วัดอุโมงค์เถรจันทร์ เป็นชื่อเรียกวัดเก่าแก่ที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงสร้าง

ประวัติวัดอุโมงค์

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) หรือ วัดอุโมงค์เถรจันทร์ หรือวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) เป็นวัดที่ตั้ง อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวัดที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอย่างหนาแน่น และมีหอพักนักศึกษาอยู่บริเวณใกล้เคียงวัดจำนวนมาก บางท่านอาจรู้จักในนาม วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม ชื่อนี้เป็นการนำชื่อสองชื่อมารวมกัน ชื่อแรก คือ

“วัดอุโมงค์” หรือ “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” เป็นชื่อเรียกวัดเก่าแก่ที่พระเจ้ากือนา ธรรมิกราชทรงสร้างขึ้น เพื่อถวายพระมหาเถรจันทร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกพำนักจำพรรษาในวัดแห่งนี้ ส่วนชื่อที่ 2 คือ “วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม” เป็นชื่อใหม่ที่ภิกขุปัญญานันทะ ประธานสงฆ์วัดอุโมงค์ ในช่วง พ.ศ. 2492 ? พ.ศ. 2509 ตั้งขึ้นเพื่อเรียกสถาปนาป่าผืนใหญ่ที่ปกคลุมวัดร้างโบราณ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ เป็นที่อยู่ของภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และผู้แสวงหาความสงบ รวมเอาวัดไผ่ 11 กอ (วัดเวฬุกัฏฐาราม) และวัดอีก 4 วัด ที่อยู่ใกล้ ๆเอาไว้ ด้วย ซึ่งก็คืออาณาบริเวณวัดอุโมงค์ที่รู้จักกันทุกวันนี้เอง

ประวัติวัดอุโมงค์ มีหลักฐานทางด้านตำนานไม่ค่อยชัดเจนนัก จึงต้องใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์วัดอุโมงค์ด้วย ประวัติวัดอุโมงค์ที่จะกล่าวถึงนี้เป็นประวัติตามตำนานปัญหาเถรจันทร์ ซึ่งตามธรรมเนียมไทยในกษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่จะขึ้นครองราชสมบัติ จะต้องสร้างบ้านเมือง พระราชวัง รวมทั้งวัดประจำราชการ เพื่อเป็นการแสดงว่ากษัตริย์มีความสนใจด้านการเมือง การปกครอง รวมทั้งทำนุบำรุงศาสนา และมีความสนใจในด้านศาสนา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระเจ้ามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายได้ทรงสร้างอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระสหาย 2 พระองค์ คือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เจ้าผู้ครองนครสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง เจ้าผู้ครองนครพะเยา มาสร้างเมืองที่เวียงเหล็ก (บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) และได้ตั้งนามเมืองใหม่ว่า ?เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่? หลังจากที่พระองค์ทรงสร้างเมืองและพระราชวังเสร็จแล้วพระองค์ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาทรงสร้างวัด เช่น วัดเชียงมั่น วัดเก้าถ้าน และวัดไผ่ 11 กอ (วัดเวฬุกัฎฐาราม) เป็นต้น วัดเวฬุกัฎฐาราม (วัดไผ่ 11กอ) เป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์จากลังกามาจำพรรษา และสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการนำพุทธศาสนาจากลังกามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านนาเป็นครั้งแรกด้วย โดยพระองค์โปรดให้พระมหากัสสปะ เป็นผู้วางแผนผังวัดออกเป็นสัดส่วน โดยจัดเป็นเขตพุทธวาส (สถานที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น เจดีย์ อุโบสถ) และสังฆาวาส พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นในวัดไผ่ 11 กอ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลังกา เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ (มีขนาดเล็กกว่าพระเจดีย์องค์ปัจจุบันในวัดอุโมงค์) เมื่อวัดถูกสร้างเรียบร้อยแล้วพระองค์โปรดให้เฉลิมฉลองและตั้งชื่อว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) และพระองค์ทรงนิมนต์คณะสงฆ์ลังกามาจำพรรษา และเผยแผ่พระพุทธศาสนาในล้านนา พระสงฆ์ในวัดเวฬุกัฏฐารามเป็นที่ศรัทธาและเลื่อมใสของกษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งประชาชน เนื่องจากพระสงฆ์จากลังกาที่มาจำพรรษาในวัดนี้มีความรู้ในธรรมวินัยดี มีความสามารถมากในการแสดงธรรม และมีความประพฤติที่เคร่งครัดในระเบียบวินัยมากกว่าพระสงฆ์อื่น ๆ

หลังจากพระเจ้ามังรายสวรรคต พุทธศาสนาในอาณาจักรก็เริ่มเสื่อมลง เนื่องจากเกิดการแย่งชิงราชสมบัติในเชื้อพระวงศ์ ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าผายู พุทธศาสนาในล้านนาก็เจริญขึ้นอีกครั้ง พระองค์ทรงทำนุบำรุงศาสนาและเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอันมาก หลังจากพระเจ้าผายูสวรรคตแล้ว เหล่าเสนามาตย์ทั้งหลายได้ไปอันเชิญเจ้าท้าวกือนา จากเมืองเชียงแสน มาราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 ของราชวงศ์มังราย ทรงพระนามว่า “พระเจ้ากือนาธรรมิกราช” พระองค์ทรงทำนุบำรุงศาสนาและโปรดให้บูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม โดยโปรดให้ซ่อมแซมองค์พระเจดีย์องค์เดิม โดยให้พอกปูนซ่อมแซมพระเจดีย์แต่ให้มีทรวดทรงของพระเจดีย์องค์เดิมอยู่ เมื่อซ่อมแซมพระเจดีย์เสร็จ ทรงโปรดให้สร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของพระเจดีย์ มีทางเดินภายในอุโมงค์ 4 ช่อง แต่ละช่องมีทางเดินติดต่อกันได้ และผนังภายในอุโมงค์มีการเจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้สว่างเป็นระยะ ภายในอุโมงค์มีภาพจิตรกรรมอยู่บริเวณเพดานโค้ง เป็นลวดลายจิตรกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนและพม่า สีที่ปรากฏในงานจิตรกรรมเป็นสีแดงชาด เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงามและประณีตมาก สาเหตุที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงโปรดให้สร้างอุโมงค์ขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงเลื่อมใสพระสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งมาก ที่มีนามว่า “พระมหาเถรจันทร์” หรือ “ท่านเถรจันทร์”ท่านมีประวัติคร่าว ๆ ดังนี้ ท่านได้บวชเป็นสามเณรในหมู่บ้านที่เกิด พออายุได้ 17 ปี ก็ได้เข้าไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในเมืองเชียงใหม่ ท่านคงจะมีอายุประมาณ 20 ปี ท่านได้ขึ้นไปพำนักบนดอยสุเทพ และได้พบกับนางเทพธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งมีรูปโฉมงดงามมาก และถามท่านว่า เหตุใดท่านจึงสวดมนต์อยู่ที่นี่ ท่านก็ตอบว่า เราใคร่มีปัญญารู้ธรรม นางจึงถามต่อไปว่า หากท่านได้สติปัญญาสามารถเรียนธรรมดังกล่าวนั้นแล้ว ท่านจะลาสิกขาไปหรือไม่ เมื่อท่านตอบว่าไม่สิกขา นางจึงมอบสิ่งหนึ่งถวาย เมื่อท่านเถรจันทร์รับของสิ่งนั้นจากนางเทพธิดา แต่เผลอจับปลายนิ้วมือของนาง นางจึงสาปท่านว่า “ท่านจงหาสติไม่ได้แล” เมื่อท่านเถรจันทร์กลับมาอยู่ในหมู่บ้านที่ท่านอาศัยอยู่ จึงได้ศึกษาพระคัมภีร์พุทธศาสนาจนแตกฉาน และมีชื่อเสียงอย่างแพร่หลาย แต่ท่านมักขาดสติในการกระทำสิ่งต่าง ๆ และชอบเร่ร่อนอาศัยอยู่ในป่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชจึงมีพระประสงค์ให้พระมหาเถรจันทร์ หรือ ท่านเถรจันทร์ พำนักเป็นหลักแหล่ง พระองค์จึงเชิญพระมหาเถรจันทร์มาพำนักและจำวัดอยู่ในวัดอุโมงค์ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระเถรจันทร์ วัดนี้จึงได้ชื่อว่าวัดอุโมงค์เถรจันทร์ เรียกตามชื่อของพระมหาเถรจันทร์

วัดอุโมงค์เถรจันทร์ถูกทิ้งให้รกร้างในสมัยใดไม่มีหลักฐานแน่ชัดจนกระทั่งใน พ.ศ.2491 เป็นต้นมานายชื่นสิโรรสกับมิตรสหายได้พากันมาแผ้วถางป่า และบูรณะซ่อมแซมกำแพงที่หักพัก ก่อนที่นายชื่นและพวกจะเข้ามาแผ้วถางป่า สถานที่แห่งนี้ถูกทิ้งให้รกร้างมีต้นไม้ปกคลุมจำนวนมากที่พื้นอุโมงค์มีดินและทรายจับหนาราว 80-100 ซ.ม. ในครั้งนั้นหากจะเข้าไปในอุโมงค์ก็ต้องก้มคลานเข้าไป ในระหว่างที่ทำการบูรณปฏิสังขรณ์อุโมงค์ในคราวนั้นได้ขุดทรายและดินที่ทับถมอยู่ในอุโมงค์ออก ซึ่งไม่มีใครทราบมาก่อนว่าบนผนังอุโมงค์มีภาพเขียนอยู่ จึงได้ทำให้ภาพเขียนส่วนหนึ่งของอุโมงค์ถูกขูดลบออกไปด้วย

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดอุโมงค์ ได้แก่ พระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ที่พระเจ้ากือนาทรงโปรดให้บูรณะขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปสักการะได้ หลักศิลาจารึกการบูรณะซ่อมแซมวัดอุโมงค์ที่คณะพุทธนิคมได้จัดทำขึ้น ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโมงค์ เสาหินอโศกจำลองตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโมงค์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งอยู่บริเวณหน้าอุโมงค์แสดงเศียรพระพุทธรูปที่ชำรุด โรงภาพปริศนาธรรมเป็นสถานที่แสดงภาพที่แฝกคำสอนทางพุทธศาสนา มีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมจำนวนมาก หอสมุดธรรมโฆษ ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์และให้บริการยืมเทปธรรมะ ชั้นล่างทำเป็นห้องสมุดบริการแก่ประชาชนทั่วไป เปิดทุกวันยกเว้นวันพระ และวันหยุดประจำปี สระน้ำภายในวัดอุโมงค์มีสัตว์ เช่น ปลา เต๋า นก นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารสัตว์ และสามารถซื้ออาหารสัตว์ภายในบริเวณวัดได้ และสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ภาพจิตรกรรมในอุโมงค์ซึ่งมีความเก่าแก่และมีคุณค่าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์มาก

ปัจจุบันวัดอุโมงค์เถรจันทร์เป็นส่วนหนึ่งของวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม ประชาชนนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า วัดอุโมงค์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจวัดอุโมงค์เป็นอันมาก

ขอขอบคุณ http://www.umongpainting.com/

 

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .