สิ่งสำคัญภายในวัด เบญจบพิตร พระที่นั่งทรงผนวช

10020023_0_20130725-185339

เมื่อเริ่มการสถาปนาวัดเบญจมบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งทรงผนวชองค์เดิม จากพุทธรัตนสถาน ที่สวนศิลาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์ในคราวทรงผนวช เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ออกไปปลูกที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อเป็นกุฏิเจ้าอาวาส โดยรักษารูปแบบเดิมไว้ เป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย “พระที่นั่งทรงผนวช” อยู่ด้านทิศเหนือ “พระกุฏิ” อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ ๒ ห้อง ๒ หลัง อยู่ด้านตะวันออกและตะวันตก มีหอเสวยกลาง มีลานหินอ่อนโดยรอบ
ทุกหลังมีช่อฟ้า ใบระกา ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ
หลังด้านทิศใต้คือ “พระกุฏิ” หน้าบันจำหลักลายประกอบ “พัดยศ” ลงรักปิดทองประดับกระจก มีความหมายว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระองค์ทรงผนวช
ส่วนหลังทิศเหนือคือ “พระที่นั่งทรงผนวช” เป็นตรีมุข ประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำตรา “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” ที่ทรงปรับปรุงขึ้นใหม่เป็น ๕ สาย ๕ ชั้น ด้านในเขียนภาพเทวดาถือดอกไม้เหนือคนแคระ
หน้าบันทั้ง ๓ ด้านจำหลักลายไทยประกอบตรา “พระเกี้ยว” ซึ่งเป็นตราประจำของพระองค์ ลงรักปิดทองประดับกระจก หมายถึงพระที่นั่งองค์นี้ เป็นที่ประทับเมื่อคราวพระองค์ทรงผนวช
ภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระบรมรูปเมื่อทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระพุทธรูป พระเสลี่ยงน้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเพื่อเป็นธรรมาสน์แสดงธรรมและแสดงพระปาติโมกข์ครั้งแรกในวัดเบญจมบพิตร เครื่องลายครามต่าง ๆ
ผนังภายในเขียนภาพเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม ๒๐ ตอน คือตอน โสกันต์, บรรพชา, เทศนา, หว้ากอ, ธรณีร่ำไห้, ราไชสวรรย์, มิ่งขวัญประชา, ชีบาชื่นชม, ภิรมย์ปรางค์ปรา, พุทธานุสาวรีย์, พระบารมีไพบูลย์, ทูตทูลสาส์นตรา, ราชานิวัติ, ไพรัชประพาส, ประเทศราชนานา (๑), ประเทศราชนานา (๒), รักษาพุทธศาสน,์ ตรวจราชการ, สังหารกุมภา, ย้ายมาอยู่ที่นี่
การเขียนภาพเหล่านี้แบ่งให้จิตรกรเขียนคนละห้อง อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ว่า “ใช้สีฝุ่นผสมกาวอย่างโบราณ” สำหรับจิตรกรผู้เขียนภาพไม่ปรากฏนาม แต่สันนิษฐานว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรสุเทพ (หม่อมเจ้าจันทร์ ดารากร) ทรงเป็นผู้เขียนพระองค์หนึ่ง เนื่องจากทรงเป็นผู้รับต่อเติมพระที่นั่งองค์นี้ และทรงเป็นจิตรกรมีชื่อพระองค์หนึ่งในสมัยนั้น และมีผลงานเขียนแบบตาลปัตร (พัด) สำหรับวัดเบญจมบพิตร เช่น พัดเปรียญ พัดฐานา พัดรอง เป็นต้น

ขอขอบคุณ http://www.watbencha.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .