกันมาว่า กษัตริย์เมืองกำแพงเพชร หรืออาจเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร มีชายาหลายองค์ ชายา ได้สร้างวัดแข่งขันกัน ชายาองค์ใหญ่ สร้างวัดอาวาสใหญ่ ชายาองค์น้อย สร้างวัดอาวาสน้อย ติดๆกัน ทั้งสองวัดเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว วัดอาวาสน้อย เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ กว่าวัดอาวาสใหญ่ จากหลักฐานวิหารที่พบในวัดอาวาสน้อย
วัดช้างรอบ (Wat Chang Rop)
วัดช้างรอบ หรือชื่อเดิม วัดช้างล้อม เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ถนนเฉลิมราชย์ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยสุโขทัยตอนปลาย อยู่บนเนินดินภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลง มีลายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ 20-21 มีพระเจดีย์ใหญ่อยู่กลางลานวัด ที่ฐานทักษิณซึ่งมีรูปช้างครึ่งตัว ยืนอยู่โดยรอบองค์พระเจดีย์ มีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงล้อมอยู่โดยรอบ สูงประมาณเมตรครึ่ง โบราณสถานภายในวัด ประกอบด้วย
พระเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ รูปแบบเจดีย์นั้นปรับปรุงจากวัดช้างล้อม จ.สุโขทัย อีกทีหนึ่ง ตั้งอยู่บนฐานรูปแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานกลม ดั้งเดิมประดับด้วยปูนปั้น เรื่องราวพุทธประวัติ และรูปเทวดา กินรี และหงษ์ ปัจจุบันได้ชำรุดจนหมด ส่วนบริเวณยอดเจดีย์และองค์ระฆังได้ทลายลง คงเหลือเพียงฐานล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง และมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณทั้งสี่ด้าน ชั้นมาลัยเถาปรากฏอยู่รอบทั้งสี่ด้านของพระเจดีย์ มีซุ้มประตูทรงเจดีย์ยอดระฆัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดช้างรอบใช้เป็นทางขึ้นลง เชิงบันไดมีรูปสิงห์และทวารบาล บริเวณหน้ากระดานของฐานทักษิณ ประดับด้วยช้างปูนปั้นครึ่งตัว เป็นช้างทรงเครื่องแบบของพระมหากษัตริย์ ประดับอยู่โดยรอบฐานทั้งสี่ด้าน จำนวน 68 เชือก ระหว่างช้างแต่ละเชือกประดับด้วยลายพฤกษาที่ปั้นขึ้นอย่างอย่างละเอียดสวยงาม อยู่โดยรอบฐาน เป็นวัดที่มีการประดับช้างปูนปั้น เช่นเดียวกับ วัดพระแก้ว
พระวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์ประธาน สร้างด้วยศิลาแลง ภายในยังปรากฏแท่นอาสนสงฆ์ และฐานชุกชี มีมุขเด็จด้านหน้าและหลังพระวิหาร
บ่อศิลาแลง เป็นบ่อที่ขุดเพื่อนำศิลาแลง ไปใช้ก่อสร้างวัด ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหาร
วัดพระนอน (Wat Phra Non)
ตั้งอยู่ที่ ถนน อบจ. กพ.1040 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง เป็นวัดขนาดใหญ่ อยู่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 หรือยุคสุโขทัยตอนปลาย สิ่งก่อสร้างภายในวัดล้วนใช้ศิลาแลงเป็นหลัก มีกำแพงศิลาแลงปักล้อมรอบวัดไว้ทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม มีห้องอาบน้ำและศาลาน้ำ ฐานและเสาเป็นศิลาแลง มีทางเท้าปูด้วยศิลาแลง มีโบสถ์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้า ด้านหลังเป็นวิหารพระนอน ก่อสร้างด้วยเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ หลักฐานทางประติมากรรมที่พบ คือ ใบเสมารูปเทพพนม พาลีกับทรพี สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในสมัยอยุธยา ภายในวัดพระนอน มีโบราณภายในวัด ได้แก่
พระอุโบสถ เป็นโบราณสถานที่อยู่ด้านหน้าสุดของวัด สิ่งปลูกสร้างปรากฏเพียงฐานพระอุโบสถ ซึ่งมีมุขอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รอบฐานเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ มีฐานเสมาอยู่โดยรอบพระอุโบสถ ส่วนเสมานั้นได้เก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร โดยเป็นเสมาหินชนวนที่แกะสลักลายพรรณพฤกษาและรามเกียรติ์ ไว้อย่างชัดเจนสวยงาม บริเวณภายในพระอุโบสถ มีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยม ส่วนด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นแท่นชุกชี
พระวิหาร ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เดิมทีมีพระนอน (ปางไสยาสน์) ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร จึงเรียกกันว่า วัดพระนอน ปัจจุบันได้ชำรุดจนหมด ภายในมีเสาศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ โกลนจากศิลาแลงท่อนเดียวทั้งต้น บ่งบอกถึงความสามารถในการก่อสร้างของช่างชาวกำแพงเพชรแต่โบราณได้เป็นอย่างดี ส่วนบนของเสายังคงปรากฏช่องสำหรับสอดขื่อและอะเส ซึ่งใช้ในการรับโครงหลังคา ผนังพระวิหารดูเป็นเอกลักษณ์ของวัดพระนอนด้วยหน้าต่างช่องลม ก่อด้วยศิลาแลงช่องเว้นช่อง
พระเจดีย์ประธาน อยู่ถัดจากพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังองค์ใหญ่ ฐานล่างสุดเป็นฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยม ต่อด้วยฐานแปดเหลี่ยม ลดหลั่นเป็นชั้นๆ รองรับชั้นมาลัยเถา ด้านบนเป็นองค์ระฆัง และบัลลังก์ ส่วนเหนือขึ้นไปได้ชำรุดลง โดยนำศิลปะสุโขทัย มาประยุกต์ใช้จนเป็นรูปแบบกำแพงเพชร
วัดพระสี่อิริยาบถ หรือ วัดพระยืน (Wat Phra Si Ariyabot)
วัดพระสี่อิริยาบถหรือวัดพระยืน ตั้งอยู่ที่ ถนน อบจ. กพ. 1040 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง อยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 เป็นวัดขนาดใหญ่และมีโบราณสถานที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มณฑปพระสี่อิริยาบถ ซึ่งเป็นรูปแบบเหมือนดังที่พบที่ วัดเชตุพนและวัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย จากจารึกลานเงินของพระมหามุนีรัตนโมลี สมเด็จพระสังฆราชเมืองกำแพงเพชรกล่าวถึง พระยาสอยหรือเจ้าแสนสอยดาวเสวยราชย์ในเมืองกำแพงเพชร และสมเด็จพระมหามุนีรัตนโมลีได้สร้างวัดนี้ถวาย ครั้งแรกเรียกว่า วัดพระยืน เพราะเห็นพระยืนเพียงองค์เดียว ต่อมาเรียกพระสี่อิริยาบถ เพราะว่ามีทั้งสี่ด้าน คือ ยืน เดิน นั่ง นอน มีพระพุทธรูปในอริยาบถที่คงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และมีความงดงามทางด้านศิลปะ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์
เป็นวัดที่ทำจากศิลาแลง มีมณฑปจตุรมุขเป็นที่ประทับของพระพุทธรูปขนาดใหญ่มี สี่อริยาบถ พบหลักฐานว่ามีการลงรักปิดทองทั้งองค์ ลักษณะสกุลช่างกำแพงเพชรในศิลปะสุโขทัย มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้า วัดเช่นเดียวกับวัดพระนอน กำแพงเป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม 4 ด้าน ด้านหน้าวัดมีวิหารที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ยกฐานสูง 2 เมตร กว้าง 17 เมตร ยาวกว่า 29 เมตร นับเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์ เสาวิหารมี 4 เสา เป็น 5 ห้อง 2 แถว รวม 7 ห้อง มีเสาลูกกรง เป็นศิลาแลงเหลี่ยม และมีทับหลังบนมุขหน้าวิหาร สิ่งสำคัญของวัดได้แก่ มณฑปจัตุรมุข แต่ละทิศประดิษฐาน พระพุทธรูป 4 ปาง คือ เดิน นั่ง ยืน และนอน อยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียง พระยืนขนาดใหญ่ที่สวยงาม พระพักตร์เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แบบกำแพงเพชรคือ พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม โบราณสถานสำคัญภายในวัด ประกอบด้วย
พระมหาวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าสุด พระวิหารตั้งอยู่บนฐาน 2 ชั้น ฐานไพทีชั้นล่าง ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง เป็นฐานแบบบัวลูกแก้วอกไก่ รอบลานประทักษิณ ประดับด้วยราวลูกกรงศิลาแลงโดยรอบ ฐานวิหารชั้นบน มีมุขเด็จทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ด้านบนมีแท่นอาสนะสงฆ์ และฐานชุกชี สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
มณฑปพระสี่อิริยาบถ เป็นมณฑปแบบจัตุรมุขขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ ใช้แทนเจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร ล้มรอบด้วยกำแพงแก้ว รอบมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นทั้งสี่ด้าน ประกอบด้วย อิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย) อิริยาบถเดิน (ปางลีลา) องค์พระได้ชำรุดไปมาก มีเพียงพระอูรุปรากฏให้เห็น อิริยาบถนั่ง (ปางมารวิชัย) สภาพชำรุดมากเหลือเพียงส่วนของฐานและอิริยาบถนอน (ปางไสยาสน์) สภาพชำรุดหมด จนไม่เห็นองค์พระโดยปัจจุบันเหลือเพียงอิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย) พระพักตร์อิ่มเอิบ พระโมลีขมวดใหญ่ ที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่าอิริยาบถอื่นๆ
พระเจดีย์ประจำมุม เป็นพระเจดีย์ ทรงปราสาทยอดระฆัง ตั้งอยู่มุมทั้งสี่ของมณฑป ต่อเนืองกับกำแพงแก้ว
บ่อตัดศิลาแลง ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด เป็นบ่อที่ใช้ในการตัดศิลาแลงให้เป็นรูปทรงต่างๆ ก่อนที่จะนำไปใช้ในการสร้างวัด
วัดสิงห์ (Wat Singha)
ตั้งอยู่ที่ ถนน อบจ. กพ. 1040 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 (สมัยสุโขทัยตอนปลาย) อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ใกล้กับวัดพระสี่อิริยาบถ ไปทางทิศเหนือประมาณ 100 เมตร โบราณสถานส่วนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้าง 2 สมัยคือสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ผังรวมของวัดแบ่งเขตพุทธาวาส ให้อยู่ในกลุ่มกลาง ล้อมรอบด้วยเขตสังฆาวาส หรือกุฏิสงฆ์ โดยมีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มทั้ง 4 ด้าน เป็นประธาน ด้านหน้าเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ ยกฐานประทักษิณสูง บนฐานประทักษิณนี้ประดิษฐานพัทธสีมา ไว้ทั้งแปดทิศ มุขด้านหน้าของฐานประทักษิณ มีรูปสิงห์รูปนาคประดับ ภายในวัดสิงห์ มีโบราณสถานที่ประกอบด้วย
กำแพงศิลาแลง สร้างด้วยแผ่นที่โกลนจากศิลาแลง ปักเรียงกันเป็นแนวกำแพง โดยมีทับหลังอยู่หลังกำแพงอีกที บางส่วนมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
พระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าสุดของวัด ตั้งอยู่บนฐานทักษิณขนาดฐานหน้ากระดานล่างโดยรอบเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ มีการย่อมุมด้านหน้าและหลังพระอุโบสถ บันไดทางขึ้นไม่เหมือนทั่วไปที่ยื่นออกมาจากฐาน แต่จะเป็นบันไดที่สร้างเข้าไปในฐาน ที่ลานประทักษิณมีเสมาหินชนวนประดับอยู่โดยรอบ ด้านหน้าพระอุโบสถ มีทวารบาล นาค และสิงห์ซึ่งโกลนจากศิลาแลง ภายในพระอุโบสถ พบพระประธานซึ่งประดิษฐานบนฐานชุกชี ผิวขององค์พระได้กะเทาะออกไป คงเหลือแกนในที่โกลนจากศิลาแลง ด้านข้างพระประธานปรากฏแนวที่เป็นอาสนสงฆ์ จึงทำให้ทราบว่าเดิมเคยใช้เป็นพระวิหารมาก่อน ซึ่งเป็นแบบแผนของสุโขทัยที่นิยมการสร้างพระวิหารอยู่ด้านหน้า แต่ภายหลังได้ใช้เป็นพระอุโบสถตามแบบแผนอยุธยา โดยมีเสมาที่ประดับอยู่โดยรอบ บางใบประดับลวดลายด้วยศิลปะแบบอยุธยา ส่วนเสารองรับเครื่องบนนั้นเป็นเสารูปแปดเหลี่ยม
พระเจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ก่อด้วยอิฐ ด้านล่างเป็นฐานบัวสี่เหลี่ยมลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ บริเวณกึ่งกลางของแต่ละด้าน มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ยื่นออกมาจากฐานล่าง ทั้ง 4 ด้าน ส่วนบนเป็นหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยม ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปได้ทลายลงไป
วัดกรุสี่ห้อง (Wat Kru Si Hong)
ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยที่สุดในยุคกำแพงเพชรรุ่งเรืองสุดขีด คือราวพุทธศักราช 1900 – 2000 มีหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนวัดอื่นๆในเมืองกำแพงเพชร มีเนื้อที่วัดมากกว่าวัดอื่นๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร คือกว่า 64,200 ตารางเมตร มีวิหารขนาดใหญ่ 1 หลังและ ขนาดย่อม 2 หลัง มีเจดีย์ขนาดย่อมเรียงรายอยู่ด้านหน้าวัด ถึง 13 องค์ มีกุฏิที่มีลักษณะแปลก 8 หลัง มีศาลาโถง 3 หลัง มีเวจคือส้วม หรือฐาน อยู่มากมายกว่า 8 ที่ มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ วางในทิศที่เหมาะสมในทุกทิศ 5 บ่อ และบ่อขนาดย่อม อยู่บนอาคารวิหาร อีก 2 บ่อ
วัดกรุสี่ห้อง มีพระวิหารขนาดใหญ่ ที่มีรูปทรงและสถาปัตยกรรมที่งดงาม สัดส่วนใช้สอยของห้องต่างๆ ในวิหารมีความสมดุลยิ่ง พื้นของวิหารปูด้วยหินชนวนอย่างงดงาม กว้างขวางและแปลกกว่าวัดอื่นๆ ในเมืองกำแพงเพชร บริเวณที่ตั้งพระประธานมีขนาดใหญ่มาก มีพระพุทธรูปโกลนศิลาแลง ขนาดใหญ่น้อย นอนเรียงรายทั่วพื้นที่ บันไดด้านหน้ามีขนาดใหญ่เพียงบันไดเดียว บันใดด้านหลังมี 2 บันได
ในเขตพุทธาวาส มีกำแพงแก้วสูงใหญ่ขนาดท่วมหัวคน สูงและงดงามกว่าทุกวัด ด้านหลังวิหารไม่มีเจดีย์ หรือมณฑป เหมือนวัดทั่วไป แต่เจดีย์ขนาดใหญ่จะไปอยู่ที่หน้าวัดถึง 13 องค์ เรียงรายเป็นหน้ากระดาน สิ่งที่ทันสมัยที่สุดคือการมีส้วม อยู่ในตัวอาคารของศาลา ที่พักคนเดินทาง หรือศาลาสำหรับภิกษุสงฆ์ ไม่เคยพบเห็นลักษณะของส้วมอยู่ในอาคาร และ ไม่เคยพบวัดที่มีลักษณะเช่นนี้ ที่แห่งใดในเมืองกำแพงเพชร หรือที่อื่นๆในเมืองโบราณ จากหลักฐานพบว่าวัดกรุสี่ห้อง มีพระภิกษุ จำพรรษาอยู่จำนวนมากในสมัยนั้น เจ้าอาวาสต้องเป็นพระที่มีสมณะศักดิ์สูง เพราะมีกุฏิที่พักขนาดใหญ่ และยังพบบ่อน้ำลึกนับ 10 เมตรอยู่บนอาคารที่มีหลังคา
วัดช้าง หรือ วัดนาควัชรโสภณ (Wat Chang or Wat Nakwatcharasophon)
วัดช้าง หรือ วัดนาควัชรโสภณ พระอารามหลวงชั้นตรี อยู่ที่ 32 ถนนกำแพงเพชร – สุโขทัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง กำแพงเพชร โทร. 055-711680, 712964 เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย อยู่ภายนอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีคูน้ำล้อมรอบบริเวณวัด ภายในมีกำแพงก่อด้วยศิลาแลง มีเนื้อที่ 62 ไร่ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2513 ผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) เป็นประธานสงฆ์ ในพรรษกาล 2546 มีพระภิกษุ 25 รูป สามเณร 110 รูป อารามิกชน 10 คน มี พระราชสารโมลี (เฉลิม วีรธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส พระครูโสภณวัชรคุณ (สุขกรี รตนโชโต) เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส มี นายจันทร์ รอดพันธ์ และ นายสมบูรณ์ สุขศรี เป็นไวยาวัจกร ปัจจุบันเป็นสำนักวิปัสนาของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ
วัดนาควัชรโสภณ ได้รับการยกย่องให้เป็นวัดอุทยานการศึกษา และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. 2538 และในปีพุทธศักราช 2539 เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกฐานะวัดนาควัชรโสภณ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2539
ประวัติความเป็นมา วัดนาควัชรโสภณ เดิมชื่อ วัดช้าง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ประมาณหลังพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นวัดที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่หน้าเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงข้ามกับวัดเจ้าเมือง กำแพงเพชร เป็นวัดอยู่ในกลุ่มอรัญญิกด้านทิศตะวันออก รูปแบบสภาพแวดล้อมทั้งหมดได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยลพบุรีหรือขอม นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของถนนพระร่วงตัดผ่านหน้าวัดนี้ด้วย วัดช้างนับเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาประมาณ 700 ปีเศษ ลักษณะสภาพโดยทั่วไปของกลุ่มโบราณสถานจะถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 509 เมตร มีเนื้อที่ตั้งวัด 62 ไร่ การคมนาคมสะดวก บริเวณวัดสะอาด ร่มรื่นด้วยต้นไม้ สวยงามตามธรรมชาติ
วัดช้าง เป็นวัดที่ร้างจากพระสงฆ์มาประมาณ 400 – 500 ปี ครั้นลุถึงปีพุทธศักราช พ.ศ. 2509 พระวิชัย ปสนฺโน
1 ได้จาริกธุดงค์มาปักกลดจำพรรษาอยู่ ณ บริเวณ เจดีย์โบราณสถานวัดช้าง โดยในช่วงดังกล่าวได้ปฏิบัติธรรมและเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธศานิกชนแถบถิ่นนี้เป็นอย่างดี จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และได้อุปัฏฐากบำรุงท่านเป็นลำดับ ต่อมา จ.ส.อ. ศักดิ์ และนางสังเวียน เดชานนท์ มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินมอบถวายให้สร้างวัด และภายหลังมีผู้ซื้อที่ดินถวายเพิ่มเติมอีก รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น 76 ไร่ 1 งานเศษ
2 จากนั้นได้เริ่มสร้างเสนาสนะที่พักอาศัย สาธารณูปการที่จำเป็นต่างๆ มีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณรที่มาอยู่จำพรรษาที่วัดช้างแห่งนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2511 ได้ขออนุญาตสร้างวัด และเริ่มก่อสร้างอุโบสถ โดยได้รับความอุปถัมภ์จาก พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร และได้สร้างตำหนักทรงธรรม-สังฆราชานุสรณ์ เพื่อเตรียมรับเสด็จ พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) ซึ่งได้เสด็จมาทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ
ในปี พ.ศ. 2513 พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฐายี) ได้ประทานชื่อจากวัดช้าง (เดิม) เป็น “วัดนาควัชรโสภณ” และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2513 มีพื้นที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 32 ถนนราชดำเนิน 2 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จึงนับได้ว่า “วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)” เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แห่งแรกในจังหวัดกำแพงเพชร
พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เป็นพระสุปฏิปันโนรักษาข้อวัตรปฏิบัติตามแนวพระกัมมัฏ ฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอันมาก นอกจากการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ท่านยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาด้านสาธารณูปการต่างๆ ภายในวัด อีกทั้งได้ขยายวัดและสำนักสงฆ์ออกไปสู่ตำบลและอำเภอต่างๆ อีกหลายแห่ง ด้านการคณะสงฆ์ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้รับความเมตตาจากพระเถระผู้ใหญ่ให้การอุปถัมภ์สนับสนุน อาทิ พระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺตเถโร)
3 วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม, พระอริยเมธี (ปฐม อุดมดี) และ พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม ร่วมกับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และอุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างวัดและสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรอีกหลายแห่ง จนสามารถตั้งเป็นเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร – พิจิตร (ธรรมยุต) โดย พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน)เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต) เป็นองค์ปฐม วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้มรณภาพลงด้วยโรคกลัวน้ำ รวมสิริอายุ 56 ปี 3 เดือน นับว่าวงการคณะสงฆ์ได้สูญเสียพระสังฆาธิการที่มีความคิดริเริ่มพัฒนา และวางรากฐานของงานคณะสงฆ์ธรรมยุตในเขตภาคนี้ให้เป็นปึกแผ่นไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
ต่อมา พระมหาสมจิตต์ อภิจิตฺโต กรรมการเลขานุการ มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ที่ไปพำนักจำ พรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยความอุปถัมภ์สนับสนุนจากพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ พระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม)
4 วัดบวรนิเวศวิหาร และ นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พาคณะญาติโยมผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม อาคารที่พักพระภิกษุสามเณร อาคารหอสมุด และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ศึกษา และปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรให้เป็นที่สัปปายะยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังได้เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น เพื่ออบรมเยาวชนให้ได้รับความรู้ด้านศีลธรรม หลักธรรมตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนจริยธรรมอันดีงาม และได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วชิรกุญชร มัธยม เพื่อการศึกษาวิชาสามัญศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย และในช่วงเดียวกันนี้ พระครูโสภณธรรมวัชร์ (เฉลิม วีรธมฺโม)
5 ได้มาดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ และ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 พร้อมกับดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต)สืบต่อจากพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในการพระราชทานเพลิงศพ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) และเสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอาคารสมเด็จพระญาณสังวร หอสมุดสมเด็จพระญาณสังวร และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาได้มีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่และก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างภายในวัดนาควัชรโภณ เป็นลำดับ คือ พ.ศ. 2535 ก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี, พ.ศ. 2536 ก่อสร้างอาคาร 80 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช วิหารพระไพรีพินาศ, อาคารที่พักพระภิกษุ-สามเณร เป็นต้น รวมงบประมาณการพัฒนาด้านสาธาณูปการ และการจัดการศึกษาแผนกต่างๆ ของสำนักเรียนวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากมูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยการบริจาคร่วมของพุทธศาสนิกชน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 60,477,476.- บาท (หกสิบล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยเจ็ดสิบหกบาทถ้วน)
ปัจจุบัน วัดนาควัชรโสภณ ใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญศึกษา และยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน แห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นสำนักเรียนที่ใช้เป็นสถานที่สอบธรรมชั้นนวกะภูมิและสอบธรรมสนามหลวง สำหรับพระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกายมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ในเขตนี้อีกด้วย จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดอุทยานการศึกษา และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.2538 และในปี พ.ศ.2539 เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดนาควัชรโสภณ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2539
พ.ศ. 2542 พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ ได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็น เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร-พิษณุโลก-สุโขทัย-อุตรดิตถ์-ตาก (ธรรมยุต)
พ.ศ. 2543 พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ที่ “พระราชสารโมลี” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543 ปัจจุบันวัดช้างเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ อีกทั้งเป็นที่ตั้งของ โรงเรียนปริยัติธรรม และ พระตำหนักสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช โบราณสถานภายในวัด ประกอบด้วย
พระวิหาร เป็นพระวิหารโถงทรงจัตุรมุข มุขด้านหน้าทำเป็นโถงยาว กว่ามุขด้านข้างและมุขด้านหลัง ผนังก่อสูงมาเพียงเล็กน้อย เสารองรับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยม เหลือเพียงส่วนฐานและเสารับเครื่องบน ด้านหลังประดิษฐานองค์พระประธานบนฐานชุกชี
พระเจดีย์ประธาน เป็นพระเจดีย์ทรงระฆัง ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ที่หน้ากระดานประดับช้างปูนปั้น เช่นเดียวกับ วัดช้างรอบ และ วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองกำแพงเพชร เป็นช้างครึ่งตัว จำนวน 18 เชือก เป็นช้างที่มีขนาดใหญ่สุดของกำแพงเพชร ส่วนหัวช้างค่อนข้างชำรุดบ้าง บริเวณลำตัวสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ด้านหลังพระเจดีย์ พระเจดีย์ก่อด้วยอิฐมอญทั้งองค์ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมลดหลั่นกันไป ด้านบนเป็นชั้นมาลัยเถา มีบัวถลาอยู่สามชั้น รองรับองค์ระฆัง เหนือสุดเป็นบัลลังก์ ส่วนยอดนั้นทลายลง
เจดีย์รายสามองค์ อยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ที่สร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา โดยมาลัยเถาที่รับองค์ระฆัง เป็นแบบมาลัยลูกแก้วสามชั้นศิลปะอยุธยา
กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง อยู่โดยรอบพระเจดีย์ประธาน แนวกำแพงแก้วต่อเนื่องมายังส่วนหลังของพระวิหาร
พระอุโบสถ จะอยู่นอกคูน้ำด้านทิศใต้ ปัจจุบันเหลือแต่ฐานก่อด้วยศิลาแลง
วัดฆ้องชัย (Wat Kong Chai)
เป็นวัดขนาดใหญ่วัดหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมืองมรดกโลกตั้งอยู่ระหว่างทางออกทั้งสองด้านของอุทยานประวัติศาสตร์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง คือทางด้านทิศใต้กับทิศตะวันตก นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันตกปรากฏบ่อศิลาแลงขนานไปกับแนวกำแพงของวัด ด้านหลังของวัดอยู่ระหว่าง วัดพระนอนกับวัดพระสี่อิริยาบถ โดยมีถนนคั่นกลางเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจที่สุดภายในวัดคือ มหาวิหารที่สูงกว่าทุกวัดในเขตอรัญญิก คือเป็นอาคารรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานล่างก่อเป็นฐาน หน้ากระดานมีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ฐานหน้ากระดานล่างของวัดฆ้องชัย แตกต่างจากแห่งอื่นๆคือทำเป็นหน้ากระดานสูงถึง 2.10 เมตร นับว่าเป็นฐานเขียงหรือฐานหน้ากระดาน ของอาคารที่สูงที่สุดเท่าที่พบในเขตเมืองกำแพงเพชร มีบันไดขึ้นสองทาง ฐานวิหารข้างบนทำเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีมุขเด็จหน้าหลัง ห้องโถงของพระวิหารมีขนาด 7 ห้อง แต่เมื่อรวมมุขทั้งหน้าและหลังแล้ว มี 9 ห้อง เป็นอาคารขนาดใหญ่มาก เสารับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลง แปดเหลี่ยม บริเวณชานชาลามุขหน้าเดิมประดับด้วยมกร(อ่านว่ามะกอน ) สัตว์ในนิยายคือมังกร เป็นมกร ดินเผาหรือมกรสังคโลก ซึ่งเนื่องจากการขุดแต่งในปี พ.ศ.2525 ได้พบชิ้นส่วนของมกรจำนวนมากในบริเวณนี้ ซึ่งสามารถประกอบเป็นตัวมกรได้เกือบสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันตัวมกรแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร บนพระวิหารมีฐานพระประธานที่ใหญ่มาก แต่ไม่มีร่องรอยของพระประธานอยู่เลย
ทำไมเรียกชื่อว่าวัดฆ้องชัยนั้น ไม่มีหลักฐานเหลืออยู่ อาจสันนิษฐานว่าได้พบฆ้องขนาดใหญ่ในบริเวณวัดจึงเรียกขานนามของวัดแห่งนี้ว่าวัดฆ้องชัย
เจดีย์ประธานตั้งอยู่ด้านหลังของวิหาร ในแกนทิศทางเดียวกันเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกาหรือทรงโอคว่ำศิลปะสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมและฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมที่หลดหลั่นซ้อนกันขึ้นมา ฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยมรองรับชั้นมาลัยที่ทำเป็นบัวถลา 3 ชั้น ปัจจุบันองค์ระฆังและส่วนยอดหักพังจัดเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม องค์ระฆังเล็กทำให้รูปทรงของเจดีย์สูงเพรียว ซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ในเมืองกำแพงเพชร ด้านหลังเจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายขนาดเล็ก 4 องค์ เหลือเพียงแค่ฐานรูปทรงเดียวกับเจดีย์ประธาน ทั้งหมดเป็นเขตพุทธาวาส ซึ่งเป็นเขตที่ทำสังฆกรรม มีกำแพงกั้นระหว่างเขตพุทธาวาสกับเขตสังฆาวาส เขตสังฆาวาส คือบริเวณที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง เช่นศาลา กุฏิ บ่อน้ำ และเวจกุฎี (ห้องส้วม) ที่วัดฆ้องชัย มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง ยาว ประมาณ 4 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตรแต่ไม่มีน้ำอยู่เลย บ่อน้ำอยู่ในบริเวณกุฎี หลังวัดมีศาลาขนาดใหญ่อยู่สองศาลา ต่อกัน มีห้องน้ำ ห้องส้วมอยู่ในอาคารซึ่งนับได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ก้าวหน้ามาก เป็นภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ของกำแพงเพชร ที่ทำให้ห้องส้วมและห้องน้ำและไม่มีกลิ่นแม้จะอยู่ในอาคารก็ตาม เมื่อสมัยที่กำแพงเพชรยังไม่ถูกทิ้งร้าง วัสดุที่นำมาก่อสร้าง เป็นศิลาแลงทั้งหมด มาเป็นแกนกลาง ที่เมืองกำแพงเพชร ได้พบร่องรอยการตัดศิลาแลงขึ้นมาใช้ในทุกวัด ที่เห็นชัดเจนในบริเวณ หน้าวัด พระสี่อิริยาบถ
วัดนาคเจ็ดเศียร (Wat Nak Seven Headed)
วัดนาคเจ็ดเศียรเป็นหนึ่งในกลุ่มวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อม ซึ่งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศเหนือหรือบริเวณอรัญญิก อยู่ห่างจาก กําแพงเมืองด้านทิศเหนือออก ไปประมาณ 500 เมตร ซึ่งบริเวณนี้นับ เป็นเขตโบราณสถานที่สําคัญ เพราะมีวัดอยู่มากกว่า 40 วัด เช่น วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่ อิริยาบท วัดฆ้องชัย วัดสิงห์ วัดกําแพงงาม วัดช้างรอบ วัดนาคเจ็ดเศียร
วัดกำแพงงาม (Wat Kamphang Ngam)
เป็นวัดขนาดใหญ่วัดหนึ่ง ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ส่วนที่สำคัญที่สุด คือมีกำแพงศิลา แลงที่มั่นคงและงดงามอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จึงเรียกกันโดยสามัญว่า วัดกำแพงงามเพราะลักษณะของกำแพงงามนักส่วนชื่อเดิมของวัด ไม่มีผู้ใดทราบเช่นเดียวกับวัดอื่นๆ
แผนผังบริเวณวัด เป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงศิลาแลงโดยรอบทั้ง 4ด้าน เขตพุทธาวาสมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ส่วนเขตสังฆาวาสเป็นบริเวณด้านหลัง และด้านข้างของพุทธาวาส เขตสังฆาวาสหมายถึงเขตที่พระภิกษุอยู่อาศัย ในสมัยโบราณแบ่งเขตกันอย่างชัดเจนเหมือนกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการแบ่งสัดส่วนเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสกันอย่างเด็ดขาด วิหารก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขหน้า หลัง ลักษณะของฐานวิหารเป็นลักษณะบัวลูกแก้วอกไก่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่พบกันทั่วไปในเมืองกำแพงเพชร
เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงล้วน องค์ระฆังและส่วนยอดหักพัง ส่วนที่ยังเหลือประกอบด้วยฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย รองรับชั้นมาลัยเถาที่เป็นบัวถลาสามชั้น ลักษณะเจดีย์ประธานของวัดกำแพงงาม จึงเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานสูงเช่นเดียวกับวัดสิงห์ แต่ฐานที่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเพื่อรองรับส่วนยอดเป็นฐานสี่เหลี่ยมมิใช่ฐานแปดเหลี่ยมรูปแบบของฐานสี่เหลี่ยมสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนฐานแปดเหลี่ยม ด้านหน้าและด้านหลังของเจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายรวม เจ็ดองค์ ส่วน อุโบสถตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก
วัดกะโลทัย (Wat Kalothai)
เป็นวัดที่ตั้งอยู่บริเวณนอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร บริเวณฝั่งเมืองกำแพงเพชร สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ในยุคเดียวกับการสร้างเมืองนครชุม ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือเป็นวัดที่ได้เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของกองทัพของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งยกทัพไปตีเมืองเหนือ วัดกะโลทัยมีโบราณสถานที่โดดเด่น คือเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เช่นเดียวกับ วัดเจดีย์กลางทุ่ง และ วัดวังพระธาตุ ภายในมีโบราณสถานที่ยังปรากฏอยู่ ประกอบด้วย
พระวิหาร ที่เหลือเฉพาะส่วนฐาน โดยเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ตามคตินิยมของสุโขทัย
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ ทรงดอกบัวตูม เป็นเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์สวยงาม ตั้งอยู่โดดเด่นเป็นประธานของวัด ฐานเจดีย์ก่อเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมด้วยศิลาแลง ลดหลั่นกันขึ้นไป 4 ชั้น ชั้นที่ 4 นั้นก่อด้วยอิฐ โดยก่อเป็นท้องไม้ที่ค่อนข้างสูง ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่สองแถบ รองรับชั้นแว่นฟ้า ที่ย่อมุมไม้ยี่สิบ ซ้อนกันสองชั้น โดยชั้นบนเป็นเรือนธาตุ ซึ่งย่อมุมเหมือนชั้นแว่นฟ้าเช่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นยอดเจดีย์ทรงดอกบัวตูม และปล้องไฉน ซึ่งได้ทลายลงบางส่วน
วัดป่าแลง (Wat Pa Laeng)
เป็นวัดขนาดกลางมีเนื้อที่ 21,700 ตารางเมตร มีบ่อแลงโดยรอบ จึงเรียกกันตามชื่อสามัญว่าวัดป่าแลง ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญ ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม วิหาร 2 หลัง เจดีย์ราย 9 องค์ บ่อน้ำ 5 บ่อน้ำ บ่อศิลาแลง 2 บ่อ มีลานปูลาดด้วยศิลาแลง สันนิษฐานตามลักษณะสถาปัตยกรรมว่า สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20
ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีวัดร้างที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างมากมายนับร้อยวัด วัดป่าแลงเป็นวัดหนึ่งที่อยู่หน้าวัดหมาผี ได้รับการบูรณะและตกแต่งอย่างงดงามถูกต้องตามหลักการและนับว่าสมบูรณ์ที่สุดโดยมีข้อมูลอย่างครบถ้วน นับว่าน่าศึกษายิ่งนัก
วัดป่าแลงนี้มีวิหารขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มี หกห้องแต่ฐานวิหารต่ำมาก น่าจะสร้างก่อนวัดอื่นๆในบริเวณเดียวกัน พระประธานไม่มี คงเป็นพระศิลาแลงที่ถูกทำลายเพื่อหาสมบัติ ที่ตนเองไม่ได้สะสมไว้ ฐานพระขนาดใหญ่งดงามได้สัดส่วน ด้านหลังเป็นเจดีย์ประธานทรงลังกาฐานแปดเหลี่ยม อันเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบของกำแพงเพชรโดยแท้ นอกกำแพงแก้วยังมีวิหารอีกหลังหนึ่ง หรืออาจเป็นโบสถ์ ขนาดเล็กมาก หรืออาจเป็นวัดเล็กๆอีกวัดหนึ่ง ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน มีเจดีย์ราย อยู่ 9 องค์ บ่อน้ำขนาดใหญ่ 5 บ่อ เพราะสภาพของอรัญญิก แล้งน้ำ มีบ่อศิลาแลงที่มีร่องรอยการตัดแลงออกไป ขนาดใหญ่ 2 บ่อ ที่น่าแปลกคือมีลาน ที่ปูด้วยศิลาแลง เกือบทั้งบริเวณวัด อาจเป็นที่มาอีกชื่อหนึ่งของวัดป่าแลง
สิ่งที่ขุดค้นพบที่วัดป่าแลง นอกจากพระเครื่องและพระบูชาจำนวนมากแล้ว ยังพบกระเบื้องดินเผาขนาดใหญ่ สำหรับมุงหลังคาตกอยู่เกลื่อนกลาด มีครกบดยา ตะคันดินเผาสำหรับจุดประทีปโคมไฟ
สิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดของวัดป่าแลงคือ มีเจดีย์ทรงต่างๆ ที่แตกต่างกันแต่ละยุคสมัยถึงสามแบบคือ 1.เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงลังกาฐานแปดเหลี่ยมรูปทรงงดงาม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมของกำแพงเพชร แท้ๆ อาจหาชมองค์ที่สมบูรณ์ได้ที่วัดพระธาตุ ที่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
2. เจดีย์รายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมสุโขทัย ยังมีหลักฐานให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน
3. เจดีย์รายทรงระฆังคว่ำตามรูปแบบของอยุธยา ยังอยู่ในสภาพที่พอสันนิษฐานได้ ลักษณะดั้งเดิมได้พังหมดแล้ว
สันนิษฐานจากสิ่งที่เห็น วัดป่าแลงนี้น่าจะสร้างในยุคที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหลวง คู่กับเมืองพิษณุโลก หลังที่อำนาจแห่งสุโขทัยแตกสลายเป็น 2 ขั้ว อำนาจถูกแบ่งแยกเป็นกำแพงเพชร และพิษณุโลก จึงทำให้กำแพงเพชร มีหลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ยิ่งใหญ่ตระการตาอย่าง
วัดป่ามืด (Wat Dark Forest)
วัดป่ามืดโบราณสถานภายในวัดป่ามืดมีเจดีย์กลมแบบลังกา ด้านหน้าเป็นฐานเจดีย์ทราย 4 – 5 แห่ง มีกําแพงล้อมรอบ ต่อจากกําแพงด้านหน้าเป็นโบราณสถานอีกหมู่หนึ่ง มีฐานเจดีย์และฐานวิหารและเจดีย์รอบอีก 7 ฐาน มีกําแพงรอบเช่นเดียวกัน การเดินทางไปวัดป่ามืด ออกนอกกําแพงเมืองตรงประตูสะพานโคมทางด้านทิศเหนือไปตามถนนกําแพงเพชร – พรานกระต่าย ระยะทางประมาณ 300 เมตรตามถนนเดิมจะพบวัดป่าอยู่ทางซ้ายมือ เรียกว่า วัดป่ามืด วัดนี้ยังไม่ได้ขุดแต่งและบูรณะใดๆเลย พื้นที่ทั่วๆไปยังเป็นป่าปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณวัด
วัดหมาผี (Wat Mha Pee)
ถัดเข้ามาจากวัดป่ามืด มีอีกหลายๆ วัด ติดๆ กันเข้ามาเรื่อยๆ มาสะดุดอยู่ที่วัดแห่งนี้ ชื่อวัดหมาผี สภาพที่เหลืออยู่มีหลักฐานไม่มากชิ้น เฉพาะภาพด้านหน้ามุมไกลให้เห็นป้ายชื่อวัดเท่านั้นเอง
วัดมณฑป (Wat Mondop)
เป็นวัดขนาดเล็ก อยู่ริมถนนทางทิศตะวันออกของวัดหมาผี ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญคือ มณฑปยอดเจดีย์ ซึ่งเป็นประธานของวัด มีวิหารขนาดปานกลางอยู่ด้านหน้า มีกำแพงล้อมโดยรอบปัจจุบันเหลือเพียง 3 ด้าน มีบ่อน้ำอยู่หน้าวัด วัสดุหลักในการสร้างวัดคือศิลาแลง ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เหมือนวัดทั่วไปในเขตอรัญญิก
ชื่อวัดมาจากลักษณะของเจดีย์ทรงมณฑป (ฐานรูปจตุรัสเรือนธาตุก่อเป็นแท่งสูง มีซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปภายในคล้ายมณฑป) มีเจดีย์รายสี่องค์ตั้งอยู่หลังวิหาร สิ่งก่อสร้างทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเข้าสี่ทาง มีบ่อน้ำอยู่นอกกำแพง ลักษณะสถาปัตย กรรมของวัดมณฑปอาจกล่าวได้ว่าสร้างขึ้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20
สิ่งที่งดงามและแปลกตาของวัดมณฑปคือ เจดีย์ประธานที่เป็นมณฑปมียอดเจดีย์ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชั้นล่างสุด ฐานเขียงก่อด้วยศิลาแลงซ้อนกันสองชั้น ขนาดกว้างยาว ด้านละ 6 เมตร ลดหลั่นไปถึงยอดมณฑป ส่วนเรือนยอด มีศิลาแลงก่อเป็นวงกลมซึ่งคาดว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆัง หรือทรงกลม ซึ่งหักพังลงมายังเห็นหลักฐาน ตกอยู่ข้างๆมณฑป ภายในมณฑป ก่อเป็นห้องคูหา ขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ปัจจุบัน ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้ว ผนังห้องทั้งด้านข้างและด้านบน ฉาบด้วยปูน ยังมีสภาพดี
พระวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาดวิหารกว้าง 11 เมตร ยาว 16.320 เมตร ที่น่าสนใจคือพื้นวิหารที่ไม่สูง มีความสูง เพียง 65 เซนติเมตร ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสองทาง แต่ชำรุด ส่วนบนวิหาร มีเสาวิหาร 4 แถว แถวละ หกต้น มีปูนฉาบอยู่บางส่วน มีชิ้นส่วนพระพุทธรูปโกลนศิลาแลงอยู่หลายชิ้น ได้เก็บตั้งไว้บนฐานพระประธาน ทั้ง 3 องค์ ด้านหลังไม่มีบันไดลง ต่างกว่าทุกวัด
เจดีย์ราย อยู่ทั้ง 4 มุมของ มณฑป หรือเจดีย์ประธาน รวม 4 องค์ ฐานเป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 2 เมตร ที่น่าฉงนมาก คือการขุดค้นที่พบ ไหบรรจุอัฐิ ที่มีเนื้อแกร่งอายุราว 600ปี ใต้พื้นวิหารตรงมุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดสูง 1ฟุต จำนวน 2ใบ ภายในไหนอกจากพบ กระดูกของผู้สร้างวัดแล้ว พบเต้าปูนและไม้ตักปูนสัมฤทธิ์ อยู่ภายในไหด้วย ถ้าศึกษาให้ชัดเจน อาจเป็นประเพณีการเก็บกระดูกของ ชาวกำแพงเพชร ในช่วงต้น คือราวพุทธศักราช 1900 ว่าได้บรรจุเต้าปูน และไม้ตักปูนของผู้ตาย ไว้ให้ใช้ในโลกหน้า ตามความเชื่อโบราณ
วัดมะคอก (Wat Ma Khok)
วัดมะคอก เป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่ง ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ในบริเวณวัดคือต้นมะคอก ซึ่งขึ้นในบริเวณใกล้วัด วัดมะคอกเป็นวัดขนาดกลางที่ยังมิได้ขุดแต่ง วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่พบกำแพงด้านนอกวัดทั้งสี่ด้าน อาจเป็นเพราะวัดมะคอก อาจสร้างก่อนวัดอื่นๆในบริเวณเดียวกัน เพราะสภาพของวิหารที่อยู่ต่ำเหนือพื้นดินเพียงเล็กน้อย ในวัดพบพระวิหาร ที่ถูกขุดค้นหาพระเครื่องและพระบูชา พบพระพุทธรูป 2 องค์ มีเฉพาะพระวรกาย พระเศียรถูกตัดไปพิงอยู่กับฐานพระประธาน ถัดไปเป็นฐานพระประธานถูกขุดเป็นหลุมลึก ไม่มีร่องรอยของพระประธานให้เห็น อาจถูกนำไปไว้ที่อื่น
ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์ประธานฐาน 4 เหลี่ยม องค์ระฆังถูกเจาะเป็นช่องกว้าง ไม่สามารถสังเกตรูปทรงของพระเจดีย์ได้ รอบๆ เจดีย์ประธาน มีเจดีย์รายโดยรอบ แต่ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่เห็นเจดีย์รายเหล่านี้เลยเพราะพังราบติดพื้นดินไปหมดโดยรอบของพระเจดีย์มีซากกองแลง และชิ้นส่วนของยอดเจดีย์ตกอยู่ ในเขตสังฆาวาส ทางด้านเหนือของพุทธาวาส มีศาลาขนาดใหญ่ อยู่ถึงสามหลัง แต่เห็นเฉพาะฐานเท่านั้น พื้นของศาลาลดหลั่นกันอย่างเหมาะเจาะและลงตัว วัดมะคอก เป็นวัดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเป็นเมืองพระของกำแพงเพชร การที่มีพระเครื่องที่ดีติดอันดับหนึ่งในห้าของเบญจภาคี ทำให้ทุกวัดในกำแพงเพชร ถูกขุดค้นและถูกทำลาย
ขอขอบคุณhttp://www.oknation.net/