วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร : พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล หอไตรจตุรมุข และอันซีนยักษ์วัดโพธิ์

49819184c

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

มหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วสีขาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องถ้วยหลากสี มีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละคู่ … ด้านในกำแพงแก้ว มีจารึกอยู่โดยรอบ เป็นจารึกทางการรักษาโรค
องค์พระมหาเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสองทั้งหมด ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
เดิมทีรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญโกลนพระศรีสรรเพชญดาญาณ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ด้วยทรงประสงค์จะหล่อพระศรีสรรเพชญองค์นี้ขึ้นมาใหม่ … แต่หลังจากทรงปรึกษากับคณะสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์ได้ทูลถวายว่า การนำโกลนพระศรีสรรเพชญดาญาณมาหลอมใหม่นั้น ถือเป็นขีด เป็นกาลกิณี
ไม่เป็นมงคลแก่บ้านเมือง จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ แบบย่อมุมไม้ยี่สิบ ครอบโกลนพระศรีสรรเพชญนี้ไว้ และพระราชทานพระนามเจดีย์ว่า “พระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ”
องค์พระเจดีย์ประด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ตั้งอยู่ตรงกลางของหมู่พระมหาเจดีย์ ล้อมรอบด้วยพระมหาเจดีย์อีก 3 องค์ นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1
ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงมีพระประสงค์ทะนุบำรุงวัดพระเชตุพนฯ ทรงสร้างพระมหาเจดีย์ขนาบข้างกับพระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ ดังนั้น จึงเป็นเจดีย์สามองค์เรียงกันจากเหนือจรดใต้ โดยมีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ขนาดและความสูงเหมือนกันทุกประการ ต่างเพียงสีกระเบื้องที่มาประดับเท่านั้น
โดยพระมหาเจดีย์ทางทิศเหนือของพระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณ
ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว นามว่า “พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรรกนิทาน” ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อพระราชอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมราชชนก ซึ่งนับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2

ส่วนพระมหาเจดีย์ทางทิศใต้ของพระมหาเจดีย์พระศรีสรรเพชญดาญาณนั้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง นามว่า “พระมหาเจดีย์มุนีบัติบริขาน” ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 ด้วย

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้ถ่ายแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย มาจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา โดยองค์พระมหาเจดีย์มีลักษณะที่แตกต่างจากพระมหาเจดีย์ทั้ง 3 องค์ คือ มีซุ้มคูหาเข้าไปภายในองค์พระมหาเจดีย์ได้ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาบหรือสีน้ำเงินเข้ม มีนามว่า “พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย”
นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4

หลังจากนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ต่อไปในรัชกาลหลังอย่าให้เอาเป็นแบบอย่างที่จำเป็นจะต้องสร้างพระเจดีย์ประจำรัชกาลในวัดพระเชตุพนต่อไปเลย เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 รัชกาลแต่แรกนั้นได้เคยทรงเห็นกันทั้ง 4 พระองค์ ผิดกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่น” ดังนั้น การสร้างพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลจึงได้ยุติลงตั้งแต่นั้นมา

นอกเหนือจากพระมหาเจดีย์ที่สวยงามแล้ว บรรดาพระพุทธรูปที่ระเบียงคดรอบพระมหาเจดีย์ล้วนมีความงามที่น่าทึ่งเช่นกัน เป็นความบังเอิญที่พบว่าภายใต้พระพุทธรูปปูนปั้นเหล่านั้นมีพระพุทธรูปโบราณหลายยุคทั้งสมัยอู่ทอง สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ฯลฯบรรจุอยู่ภายใน

ซึ่งตามประวัติปฎิสังขรณ์วัด รัชกาลที่1โปรดให้รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่จากหัวเมืองต่างๆนับได้จำนวนพันมาไว้รวมกันที่วัดโพธิ์ แต่เพราะต้องการให้มองเห็นพระพุทธรูปเหล่านั้นเป็นลักษณะเดียวกันหมดเพื่อความสวยงามจึงเอาปูนมาพอกทับไว้ให้ได้ขนาด

ต่อมาปูนที่พอกไว้เริ่มทรุดโทรม จึงได้มีการปฎิสังขรณ์ใหม่อีกครั้ง เมื่อกระเทาะปูนเก่าออกจึงพบพระหล่อสัมฤทธิ์ฝีมือช่างโบราณงามอย่างยากจะหาดูได้

พูดถึงจิตรกรรมฝาผนัง ถ้าเป็นเรื่องรามเกียรติ์ฉบับในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่1 ลูกเล็กเด็กแนวที่ไหนก็รู้ว่าที่วัดพระแก้วเป็นที่เหมาะจะศึกษามากที่สุดเพราะมีภาพที่สวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ

แต่หากศึกษาลึกลงไปแล้วอาจเกิดอาการงงเต๊กได้ เพราะตอนหนึ่งถึงตอนสามกลับไม่ปรากฏที่ผนังวัดพระแก้ว ซึ่งอาจจะมีแฟนพันธุ์แท้เพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดภาพจิตรกรรมรามเกียรติ์ทั้งสามตอนที่หายไปนั้น อยู่ที่ผนังด้านในศาลารายโดยรอบพระมณฑปของวัดโพธิ์นั่นเอง

หอไตรจตุรมุข

พระมณฑปซึ่งใช้สำหรับเก็บพระไตรปิฎก ถ้าเป็นตามเรียกตามวัดสามัญทั่วไปนี่ก็คือ หอไตร นั่นเอง

ตัวอาคารเป็นทรงจตุรมุขคือมีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน เครื่องยอดเป็นทรงมงกุฎที่สวยงามมาก

รอบ ๆ จะมีศาลา 3 หลัง เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปศิลปะแบบต่าง ๆ พระไตรปิฎกใบลาน และ เครื่องถ้วยเครื่องแก้วเจียรไน น่าเสียดายที่วันไปถ่ายรูปศาลาทั้ง 3 หลังไม่เปิดให้เข้าชม

ยักษ์วัดโพธิ์

เดินชมพระมหาเจดีย์แล้ว คุณอาจจะอยากเห็น “อันซีนอินวัดโพธิ์” ด้วยการตามหายักษ์ประจำวัด … หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่าบริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้นเป็นผลจากการต่อสู้ของยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ โดยมียักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ

ยักษ์วัดโพธิ์มีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ มีตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนในปัจจุบัน

นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืนยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้งตั้งแต่นั้นมา

หากคาดคะเนจากตำนานการต่อสู้ …. คนส่วนใหญ่คงนึกว่า ยักษ์ทั้งสามน่าจะมีขนาดใกล้เคียงกัน บางคนเลยเข้าใจผิดคิดว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือตุ๊กตาสลักหินรูปจีนขนาดใหญ่ที่ยืนถือศาสตราวุธอยู่หน้าประตูวัดคือ “ยักษ์วัดโพธิ์”

แท้จริงแล้ว ยักษ์วัดโพธิ์มีลักษณะคล้ายกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับยักษ์วัดพระแก้ว หากแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก เล็กจนสามารถตั้งเก็บในตู้หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ได้ … ดูในรูปก็คงจะนึกภาพออกนะคะ เหมือนยักษ์แคระเลย

พระเจดีย์ราย และพระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว

พระเจดีย์ราย : ประดิษฐานอยู่บริเวณโดยรอบของพระระเบียงชั้นนอก เป็นสถาปัตยกรรมคล้ายเจดีย์หมู่ เจดีย์ย่อไม้สิบสอง มีทั้งหมด ๗๑ องค์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีจำนวนทั้งสิ้น 71 องค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเดิมมีพระราชประสงค์ให้เป็นให้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ แต่ต่อมามิได้ใช้บรรจุอัฐิแต่อย่างใด

พระเจดีย์ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเคลือบสีและศิลาเขียว นับเป็นพระเจดีย์ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพระเจดีย์อื่น ๆ พระเจดีย์รายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารนั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองที่งามที่สุดของยุครัตนโกสินทร์

พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว :

สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระเจดีย์ 5 องค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์ตรงกลางนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าอีก 4 องค์ที่ล้อมรอบอยู่ ประดิษฐานอยู่ตรงมุมพระวิหารคดทั้ง 4 ด้าน นับรวมได้ 20 องค์

ลักษณะพระเจดีย์นั้นเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง(มุมเจดีย์มีย่อสามมุมสี่ด้านโดยรอบ นับได้สิบสองเรียกย่อไม้สิบสอง ถ้ามากกว่าสิบสองก็เรียกว่าเจดีย์แบบไม้สิบสองเพิ่มมุม) 4 องค์ล้อมรอบองค์กลางซึ่งเป็นเจดีย์แบบไม้สิบสองเพิ่มมุม ประดับกระเบื้องเครื่องถ้วยตัดประดิษฐ์ ลวดลายดอกไม้งามวิจิตร ภายในพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุทุกองค์

ศิลปะสมัย ร.3 สังเกตง่ายๆได้จากตุ๊กตาจีนรูปต่างๆ ถูกนำมาตกแต่งให้เข้ากับศาสนสถานของวัดอย่างเป็นระเบียบ ดูสวยงามลงตัวทั่วทั้งบริเวณ ซึ่งรูปสลักหน้าตาเป็นจีน มือถือศาสตราวุธที่ยืนเฝ้าประตูทรงจุลมงกุฎมักได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวแวะยืมชมและถ่ายรูป จนบางคนเข้าใจผิดคิดว่า “ลั่นถัน นายทวารบาล” นี้คือยักษ์วัดโพธิ์

ประตูที่อยู่ตรงข้ามกับทางเข้าพระวิหาร สังเกตว่าทวารบาลคู่นี้หน้าตาแปลกไป แม้จะเป็นตุ๊กตาศิลาจากจีนเหมือนกันแต่ทวารบาลคู่นี้คือฝรั่งคนแรกที่จีนรู้จักนั่นคือ “มาร์โคโปโล” แต่ดูเหมือนจีนคงจะไม่ค่อยชอบแกเท่าไหร่เพราะสลักเสียตาโปนหน้าตาดุร้าย

ตุ๊กตาจีนรูปร่างและขนาดต่างๆกัน ถูกวางเรียงรายกระจายในบริเวณวัดโพธิ์ … ภายในบริเวณวัดยังมีศาลาแบบเก๋งจีน เพื่อใช้ในหลายวัตถุประสงค์

“วัดโพธิ์” เป็นสถานที่ใจกลางกรุงอีกแห่งหนึ่งที่สามารถมาเดินเที่ยวเล่นไปด้วย เรียนรู้เรื่องศิลปะหรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ไปได้ด้วย ไม่ว่าจะเที่ยวอย่างสนุกสนาน เที่ยวอย่างหาความรู้ หรือเที่ยวแบบทำบุญสร้างกุศล หากเราตั้งใจดีที่จะเข้าวัดแล้ว ความสงบอิ่มเอมและสุขใจก็คงอยู่ไม่ไกล

ขอขอบคุณ www.oknation.net

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .