วัดชมภูเวก ทั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ บ.บางกระสอ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2300 บริเวณเนินอิฐอันเป็นซากโบราณสถาน ที่มีอยู่เดิม โดยชาวมอญที่อพยพหนีพม่ามาตั้งรกรากอยู่ตรง บริเวณนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมมีชื่อว่า “วัดชมภูวิเวก” เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ และมีเนินดิน ที่ตั้งโบราณสถานเดิม ต่อมาคำว่า “วิ” หายไป คงเหลือแต่เพียงชมภูเวกมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นวัดที่มีความสำคัญมากในสมัยก่อน เล่ากันว่าเป็นวัดศูนย์กลาง ของชาวไทยเชื้อสายมอญ เมื่อถึงฤดูเทศกาลต่างๆ จะมีชาวไทยเชื้อสายมอญจากหัวเมืองทั่วประเทศพากันรอนแรมมาทำบุญและสักการะพระมุเตา พระเจดีย์ทรงมอญ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่นำมาจากเมืองมอญกันเป็นประจำ ในทางศิลปะ วัดชมภูเวกได้ชื่อว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของชาวนนทบุรี และเป็นมรดกสำคัญอันน่าภาคภูมิใจของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโบสถที่มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่สร้าง แบบมหาอุต คือ มีประตูเดียว ใช้ผนังรับน้ำหนัก ปลายผนังสอบเข้าหากันเล็กน้อย ไม่มีเสา มีแต่เสารับชายคาพาไล ซึ่งเป็นแบบที่หาดูได้ยากในสมัยนี้ ถือกันว่าอุโบสถแบบนี้ สามารถกระทำพิธีปลุกเสกของขลังได้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง นอกจากนี้ หน้าบันและซุ้มประตูยังมีลวดลายปูนปั้นแบบโรโคโค เป็นลายพรรณพฤกษาประดับด้วยเครื่องลายคราม และเบญจรงค์ ส่วนลวดลายตกแต่งบางส่วนได้รับอิทธิพลจากงานจำหลักไม้ ของจีน
สิ่งที่สำคัญที่สุดในอุโบสถหลังเก่า คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษซึ่งเป็นของสกุลช่างนนทบุรี แตกต่างจากงานเขียนภาพในที่อื่นๆ คือ เขียนด้วยเส้นบางๆ โครงสีส่วนรวมเป็นสีเดียวกัน พื้นภาพเป็นสีพื้นอ่อนๆ ได้รับ อิทธิพลจากพม่ามาผสมผสานกัน มีทั้งภาพพุทธประวัติ และทศชาติชาดก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม ในพุทธประวัติ ตอนมารผจญ” ด้านหน้าพระประธาน แสดงให้เห็นถึงลักษณะศิลปะชึ้นสูง ฝีมือชั้นครู ซึ่งมีความงดงามอ่อนช้อย และให้ความรู้สึกเหนือธรรมชาติ ประดุจภาพทิพย์ที่เบาเสมือนลอยอยู่ในอากาศ จนอาจารย์ อาภรณ์ ณ สงขลา จิตรกรผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร ได้บันทึกไว้เมื่อครั้งมาสำรวจเพื่อหาทางซ่อมแซมบูรณะว่า “เรายกย่องและรับรองกันว่าเป็นแบบอย่างแม่พระธรณีที่งาม ที่สุดในโลก”
ขอขอบคุณ http://www.ichat.in.th/