วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เดิมชื่อวัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ถูกทิ้งร้างหลังจากคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จนถึงพ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์(เถ้า) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างเจดีย์ทรงรามัญ ชื่อเจดีย์ร่างกุ้ง รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้
พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทอดกฐิน ณ วัดปากอ่าวและวัดใกล้เคียง ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดซึ่งเสนาสนะต่างปรักหักพังทรุดโทรม ทรงคำนึงถึงพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมเสด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรณ์ ซึ่งอภิบาลบำรุงพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงรับสั่งอยู่เนือง ๆ ว่า ถ้าทรงพระเจริญขึ้นแล้วขอให้ทรงช่วยให้ได้สร้างพระอารามหนึ่ง จึงทรงปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว
การปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว มีพระยาอัศนีศาภัยจางวาง กรมพระแสงปืนต้นเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร(ต้นราชสกุลกฤดากร)เป็นนายกอง พระราชสงคราม(ทัค) เป็นช่างทำพระอารามที่สร้างใหม่ทั้งหมด คงรูปแบบมอญไว้เนื่องจากเป็นวัดมอญ ทรงโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกเป็นภาษามอญให้พระยาศรีสุนทรโวหารเจ้ากรมพระยาลักษณ์จารึกเรื่องพระอารามนี้ลงในเสาศิลาเป็นอักษรไทยเสาหนึ่ง และพระสุเมธาจารย์แปลงเป็นภาษามอญอีกเสาหนึ่ง จารึกทั้งอักษรไทยและมอญอยู่ที่หน้าพระอุโบสถ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระอารามนี้ใหม่ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” (ปรมัยยิกาวาส คือ บรม+อัยยิกา+อาวาส)
โบราณวัตถุสถานที่สำคัญคือ พระอุโบสถ และ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าประวิชชุมสาย เป็นภาพธุดงควัตร และพุทธจริยาวัตรที่สวยงามมาก หน้าบันพระอุโบสถมีปูนปั้นตราพระเกี้ยว อันเป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯประดิษฐานอยู่ แวดล้อมด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงามมาก รอบพระอุโบสถมีรั้วและบานประตูเหล็ก ที่เสาประตูเหล็กมีรูปหล่อศรีษะนักรบโรมันโบราณด้วย ด้านหน้าพระอุโบสถมี ศาลารับเสด็จ หลังหนึ่ง เดิมมี 2 หลัง แต่พังลงน้ำไปหลังหนึ่งเพราะตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะ ศาลารับเสด็จนี้เคยเป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเดือนพฤษภาคม 2489 เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรชาวไทยและชาวรามัญในอำเภอปากเกร็ด
ส่วนพิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ภายในวัดปรมัยยิกาวาส โดยมีอาคารสองชั้นซึ่งแต่เดิมเป็นกุฎิของอดีตเจ้าอาวาส สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคารจัดแสดง
ชั้นล่าง หรือ หอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผาเป็นหลัก โดยได้จำลองเตาเผาและหุ่นจำลองของช่างทำเครื่องปั้นดินเผาไว้ มีมุมฉายวีดิทัศน์เรื่องราวต่าง ๆ อาทิ ขนมไทยที่มีชื่อเสียงของเกาะเกร็ด พื้นที่ส่วนใหญ่ในอาคารจัดแสดงวิวัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาที่พบในประเทศไทย และมีตัวอย่างของเครื่องปั้นดินเผาในภาคต่าง ๆ จัดแสดงด้วย
มุมหนึ่งจัดแสดงเครื่องใช้ไม้สอยในบ้าน ที่วางกองอยู่รวมกัน อาทิ พัดลมเก่า ตะเกียง หรือเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือนจำพวกครก กระทะใบบัว กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้าวของบางชิ้นวางแซมอยู่ระหว่างตู้จัดแสดงทั่วไป เช่น เครื่องอัดกลีบผ้า คูลเลอร์น้ำ เป็นต้น
ชั้นบน ประกอบไปด้วยสิ่งของหลากหลายประเภท ได้แก่
1. สิ่งของในพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 นำมาถวายไว้ เนื่องแต่วัดนี้เป็นวัดที่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จทอดพระเนตรและปฏิสังขรณ์ และให้อยู่ภายใจพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอฯ
2. สิ่งของที่อดีตเจ้าอาวาสได้รับการถวายมาเนื่องในวาระสำคัญของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี อาทิตู้สังเค็ดที่ระลึกในงานพระศพพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ชุดเครื่องสังเค็ดมุกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานถวายแด่พระราชาคณะที่ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประกอบพิธีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดอกไม้แกะด้วยหินอ่อน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำมาจากอิตาลีครั้งกลับจากเสด็จพระพาสยุโรป เป็นต้น
3. สิ่งของในวัฒนธรรมประเพณีมอญ หลายชิ้นสืบมาแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบานเรือนที่เกาะเกร็ด และบูรณะวัดขึ้นมา สั่งสมเรื่อยมาจนปัจจุบัน ทำให้มีข้าวของอายุหลายร้อยปีอยู่หลายชิ้นในพิพิธภัณฑ์ แม้กระทั่งเหม(โกศมอญ) ที่ใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสอายุ 102 ปี
4. สิ่งของเบ็ดเตล็ด อาทิ พิมพ์ดีดสมัยเก่าที่ตรีตรา “กรมพัสดุ” ยี่ห้อ Smith Premier เครื่องกรองน้ำดินเผาจากต่างประเทศ เขามอจำลอง เป็นต้น
พื้นที่ราว 1 ใน 4 ของชั้นบน เป็น “ห้องคัมภีร์รามัญ” เก็บรวบรวมคัมภีร์ภาษามอญไว้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหีบเก็บคัมภีร์ลายรดน้ำ กากะเยีย(เครื่องสำหรับวางหนังสือใบลาน ทำด้วยไม้ 8 อันร้อยไขว้กัน) รวมถึงพระไตรปิฎกภาษามอญที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโรงทำลูกหนู ซึ่งอยู่ใกล้กับวิหาร เป็นโรงที่ทางวัดเคยทำลูกหนู ยังมีอุปกรณ์การทำลูกหนู และกระบอกลูกหนูให้ชมด้วย
ขอขอบคุณ http://203.172.205.25/