“การสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้คงทนถาวร แล้วสำเร็จได้ ก็เปรียบเหมือนการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง
ก็เหมือนกับคำสอนที่บอกว่า คนเราทุกคนเกิดมาต้องอดทนและก็ต้องเข้มแข็ง
พยายามสร้างสิ่งที่ดีที่สุดไว้บนแผ่นดินนี้”
วัดพระธาตุผาแก้ว ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 91 ไร่ ที่มีโยมผู้ศรัทธาบริจาคที่ดินให้กับทางวัด เดิมวัดนี้ชื่อ พุทธธรรมสถานพระธาตุผาซ่อนแก้ว สร้างขึ้นเมื่อปี 2547 โดยมี พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส (อำนาจ กลั่นประชา) เป็นผู้ออกแบบ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมกลางหุบเขาที่โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติอันเงียบสงบ ตลอดจนเป็นพุทธบูชาและเพื่อสืบทอดพุทธศาสนาให้อยู่คงทนถาวรไปในอนาคต และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ 60 พรรษาอีกด้วย
ซึ่งการสร้างวัดแห่งนี้ พระครูสังฆรักษ์ ปารมี สุรยุทฺโธ พระผู้สร้างวัดมีกุศโลบายในการสอนธรรมะให้แก่พุทธศาสนิกชนผ่านลวดลายตกแต่งที่สร้างอย่างวิจิตรพิสดาร แม้จะมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่เราก็ต้องเอาใจเข้าไปสัมผัส จึงระรับรู้ได้ว่า ภาพเหล่านั้นบอกกล่าวอะไรกับเราบ้าง
เครื่องเบญจรงค์ กระเบื้อง หินสี ที่นำมาประดับนี้ พระอาจารย์ปารมีกล่าวว่า…
“มีทั้งของมีค่าน้อย มีค่ามาก หรือบางสิ่งไม่มีคุณค่าเลย
แต่เราก็เอามาทำให้มีคุณค่า เปรียบเสมือนชีวิตของคนที่เสียแล้ว
เราก็สามารถกลับมามีโอกาสใหม่ได้ ดังนั้นเค้าจึงบอกว่า ต้องให้โอกาส”
ปริศนาธรรม ณ วัดพระธาตุผาแก้ว มีอยู่ในทุกพื้นที่ค่ะ ตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าของวัด ไปจนถึงยอดสูงสุดของพระเจดีย์ อันเป็นสถานที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ ของ พระพุทธเจ้า
เสาอริยสัจ 4 ที่โดยรอบเสาแกะสลักความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
ส่วน เจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้ว สิริราชย์ธรรมนฤมิต นั้น ก็มีความงดงามตามพุทธศิลป์สมัยใหม่ มีฐานเป็นรูปดอกบัวที่บอกถึงความเบ่งบานทางธรรม ด้านบนยอดเจดีย์ (ชั้น 6 ) ทางวัดได้นำแก้ว แหวน เพชร พลอย มาประดับตกแต่ง (ไม่มีการหลอมให้เสียรูปทรง) และให้ช่างนำเครื่องประดับเหล่านั้นมาประกอบเป็นฐานรองพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมาจาก 4 สถานที่ คือ สมเด็จพระญาณสังวร , สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก , สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ , คุณทองดี คุณารมร์ และ ที่พระอาจารย์ปารมีได้มาจาก เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย ค่ะ
รูปจักรวาลบนยอดพระเจดีย์ สื่อถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของจักรวาลทั้งจักวาล ศูนย์รวมของจิตใจจะอยู่ ณ ที่เดียวกัน คือ พุทธศาสนา นั่นเอง
ทั้งนี้ตามความเชื่อของชาวพุทธกล่าวว่า หากใครได้นำทรัพย์ที่มีค่ามาถวายเป็นพุทธบูชา แด่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นอกจากตนจะสามารถละกิเลสทางกายได้ ผลแห่งการกระทำนี้ ยังจะนำตนไปสู่หนทางแห่งนิพานอย่างแท้จริงอีกด้วย
หลังจากกราบ พระบรมสารีริกธาตุ บนยอดเจดีย์ ซึ่งทางวัดเปิดให้ ZeekWay เข้าชมเป็นกรณีพิเศษแล้ว (ปกติจะไม่เปิดให้ได้ชม หากไม่มีวาระสำคัญของทางวัด) เราก็มาเดินชมความงามของพุทธสถานในแต่ละอาคาร ที่แฝงไปด้วยคำสอนทางธรรมที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ค่ะ
หากนักท่องเที่ยวอยากมาปฏิบัติธรรม ทาง วัดพระธาตุผาแก้ว ก็มีความยินดี เพราะที่นี่มีพื้นที่ที่เหมาะสม ธรรมชาติที่เงียบสงบ และบรรยากาศที่ร่มเย็น ซึ่งจะสามารถนำพาพุทธบริษัทไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ได้อย่างง่ายดาย
ข้อมูลการท่องเที่ยว
วัดพระธาตุผาแก้ว95 หมู่ 7 บ้านทางแดง ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 67280 08-4494-1262 ช่วงเวลา 13.00 – 16.00 น.
การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว : จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนมิตรภาพผ่านจังหวัดสระบุรี และใช้เส้นทางหมายเลข 21 (สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์) เมื่อผ่านตัวเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์มาสักระยะ จนใกล้หลักกิโลเมตรที่ 260 ให้สังเกตอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 (หล่มสัก พิษณุโลก) และขับต่อตรงไปประมาณ 30 นาที จะเจอธนาคารกสิกรไทยอยู่ทางซ้ายมือ ให้กลับรถ แล้วขับตรงมาจนเจอหลักกิโลเมตรที่ 103 จุดสังเกตคือ อบต.แคมป์สนอยู่ทางซ้ายมือ และจะเห็นป้าย วัดพระธาตุผาแก้ว (พุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว) อยู่ปากซอยทางเข้าหมู่บ้านทางแดงข้าง อบต.แคมป์สน จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป ตรงตลอดจนเห็นสะพานทางเข้าวัด เลี้ยวขวาข้ามสะพานและจอดรถ ณ บริเวณที่จัดไว้ (ระยะทางจากกรุงเทพ ถึงวัดรวมระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5.30 ชั่วโมง)
การเดินทางโดยรถประจำทาง : สามารถเดินทางมาลงได้ 2 สถานี คือ สถานีหล่มสัก แล้วเรียกรถต่อไปยังพิษณุโลก จากนั้นให้ลงหน้าตลาดห้วยไผ่ และเดินตรงไปหน่อยจะเจอปากทางเข้าหมู่บ้านทางแดง เดินตรงเข้าไปเรื่อย ๆ เข้ามาประมาณ 20 นาทีจะเห็นสะพานทางเข้าวัดด้านขวามือ
หรือนั่งรถมาลงสถานีตัวเมืองเพชรบูรณ์ โดยในระหว่างวันจะมีรถโดยสารบริการต่อเข้าไปยังตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จากนั้นให้ลงรถที่หน้า อบต. แคมป์สน หรือหน้าตลาดห้วยไผ่ เดินตรงไปหน่อยจะเจอปากทางเข้าหมู่บ้านทางแดง เดินตรงเข้าไปเรื่อย ๆ เข้ามาประมาณ 20 นาทีจะเห็นสะพานทางเข้าวัดด้านขวามือ
รถโดยสารที่ให้บริการ มี 2 บริษัทคือ
1. บริษัท เพชรทัวร์ จำกัด
– สถานีเพชรบูรณ์ 0-5672-2818
– สถานีกรุงเทพฯ 0-2936-323
2. บริษัท ถิ่นสยามทัวร์ จำกัด
– สถานีเพชรบูรณ์ 0-5672-1913
– สถานีหล่มสัก 0-5670-1613
– สถานนีกรุงเทพฯ 0-2936-0500
ขอขอบคุณ http://www.zeekway.com