วัดทรงธรรมวรวิหาร สมุทรปราการ
สถานที่ตั้งวัดเดิมอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ประมาณ ๑๒ เส้น เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กองมาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เพิ่มเติมใน พ.ศ. ๒๓๖๓ และได้สร้างป้อมขึ้นใหม่อีกป้อมหนึ่ง คือ “ป้อมเพชรหึง” ในที่ดินซึ่งเป็นอาณาเขตของวัดทรงธรรม และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายวัดเข้ามาอยู่ด้านในกำแพงป้อม การย้ายครั้งนี้ได้สร้างศาลาการเปรียญและกุฏิขึ้น ๓ คณะ กล่าวกันว่า ศาลาการเปรียญหลังนี้เคยเป็นศาลาทรงธรรม ของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ และ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาถวายผ้าพระกฐินได้ทอดพระเนตรเห็นวัดชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดให้พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จั้ว คชเสนีย์) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในขณะนั้นจัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยรื้อกุฏิทั้ง ๓ คณะ มาสร้างรวมกันเป็นหมู่เดียว
พระอุโบสถ
สำหรับพระอุโบสถนั้น พระยาดำรงราชพลขันธ์ ได้รื้อลงและสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูน เสาพระอุโบสถมี ๕๖ ต้น มีลักษณะเป็นเสากลมขนาดใหญ่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๓ – ๒๔๗๕ ขณะที่อำเภอพระประแดงยังเป็นจังหวัดอยู่นั้น ทรงราชการได้ใช้พระอุโบสถหลังนี้เป็นที่กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาของข้าราชการใน พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอุโบสถชำรุดทรุดโทรมมาก พระธรรมวิสารทะ (สุก พิศาลพันธ์) ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จากเงินที่มีผู้ศรัทธาบริจาคโดยให้คงรูปเดิมไว้ทุกประการ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้สำเร็จลงเมื่อต้นปี ๒๔๙๖
สำหรับพระประธานในพระอุโบสถนั้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้นำมาประดิษฐานไว้ แต่ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินและยังมีพระพุทธรูปองค์อื่นอีกหลายองค์ ซึ่งโปรดให้นำมาในครั้งนั้น และต่อมาได้บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ใหญ่ทั้งสิ้น
พระวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ – ๒๔๐๕ และมาซ่อมแซม พ.ศ. ๒๔๕๕ – ๒๔๕๖ ในครั้งนั้นมีการสร้างพระพุทธบาทจำลองไว้ด้วย และวัดได้จัดงานปิดทองพระพุทธบาทจำลองทุกปี
พระเจดีย์แบบมอญ
พระเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์แบบรามัญ มีเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางและมีเจดีย์เล็กอยู่ที่ฐานมุมอีก ๔ องค์ สร้างขึ้นในสมัยที่ชาวรามัญมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดพระประแดง ฐานเจดีย์กว้าง ๓ วา ๓ ศอก สูง ๔ วา ๓ ศอก
ศาลาการเปรียญของเดิมนั้นชำรุดทรุดโทรม ทางการได้รื้อลงและสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ส่วนศาลาประชุมนั้น พระอุดมวิจารณ์ (กลั่น นพคุณ) ได้รื้อศาลามาจากวัดกลางนา นำมาสร้างเป็นศาลาโถงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ในปี ๒๔๖๗ พระธรรมวิสารทะ ได้รื้อถอนและสร้างใหม่ โดยใช้ไม้ใหม่กับไม้เก่าผสมกันเพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล และที่ประชุมสงฆ์จึงเรียกว่า “ศาลาบำเพ็ญกุศล”
การถวายผ้าพระกฐินวัดนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองทั้ง ๓ พระองค์ และในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระกฐินต้น ในการนี้ได้มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้พระราชทานให้ใช้สำหรับก่อสร้างเมรุถาวรไว้สำหรับวัด ในวันนั้นเองได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจการก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่สองของโรงเรียนราชประชาสมาสัย ซึ่งได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานการศึกษาแก่เด็กในอำเภอพระประแดงด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ขอขอบคุณ http://www.bloggang.com/