ไหว้พระ 5 พี่น้อง

ขอแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวไหว้ “พระ 5 พี่น้อง” ใน 5 จังหวัด ดังนี้
หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ
หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม
หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม และ
หลวงพ่อเขาตะเครา วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

ซึ่งพระแต่ละองค์นั้นจัดอยู่ในทำเนียบสุดยอดพระพุทธรูปของเมืองไทยทั้งสิ้น

สำหรับประวัติความเป็นมาของพระ 5 พี่น้องนั้น(หรือพระ 3 พี่น้องในบางตำนานซึ่งได้แก่ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโต หลวงพ่อวัดบ้านแหลม) ตามตำนานระบุว่า พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ ต่างก็ลอยน้ำมาตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย และมีชาวบ้านมาพบเจอจึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและนำไปประดิษฐานไว้ตามวัดใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ

ส่วนเหตุที่ว่าพระพุทธรูปทั้ง 5 นี้เป็นพี่น้องกันก็มาจากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน บวชเป็นพระภิกษุและสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีอำนาจทางจิตมาก ได้ตั้งจิตอธิษฐานร่วมกันว่าจะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน และเมื่อพระภิกษุทั้งห้ามรณภาพไปแล้ว ก็ได้เข้ามาสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้งห้าองค์และแสดงปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำทั้ง 5 สาย

ในขณะที่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า การที่พระพุทธรูปทั้ง 5 ลอยน้ำมานี้ ก็เพราะเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาไฟเพื่อหลอมเอาทองที่หล่อจากองค์พระพุทธรูป ชาวบ้านเองก็ต้องการจะรักษาพระพุทธรูปไว้ จึงเอาปูนบ้าง รักดำบ้างไปพอกไว้ที่องค์พระเพื่อให้ดูไม่สวยงามและปกปิดความมีค่าไว้จากข้าศึก แต่เมื่อไม่อาจปกป้องได้ไหวจึงขนย้ายพระพุทธรูปสำคัญลงแพไม้ไผ่ล่องมาตามแม่น้ำเพื่อไม่ให้ข้าศึกทำลาย ด้วยน้ำหนักขององค์พระ เมื่อวางพระลงบนแพไม้ไผ่จึงดูเหมือนพระพุทธรูปลอยมาตามน้ำ จนผู้ที่พบเห็นถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่น้ำหนักมากจะสามารถจะลอยน้ำได้

“หลวงพ่อโสธร” แห่งแม่น้ำบางปะกง

ประวัติของหลวงพ่อโสธรมีอยู่ว่า พระหลวงพ่อโสธรและพระพุทธรูปอีกสององค์ได้ลอยมายังแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “สามเสน” และลอยขึ้นมาให้ชาวบ้านเห็น แต่เมื่อพยายามชักลากพระทั้ง 3 องค์ขึ้นมาบนฝั่งเท่าไรก็ไม่สามารถทำได้ ว่ากันว่าต้องใช้ผู้คนเป็นแสนๆ ก็ทำไม่สำเร็จ บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “สามแสน” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น”สามเสน”

จากนั้นพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็จมน้ำลง และลอยต่อไปยังคนละแห่ง โดยพระพุทธรูปองค์หนึ่งได้ลอยตามแม่น้ำบางปะกงมาขึ้นที่หน้าวัดโสธรและลอยให้ชาวบ้านเห็น ชาวบ้านจึงช่วยกันฉุดแต่ไม่สามารถนำขึ้นมาได้ จนต้องตั้งพิธีบวงสรวงใช้สายสิญจน์คล้องกับพระหัตถ์ของพระพุทธรูปจนสามารถอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในวิหารได้สำเร็จ

ในตอนนี้ผู้ที่ได้ไปไหว้หลวงพ่อโสธรก็จะเห็นได้ว่าทางวัดมีอุโบสถหลังใหม่เป็นอุโบสถหินอ่อนที่งดงามตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ซึ่งหากไหว้พระเสร็จแล้วก็สามารถนั่งเรือชมริมสองฝั่งแม่น้ำบางปะกงได้ด้วย

“หลวงพ่อโต” แห่งคลองสำโรง แม่น้ำเจ้าพระยา

พระพุทธรูปหนึ่งในห้าองค์ได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงคลองสำโรง แต่เมื่อชาวบ้านช่วยกันฉุดดึงเท่าไรก็ไม่สามารถนำพระขึ้นจากน้ำได้ จึงต้องใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามคลองสำโรงและอธิษฐานว่า หากพระพุทธรูปประสงค์จะขึ้นที่ใด ก็ขอแสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้น และเมื่อแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือปัจจุบันคือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก็เกิดหยุดนิ่ง ฝีพายพยายามพายอย่างเต็มกำลังก็ไม่สามารถลากแพไปได้ จึงอัญเชิญพระขึ้นมาประดิษฐานในพระวิหารของวัดบางพลีใหญ่ใน และต่อมาจึงได้สร้างอุโบสถใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้

หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เหตุที่ได้ชื่อว่าหลวงพ่อโตก็เพราะท่านมีขนาดใหญ่โต หน้าตักกว้างถึง 3 ศอก 1 คืบ มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อตอนที่สร้างโบสถ์เสร็จใหม่ๆ ก่อนจะอัญเชิญหลวงพ่อโตเข้าไปประดิษฐานภายในก็ได้มีการวัดขนาดของพระกับช่องประตูไว้อย่างพอดีแล้วว่าช่องประตูใหญ่กว่าองค์ท่านประมาณ 5 นิ้ว สามารถนำท่านชะลอผ่านประตูเข้าไปได้

แต่พอเวลาจะอัญเชิญหลวงพ่อเข้าสู่อุโบสถ ปรากฏว่าหลวงพ่อใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าช่องประตูมาก ไม่สามารถผ่านประตูเข้าไปได้ เกือบจะต้องทุบช่องประตูออกเสียแล้ว แต่มีบางคนเห็นว่าเป็นอภินิหารของหลวงพ่อโต ทุกคนจึงจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานขอให้หลวงพ่อผ่านเข้าประตูอุโบสถได้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบต่อไป ซึ่งก็สามารถอัญเชิญหลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้อย่างง่ายดาย

“หลวงพ่อวัดไร่ขิง” แห่งแม่น้ำนครชัยศรี

ประวัติของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนี้มีอยู่หลายแบบด้วยกัน บ้างก็ว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิงลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และชาวบ้านได้นำขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และเรียกท่านว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” บ้างก็เล่าว่า ในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตรในพ.ศ.2394 และครองวัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านไปที่วัดไร่ขิง และกล่าวกับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย

เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงจึงกราบเรียนท่านว่า วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปใหญ่โตได้ เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีพระอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงจึงเดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี(ท่าจีน) จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถตั้งแต่นั้นมา

และในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันสงกรานต์พอดี ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพนั้น แสงแดดที่ส่องแรงก็กลายเป็นเมฆดำ มีฟ้าร้องฝนตกโปรยปรายลงมา ทำให้คนที่อยู่ ณ ที่นั้นเกิดความชื่นใจ เชื่อว่าหลวงพ่อจะช่วยทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป

ทุกวันนี้ที่อุโบสถของหลวงพ่อวัดไร่ขิงก็จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศที่มีความศรัทธามากราบไหว้อยู่ไม่ขาด โดยเฉพาะผู้ที่มีทุกข์ร้อนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ก็มักจะนำน้ำมนต์ของหลวงพ่อไปอาบหรือดื่มเพื่ออธิษฐานให้หายจากโรคภัย

“หลวงพ่อบ้านแหลม” แห่งแม่น้ำแม่กลอง

หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวใน 5 องค์ที่เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลมมีอยู่ว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้เป็นลากอวนไปพบพระพุทธรูปปางมารวิชัยติดขึ้นมา จึงได้อาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือแล้วกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางก็ได้พบพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มน้ำอยู่ไม่ไกลนัก เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร จึงได้อัญเชิญขึ้นเรืออีกลำหนึ่ง

แต่พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดศรีจำปา ก็ได้เกิดมีฝนตกหนัก ลมพายุแรงจนทำให้เรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนนั้นล่มลง พระจมหายลงไปหาอย่างไรก็ไม่พบ ชาวบ้านจึงนำเอาพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่นั้นกลับไปยังถิ่นฐานของตน

และต่อมา ชาวบ้านวัดศรีจำปาก็ช่วยกันลงค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง จนพบพระพุทธรูปยืนนั้นและอัญเชิญไปยังวัดศรีจำปา แต่เมื่อชาวบ้านแหลมที่เป็นผู้พบได้รู้ข่าวว่าเจอพระพุทธรูปที่จมน้ำแล้วจึงพากันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านวัดศรีจำปาก็ไม่ยอมคืนให้ จนสรุปสุดท้ายชาวบ้านแหลมจึงยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเป็น”วัดบ้านแหลม” ตามสถานที่ที่พบพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก และเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ต่อมา และเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดเพชรสมุทรอย่างในปัจจุบัน

“หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” แห่งแม่น้ำเพชรบุรี

ต่อเนื่องกับเรื่องราวของหลวงพ่อบ้านแหลม หลังจากที่ชาวประมงบ้านแหลมนำพระพุทธรูปปางมารวิชัยกลับไปยังถิ่นฐานของตน ก็ได้นำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา และเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเขาตะเครา

ปัจจุบันชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่าหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา เนื่องจากมีผู้มาปิดทองที่องค์พระพุทธรูปจนหนา ทำให้ไม่เห็นองค์เดิมว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อหรือปูนปั้น และมีเรื่องเล่าว่าเมื่อปี 2527 ได้เกิดไฟไหม้ลุกท่วมองค์หลวงพ่อ ไฟที่ไหม้นั้นได้เปล่งรัศมีออกมา และทองที่หุ้มพระพุทธรูปก็ได้หลอมไหลออกมา เมื่อนำทองเหล่านั้นไปชั่งน้ำหนัก ก็พบว่าหนักถึง 9.9 กิโลกรัมทีเดียว

มีผู้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทองอยู่หลายเรื่องทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการอธิษฐานหรือบนขอให้ค้าขายร่ำรวย ช่วยให้แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ ฯลฯ ซึ่งผู้ที่สมหวังในคำอธิษฐานแล้วก็มักถวายหรือแก้บนด้วยการรำละคร หรือประทัด เป็นต้น แต่การบนที่มักสมปรารถนาเร็วก็คือการบนตัวบวช ไม่ว่าจะเป็นบวชพระ บวชเณร บวชชี บวชชีพราหมณ์
“วัดโสธรวรารามวรวิหาร” ตั้งอยู่ที่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา สอบถามโทร.0-3851-1048
“วัดไร่ขิง” อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม สอบถามโทร.0-3432-3056
“วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” ตั้งอยู่ที่ ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โทร.0-3471-5976
“วัดบางพลีใหญ่ใน” ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ สอบถามโทร.0-2337-3729
“วัดเขาตะเครา” ตั้งอยู่ที่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี สอบถามโทร.0-3240-9188
ข้อมูลดีดี จากกรมชลประทาน

อิ่มใจ อิ่มบุญ ไหว้พระ 5 พี่น้อง

1. หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
2. หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ
3. หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม
4. หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม และ
5. หลวงพ่อเขาตะเครา วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

ขอขอบคุณ http://www.tourmuangthai.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .