อยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา สร้างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ประมาณพ.ศ.2231-2246 ณ บริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ตั้งของวัดถูกจำกัดโดยเส้นทางคมนาคมสมัยโบราณ คือด้านตะวันออกเป็นแนวคลองฉะไกรน้อย ด้านตะวันตกเป็นแนวถนนหลวงชื่อถนนมหารัฐยาหรือถนนป่าตอง แนวถนนและคลองดังกล่าวบังคับแผนผังของวัดให้วางตัวตามแนวเหนือใต้ โดยหันหน้าวัดไปทางทิศเหนือ วัดนี้แตกต่างจากวัดอื่นตรงที่ทรงโปรดฯให้ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองขึ้นมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ และใช้ประดับเจดีย์และซุ้มประตู จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” ซึ่งใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีจึงแล้วเสร็จ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงโปรดฯให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่และให้ทำบานประตูมุกฝีมืองดงาม 3 คู่ บานประตูมุกนี้ปัจจุบัน คู่หนึ่งอยู่ที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คู่หนึ่งอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และอีกคู่หนึ่งมีผู้ตัดไปทำตู้หนังสือซี่งขณะนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ขอขอบคุณ http://thai.tourismthailand.org/