อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

uthai-257

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงและเป็นบริเวณที่ตั้งของตัวจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบัน ลักษณะเมืองมีรูปแบบคล้ายกับสี่เหลี่ยมคางหมูวางยาวขนานไปกับแม่น้ำ ความยาวของกำแพงเมืองด้านเหนือประมาณ 2,400 เมตร ด้านใต้ประมาณ 2,160 เมตร ความกว้างด้านตะวันออกประมาณ 540 เมตร และความกว้างด้านตะวันตกประมาณ 220 เมตร กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงทำเป็นชั้นเชิงเทิน ตอนบนสุดก่อเป็นรูปใบเสมา มีประตูเมืองโดยรอบรวม 10 ประตู กำแพงเมืองยังมีป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรงทั้งที่บริเวณมุมเมืองทั้ง 4 มุมและในแนวกำแพงเมือง รวมทั้งยังมีป้อมรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านหน้าประตูเมืองด้วย ถัดจากกำแพงเมืองศิลาแลงเป็นคูเมืองกว้างประมาณ 30 เมตร จากการที่เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง จึงพบหลักฐานเกี่ยวกับการทดน้ำจากแม่น้ำปิง เพื่อนำน้ำเข้าสู่คูเมืองบริเวณมุมหัวเมือง และเมื่อน้ำล้นคูเมืองเกินความจำเป็นแล้วก็จะระบายออกที่ด้านมุมท้ายเมืองลงสู่ลำคลองธรรมชาติ
ภายในเมืองและนอกเมืองกำแพงเพชรมีซากโบราณสถานใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานเนื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ กลางเมืองมีวัดพระแก้ว วัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง เป็นลักษณะวัดหลวงที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้วเป็นบริเวณที่เรียกว่าสระมน (เชื่อกันว่าเป็นบริเวณวังโบราณ) และเทวสถานศาลพระอิศวรซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือ มีกลุ่มวัดโบราณขนาดใหญ่น้อยประมาณ 40 แห่ง สร้างอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อม จัดเป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบถ วัดฆ้องชัย วัดนาคเจ็ดเศียร วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดเตาหม้อ วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่ กลุ่มโบราณสถานเขตอรัญญิกนับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร ด้วยโบราณสถานสร้างรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โบราณสถานมีขนาดใหญ่โตอลังการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และมีความงดงามทางศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรควบคู่กันไป
บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงหรือฝั่งตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งที่เรียกว่าเมืองนครชุม ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ตรงปากคลองสวนหมาก กำแพงเมืองเป็นลักษณะคันดินสามชั้น ซึ่งในปัจจุบันถูกทำลายไปมากทั้งการกัดเซาะของแม่น้ำปิง และการขยายตัวของชุมชนปัจจุบัน
กลุ่มโบราณสถานสำคัญชองเมืองนครชุมตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้ ห่างจากแนวกำแพงเมืองประมาณ 500 เมตร เป็นกลุ่มวัดเขตอรัญญิกของเมืองนครชุม วัดสำคัญได้แก่ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ และวัดหนองลังกา
ประวัติความเป็นมาของเมืองกำแพงเพชร
บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงในท้องที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในช่วงก่อนสมัยสุโขทัย อาทิเช่น แหล่งโบราณคดีเขากะล่อน อำเภอขาณุวรลักษบุรี และแหล่งโบราณคดีบ้านคลองเมือง กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร พบโบราณวัตถุที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัดแบบมีบ่า เศษเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ เศษขี้แร่ (ตะกรัน) แวดินเผา (ดินเผาเจาะรูตรงกลาง เป็นอุปกรณ์ในการปั่นด้าย)
เมืองไตรตรึงษ์บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนตะเกียงดินเผาแบบอินเดีย สันนิษฐานว่า บริเวณเมืองไตรตรึงษ์คงจะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณ ระหว่างบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางกับชุมชนในท้องที่จังหวัดลำพูนหรือหริภุญไชย
นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ยังปรากฏเรื่องราวในตำนาน และพงศาวดารหลายฉบับที่กล่าวถึงชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำปิง เช่น ตำนานสิงหนวัติกุมารได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยศิริได้หนีข้าศึกจากเมืองเหนือมาตั้งเมืองใหม่ชื่อเมืองกำแพงเพชร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16
จากหลักฐานทางโบราณคดี ตลอดจนเรื่องราวในตำนานทำให้ทราบว่าได้มีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำปิง ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรก่อนสมัยสุโขทัย แต่การพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองกำแพงเพชรขนาดใหญ่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน
ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลัก รวมไปถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรมจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าเมืองกำแพงเพชรและเมืองนครชุมสถานปนาขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัย ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือภายหลังรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง ในระยะแรกเมืองนครชุม คงจะมีบทบาทและความสำคัญมากกว่าเมืองกำแพงเพชร ดังหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไท ได้เสด็จสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุกลางเมืองนครชุม พร้อมปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งได้มาจากลังกาทวีป เมื่อพ.ศ. 1900 ต่อมาได้ย้ายศูนย์กลางเมืองมาอยู่ทางฝั่งเมืองกำแพงเพชร ซี่งอาจจะเนื่องด้วยสาเหตุทางการเมืองกับกรุงศรีอยุธยาที่ขยายอำนาจทางการเมืองขึ้นมาทางเหนือ เมืองนครชุมตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ หรืออาจจะเนื่องจากการประสบปัญหาแม่น้ำปิงกัดเซาะตลิ่ง ตลอดจนเกิดอุทกภัยน้ำหลากจากภูเขาทางทิศตะวันตก น้ำไหลท่วมคลองสวนหมากและตัวเมืองที่เป็นที่ลุ่มต่ำอยู่เสมอ
เมืองกำแพงเพชรทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงคงจะมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเมืองการปกครองในแถบลุ่มแม่น้ำปิง ในขณะเดียวกันด้านการศาสนาและศิลปกรรมได้เจริญรุ่งเรืองควบคู่ไปกับอำนาจการเมืองการปกครอง เรื่องราวที่กล่าวไว้ในตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทั้งสององค์มาชั่วระยะหนึ่ง
สมัยอยุธยา เมืองกำแพงเพชรได้เป็นหัวเมืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในกลุ่มหัวเมืองเหนือ และยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านที่ต้องคอยรับศึกจากกองทัพพม่ามาโดยตลอด เมืองกำแพงเพชรคงจะลดบทบาทและร้างไปในที่สุด เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2310
จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเมืองที่ตั้งของเมืองกำแพงเพชรที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างแคว้นสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา และในขณะเดียวกันก็สามารถติดต่อกับบ้านเมืองเชตล้านนาที่อยู่ทางเหนือได้อย่างสะดวก ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เมืองกำแพงเพชรจึงแสดงลักษณะที่เกี่ยวกับดินแดนทั้งสามแห่ง แต่ก็แฝงไว้ด้วยศิลปะของท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรเอาไว้ด้วย
การจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
กรมศิลปากรได้ดำเนินการคุ้มครองป้องกันโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรและเมือนครชุม โดยการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2480 ต่อมาได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2511 ในส่วนของการขุดแต่ง บูรณะ และพัฒนาโบราณสถาน ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2508 จนถึง พ.ศ. 2525 กรมศิลปากรจึงได้บรรจุงานปรับปรุงโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525 – 2529) โดยใช้ชื่อ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ 503 ไร่ และเขตอรัญญิก เนื้อที่ 1,611 ไร่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกทำลายหรือเสื่อมค่า พัฒนาโบราณสถาน และบริเวณเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ กรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2524 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน
โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ยังเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในด้านการใช้วัสดุศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชนในอดีต ตลอดจนโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและฑรรมชาติของโลก จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุโขทัยและเมืองบริวารคือ เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชรเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีพุทธศักราช 2534
โบราณสถานของเมืองกำแพงเพชร เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ โดยมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พุทธศาสนาในสมัยนั้นมีพระสงฆ์สองฝ่ายคือ ฝ่ายคามวาสีหรือวัดที่อยู่ในเมือง และอรัญวาสีหรือฝ่ายที่อยู่นอกเมือง
วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุจำพรรษา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีใหญ่ บนฐานยังมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบ
เอกสารตำนานโบราณกล่าวถึงพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ ได้เคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรซึ่งน่าจะประดิษฐานที่วักพระแก้วแห่งนี้
วัดพระธาตุ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของวัดพระแก้ว เจดีย์ประธานภายในวัดเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังสูงใหญ่ก่อด้วยอิฐ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น องค์ระฆังค่อนข้างเล็กอันเป็นรูปแบบเฉพาะของเมืองกำแพงเพชร ด้านหน้าเจดีย์ประธานเป็นฐานวิหารศิลาแลงและมีเจดีย์รายอยู่บริเวณมุมด้านหน้าข้างวิหารข้างละองค์
วังโบราณหรือสระมน อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว ติดกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณประตูสะพานโคม มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบ กึ่งกลางมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานอาคาร เศษกระเบื้องมุงหลังคา เศษภาชนะดินเผา และหลักฐานที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนมาก
ศาลพระอิศวร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร เหลือเฉพาะฐานของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง เดิมประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสำริดซึ่งมีจารึกที่ฐานว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ได้สร้างเทวรูปองค์นี้เมื่อ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยา จารึกยังได้กล่าวถึงการซ่อมแซมถนน คลองส่งน้ำ และการซ่อมแซมพระธาตุทั้งในเมืองและนอกเมือง
วัดพระนอน เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือ หรือบริเวณที่เรียกว่าอรัญญิก สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดใช้ศิลาแลงแทบทั้งสิ้น หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำและศาลาพัก ภายในวัดตอนหน้าวัดเป็นฐานอุโบสถเสาแปดเหลี่ยม ถัดไปเป็นวิหารซึ่งเดิมประดิษฐานพระนอนเป็นประธาน เสาวิหารใช้ศิลาแรงแท่งเดียวตลอดที่มีขนาดสูงใหญ่ ปักเรียงรายอยู่ภายในอาคาร โครงหลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้ สังเกตได้จากช่องสี่เหลี่ยมตามหัวเสาสำหรับสอดหัวขื่อหัวคาน ผนังวิหารเรียงศิลาแลงเป็นผนังช่องลูกกรมหรือช่องลม ถัดจากวิหารไปทางด้านหลังเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม นอกจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างอีกจำนวนมากมายในวัดนี้
วัดพระสี่อิริยาบถ อยู่ทางเหนือของวัดพระนอน ถัดขึ้นไปประมาณ 100 เมตร หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำ และศาลาพักเช่นเดียวกับวัดพระนอน สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดคือ วิหารที่สร้างบนฐานทักษิณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตอนหน้าวัด ด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑป ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุมยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อให้เว้าเข้าไป และประดิษฐานพระพุทธรูปแตกต่างกันออกไปในแต่ละด้าน คือ เดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือพระยืนขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ พระพักตร์เป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม
วัดช้างรอบ ตั้งอยู่บนยอดเนินสูงสุดของเขตอรัญญิก สิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้คือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว ฐานสี่เหลี่ยมด้านล่างสูงใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่เพื่อขึ้นไปถึงลานด้านบน หรือลานทักษิณ ฐานล่างประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 68 เชือก ตัวช้างทำลายปูนปั้นที่แผงคอ โคนขา และข้อขา ระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปพันธุ์พฤกษา เจดีย์ด้านบนเหลือเฉพาะฐานแปดเหลี่ยม และหน้ากระดานกลม ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการประดับลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และประดับรูปเทวดา นางฟ้า กินนร กินรี และหงส์ ด้านหน้าเจดีย์ประธานทีฐานวิหารขนาดใหญ่และถัดไปเป็นสระน้ำที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลง
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร รหัสไปรษณีย์ 62000 หมายเลขโทรศัพท์ : (055) 711921
เปิดทำการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท : ชาวต่างประเทศ 40 บาท
ขอขอบคุณ http://www.oceansmile.com/N/Kampangphet/kampang.htm

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .