วัดพระธาตุหริภุญชัย–สมัยนครหริภุญชัย

จากเขตพระราชฐานเป็นเขตพุทธาวาส

กาลเวลาล่วงมาจนถึงปีจุลศักราช 238 พระพุทธศาสนาล่วงไปได้ 1,420 ปี ณ อาณาบริเวณที่เป็นวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ในปัจจุบันนี้ เมื่อครั้งนั้น เป็นเขตพระราชฐานแห่งพระเจ้าอาทิตยราชองค์ที่ 30 กษัตริย์ผู้ครองเมืองหริภุญชัยในสมัยนั้น พระองค์โปรดให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรเป็นที่ประทับ ครั้นเสร็จแล้วพระองค์ก็เข้าประทับอยู่ภายในปราสาทราชมณเฑียรแห่งนั้น วันหนึ่งพระองค์จะเสด็จไปสู่วสัญชนฐาน(ห้องน้ำ) ปรากฏมีกาตัวหนึ่งได้บินโฉบลงมาเป็นทำนองกันไม่ให้พระองค์เข้าไปถึงฐานนั้นได้ ด้วยความกริ้วพระองค์จึงต้องย้ายไปใช้ฐานอื่น และทรงมีกระแสรับสั่งให้จับกาตัวการนั้นมาฆ่าเสีย แต่เทวดาได้ดลใจให้อำมาตย์ ผู้หนึ่งทัดทานไว้เพราะสงสัยในพฤติการณ์ของกานั่นเอง คืนนั้นยามใกล้รุ่ง เทวดาผู้รักษาพระเกสธาตุได้สำแดงฤทธิ์มาในพระสุบินถวายคำแนะนำให้พระองค์นำทารกมาอยู่กับกา ๗ วัน และอยู่กับคน ๗ วัน เป็นเวลา ๗ ปี เมื่อถึงเวลานั้นเด็กก็จะสามารถแปลภาษากาให้คนได้รับทราบเหตุการณ์อันเป็นปริศนานั้นได้โดยชัดแจ้ง
พระเจ้าอาทิตยราชจึงทรงทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระเกสธาตุโดยละเอียด พระเจ้าอาทิตยราชจึงโปรดให้เชิญ พระยากาเผือกมาสู่ ปราสาทแห่งพระองค์ โดยพระองค์โปรดให้จัดสถานที่สำหรับต้อนรับพระยากาเผือกอย่างสมฐานะพระยาแห่งกาทั้งปวง พระยากาเผือกจึงเล่า ความเป็นมาถวายทุกประการ พระเจ้าอาทิตยราชทรงมีพระราชหฤทัยอภิรมย์ยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้รื้อ ราชมณเฑียรทั้งปวงออกไป จากสถานที่แห่งนั้นจนหมดสิ้น แล้วโปรดให้ปรับพื้นที่อันเป็นมงคลนั้นให้เรียบงามตา พระองค์โปรดให้ พระสงฆ์สวดพระปริตตมงคล เพื่ออาราธนาพระบรมธาตุให้ออกมาปรากฏ พระธาตุเจ้าจึงสำแดงฤทธาภินิหารโผล่ขึ้นมาพ้นแผ่นดิน ทั้งโกศแก้วลอยขึ้นไปในอากาศ สูงเท่าต้นตาล พระบรมธาตุได้เปล่งฉัพพัณรังสีเจิดจ้าไปทั่วนครหริภุญชัยเป็นเวลา ๗ เวลา ๗ คืน แล้วจึงลอยลงมาประดิษฐานบนแผ่นดิน ดังเดิม พระเจ้าอาทิตยราชโปรดให้ขุดเอาโกศบรรจุพระธาตุขึ้นมา แต่ทว่ายิ่งขุดโกศนั้นก็ยิ่งจมลงไป พระองค์จึงต้องบูชาอาราธนาพระธาตุ จึงได้ยอมลอยขึ้นมาสูงจากพื้นดินถึง ๓ ศอก พระองค์จึงให้สั่งรื้อถอนปราสาทราชมณเฑียรทั้งหมดออกไปตั้งราชสำนัก ณ ที่อื่น

ดังนั้น พระบรมธาตุหริภุญชัย จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 1440 โดยพระเจ้าอาทิตยราชโปรดให้สร้างโกศทองคำหนัก ๓,๐๐๐ คำ สูง ๓ ศอกประดับประดาไปด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการครอบโกศ พระธาตุของพระพุทธเจ้านั้น แล้วโปรดให้สร้างมณฑปปราสาทสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้าดังข้อความที่กล่าวไว้ในตำนาน มูลศาสนา ดังนี้

“.. พระยาอาทิตตราชก็ให้เอาหินมาเพื่อจักก่อให้เป็นเจดีย์ ครั้นได้หินมาบริบูรณ์แล้วจึงให้หานักปราชญ์มาพิจารณาดูวันยาม ฉายาฤกษ์อันเป็นมงคล ครั้นได้ฤกษ์แล้วพระยาก็แบกหินอันเป็นมงคลนั้นมาก่อในท่ามกลาง เพื่อจักให้ก่อก่อนสำหรับเป็นที่รอง โกศธาตุพระพุทธเจ้า ทั้งหลายนั้นแลครั้นพระยาหยิบหินก้อนนั้นยอขึ้น ก็ให้ประโคมดุริยดนตรีเป็นมงคลเสียงอึงมี่นัก เป็นดังเมฆอันพัดกันในท้องฟ้าฉะนั้น ก็เป็นอันดังกึกก้องทั่วเมืองหริภุญไชยทั้งมวลนั้น พระยาก็ให้ก่อในที่หนึ่งแล้วก็ให้ก่อเป็น ๔ เสาดังปราสาทสูงได้ ๑๒ ศอก ให้เป็นประตู โค้งทั้ง ๔ ด้าน อยู่ภายนอกโกศธาตุเจดีย์นั้นแล ในเมื่อธาตุเจดีย์เสร็จพร้อมทุกอันแล้ว พระยาก็ให้ฉลองเจดีย์มีเครื่องพร้อม ทุกอัน กระทำบูชาอยู่ถ้วย ๗ วัน ๗ คืน ..“

ในปี พ.ศ. 1651 สมัยพระเจ้าอาทิตยราชองค์ที่ 33 จึงได้สร้างวัดพระธาตุหริภุญชัยขึ้นเป็นศูนย์สถานอันยิ่งใหญ่แห่งลานนาไทยอีกครั้งหนึ่ง

 

ยุคบูรณะต่อยอดพระธาตุหริภุญชัยให้สูงเสียดฟ้า

ในสมัยของพระยาสรรพสิทธิ์ พระองค์โปรดให้สร้างมณฑปองค์หนึ่งสูงได้ ๒๔ ศอก ครอบมณฑปองค์เดิมที่พระยาอาทิตยราชสร้างไว้

ต่อมาเมื่อพระยามังรายมาครองเมืองลำพูน พระองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ครอบมณฑปที่พระยาสรรพสิทธิ์สร้าง เจดีย์องค์นี้เป็น เจดีย์ทรงกลมมีความสูงถึง ๗๐ ศอกตลอดทั้งองค์เจดีย์ได้มีการหุ้มด้วยแผ่นทอง

เมื่อพระยากือนาขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่พระองค์ได้ปฏิบัติตามราชประเพณีที่จะต้องทำนุบำรุงพระบรมธาตุเช่นที่พระ บูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมา พระองค์ทรงตั้งสัตยอธิษฐานปล่อยช้างพลายมงคลเชือกหนึ่งชื่อ “ผู้ไชยหนองแขม” ให้ออกไปหาดินแดนถวายพระธาตุ โดยกำหนดเอาตามเส้นทางที่ช้างเชือกนี้ออกหากินได้ดินแดนถวายแก่องค์พระธาตุมากมายดังนี้ “…ช้างเชือกนั้นก็กระหวัดแปรไปทิศใต้ฟากน้ำแม่ระมิงค์ด้านตะวันตกไปถึงสบล้องงัวเฒ่า เกี้ยวไปข้ามสบแม่ทาน้อยแผวแสน ข้าวน้อย (ฉางข้าวน้อย) ฟากน้ำแม่ทาฝายตะวันตกถึงหนองสร้อยและสบห้วยปลายปืน แล้วไปกิ่วปลีดอยละคะแล้วถึงบ้านยางเพียง ไปดอยถ้าโหยด ดอยเก็ดสอง ขุนแม ขุนกอง ลงไปถึงแม่ขุนยอด ไปม่อนมหากัจจายน์ฝายเวียงทะมอฝายตะวันตก เกี้ยวขึ้นมาทาง แปหลวงมาผีปันน้ำ ถึงกิ่วขามป้อมหินฝั่งถึงขุนแม่อี่เราะแล้วไปถึงขุนแม่ลาน ลงมาแม่ออนล่องแม่ออนมาถึงสบแม่ออน แล้วกินผ่าเวียงกุมกาม กลับมาถึงป่า จรดกับปล่อยตอนแรก”

ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช พระองค์โปรดให้ก่อพระมหาเจดีย์เจ้าองค์หนึ่งโดยพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธานร่วมกับพระมหาธังกร การก่อสร้างเริ่มขึ้นในในปีดับเปล้า (ปีฉลู) เดือน ๘ (เหนือ) ออกค่ำ (แรมหนึ่งค่ำ) วันพุธ พระจันทร์เสวยฤกษ์ที่ ๒๒ ชื่อ อุตราสาฒ

จนถึงปีรวายยี (ปีขาล) จุลศักราช ๘๐๘ พระพุทธศานาล่วงแล้วได้ ๑๙๙๐ ปี เดือนวิสาขะออก ๓ ค่ำ วันอังคาร ไทยยกสง้านับได้ ๖ เดือน จึงสำเร็จบริบูรณ์ พระเจดีย์องค์นี้ตีนฐานมนกว้าง ๑๒ วาครึ่ง สูงแต่ใจกลางขึ้นไป ๓๒ วา มีฉัตร ๗ ใบเมื่อเสร็จแล้วก็โปรดให้มีการสวด ปริตตมงคลและ พุทธาภิเษกฉลองอบรมพระมหาเจดีย์องค์นี้ และจัดให้มีการมหรสพฉลอง ๗ วัน ๗ คืน ในปี ๒๔๗๒

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครคนที่ ๑๐ ได้อารธนา ครูบาธรรมชัย วัดประตูป่า มาทำการรื้อทองจังโกที่หุ้มองค์พระธาตุมาแต่เดิมออก และทำการบูรณะใหม่โดยการ หุ้มแผ่นทองเหลือง องค์พระธาตุตลอดทั้งองค์ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๕๐๐ ในปี ๒๔๘๑ ได้มีการว่าจ้างช่างทองมาทำการหลอมไล่เอาทองคำแยกออกจากแผ่นทองจังโก เพื่อนำออกขายนำเงินมาเก็บเป็น สมบัติของพระธาตุ เงินส่วนหนึ่งนั้นได้มีการนำไปซื้อที่ดินบริเวณห้องแถวตลาดสด เก่ากลางเมืองลำพูน เพื่อใช้สำหรับเก็บผล ประโยชน์ สำหรับมาบำรุงพระธาตุ

ขอขอบคุณ http://www.hariphunchaitemple.org

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .