โรงเรียนพระปริยัติธรรมธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์วัดโพธาราม

โรงเรียนพระปริยัติธรรมธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์วัดโพธาราม นับเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดภายในวัด ทำหน้าที่จัดการศึกษาให้แก่พระภิกษุสามเณร ภายในวัด และในบริเวณใกล้เคียง เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

เนื่องด้วยหลวงพ่อพระธรรมคุณาภรณ์ จัดการศึกษาได้ไม่นาน ท่านได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๓ ซึ่งศิษยานุศิษย์ได้กำหนดให้เป็นวันกตัญญู บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแก่อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธารามทุกรูป คุณงามความดีของท่านยังติดตาตรึงใจศิษยานุศษย์วัดโพธารามเสมอมา

เมื่อสมัยพระมหาสายติ่ง ฐิตสจฺโจ ป.ธ. ๘ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม จึงได้มีดำริสร้างโรงเรียนขึ้น ๑ หลัง เป็นอาคารตรีมุข ทรงไทย สามชั้น ชั้นละ ๕ ห้องเรียน วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๑๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ได้ตั้งชื่อโรงเรียนเป็นอนุสรณ์ว่า “โรงเรียนพระปริยัติธรรมธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์ วัดโพธาราม” เพื่อถวายเป็นเกียรติประวัติแก่หลวงพ่อพระธรรมคุณาภรณ์ ๓๐ ปี ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังนี้ได้ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ได้เป็นมหาเปรียญมีอนาคตก้าวหน้า บางท่านก็ลาสิกขาไปประกอบสัมมาอาชีพ มีครอบครัวเป็นปรึกแผ่นจำนวนมาก

กำเนิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม
ย้อนดูประวัติศาสตร์การเรียนนักธรรม บาลีแล้ว วัดโพธารามได้เริ่มจัดรูปแบบที่เป็นระบบของการศึกษาที่ได้มาตรฐานโดยค่อย ๆ วางหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ จนหยั่งรากลึกมั่นคง สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีคุณภาพ
ในสมัยหลวงพ่อพระครูสวรรค์นคณาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส ท่านได้ตั้งโรงเรียนนักธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑ มีพระภิกษุสามเณรเรียนนักธรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะจัดตั้งโรงเรียนบาลีอีกประเภทหนึ่งแต่ท่านไม่ได้เป็นมหาเปรียญจึงได้วางแผนระยะยาวโดยจะนิมนต์พระมหาเช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ. ๙ (พระธรรมคุณาภรณ์) จนท่านมรณภาพ พระมหาเช้าจึงได้มาเป็นเจ้าอาวาสแทน
พ.ศ.๒๔๙๕ ได้จัดตั้งโรงเรียนบาลีขึ้น มีนักเรียนมากอย่างรวดเร็วเพราะสมัยนั้นไม่มีโรงเรียนบาลีแพร่หลายอย่างปัจจุบัน ลุมาถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็มีนักเรียนเกือบ ๒๐๐ รูป ทำให้การเรียนนักธรรม-บาลี เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก
พระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ. ๙) เป็นพระมหาเถระนักปราชญ์ แตกฉานในภาษาบาลี ปรากฏในเกียรติประวัติว่าท่านสอบ ป.ธ.๙ ได้ในสำนักเรียนต่างจังหวัดเป็นรูปแรก ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การจัดการศึกษาในสมัยเริ่มต้นจะได้รับการพัฒนามากเพียงไร เช่น
– ระบบห้องสมุดที่ทันสมัย มีระเบียบในการใช้ห้องสมุด พระภิกษุสามเณรใฝ่หาความรู้ แตกฉานในการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง
– มีพระไตรปิฎกสำหรับค้นคว้ามากมาย ทั้งฉบับภาษาไทย ฉบับภาษาอังกฤษ ฉบับภาษาพม่า และฉบับอักษรโรมัน
– เป็นผู้แตกฉานในภาษาบาลี ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ รจนาหนังสือทางพระพุทธศาสนาหลายเล่ม ตำราภาษาบาลี และงานแปลพระบาลี
จากการกล่าวถึงพระเดชพระคุณพระธรรมคุณาภรณ์นี้ จะสามารถมองเห็นพัฒนาการศาสนศึกษา
ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะได้มีโอกาสอาราธนาพระสงฆ์จากประเทศพม่า มาสอนพระไตรปิฎกภาคภาษาอังกฤษ คือ พ.ศ. ๒๕๐๑ อาราธนาพระภัททันตธัมมานันทะ (ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง) และพระโสณะ (อู โสภณะ ปัจจุบันอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา) ดังปรากฏในบาลีตอนว่าด้วยภาคประวัติ ในหนังสืออาสีติกปูชาอนุสรณ์ ๘๐ ปี ๘ มกราคม ๒๕๔๓ ของพระภันทันตธัมมานันทะมหาเถระว่า
๓๗. สยามสฏฺเฐ สมฺพุทฺธ สาสนุชฺโชตเน วเส นครสวรรค์ ปเร โพธารามสามี คุณากโร
๓๘. พระธรรมคุณาภรณ์ อุปาธิ ธาวี มรมมรฏฺฐโต มหาเถโร สโภ ยาสิ ปณฺฑิตํ อาคตาคมํ
ณ ประเทศไทยอันประเสริฐ เป็นที่รุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา พระมหาเถระผู้ทรงสมณศักดิ์ว่า “พระธรรมคุณาภรณ์” ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรม เจ้าอาวาสวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ได้นิมนต์พระเถระผู้เป็นบัณฑิตแตกฉานพระปริยัติธรรม (พระภันทันตธัมมานันทะ) จากประเทศพม่า
๓๙. อาคมฺม โส อิมํ รฏฺฐํ สทฺธึ โสภณณนามินา เถเรน วาสํ กปฺเปสิ โพธาราเม หิตตฺถิโก
อาจารย์ (ภัททันตฯ) ผู้ปรารถนาประโยชน์เกื้อกูลได้มาสู่ประเทศไทย พร้อมกับพระเถรนามว่าโสภณ พำนักอยู่ที่วัดโพธาราม พระอาจารย์ ภัททันตธัมมานันทะ อยู่ที่วัดโพธาราม ๖ ปี ได้ย้ายไปอยู่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง และได้เป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน ส่วนพระอาจารย์อู โสภณะ นี้ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ ได้ย้ายไปเผยแผ่ศาสนาที่สหรัฐอเมริกา จนถึงปัจจุบัน

ในยุคนี้สามารถสรุปภาพของการศึกษาได้ดังนี้
– พ.ศ. ๒๔๙๕ : จัดตั้งการศึกษาบาลี
: เปิดสอนอภิธรรมขึ้นที่วัดโพธาราม เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕
– พ.ศ. ๒๔๙๙ : จัดการเปิดสอนภาษาอังกฤษ แก่พระภิกษุสามเณร โดยบริจาคเงินส่วนตัวเป็นเงินเดือนครู เดือนละ ๕๐๐ บาท
:ได้เปิดโรงเรียนผู้ใหญ่ ภาคมัธยมศึกษาตอนต้น จากราชการแผนกการศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์มาจัดตั้ง ณ วัดโพธาราม เพื่อให้พระภิกษุสามเณรและประชาชนได้อาศัยเรียน โดยทางราชการได้ให้เงินอุดหนุนเดือนละ ๔๑๕ บาท นอกนั้นใช้เงินส่วนตัวของพระธรรมคุณาภรณ์สมทบ
:ได้จัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อวันศุกร์ ที่ ๕ ตุลาคม โดยมีaท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาสภเถร) สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา มาเป็นประธานในพิธี
– พ.ศ. ๒๕๐๑ : เปิดโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
– พ.ศ. ๒๕๐๒ :ได้มีการจัดการศึกษาพระไตรปิฎก ๓ ภาค เป็นวิชาบังคับเรียน เป็นภาษาอังกฤษทั้ง ๓ ปิฎก โดยอาราธนาพระสงค์มาจากพม่า มาเป็นอาจารย์สอน
– พ.ศ. ๒๕๐๓ : ได้อนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่กรมอาชีวศึกษา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป

ระบบการศึกษา

๑) แผนกธรรม แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรมชั้นเอก
๒) แผนกบาลี จัดชั้นเรียนในปัจจุบันถึง ๖ ชั้น คือ ชั้นบาลีประโยค ๑-๒ ชั้นบาลีประโยค ป.ธ. ๓ ชั้นบาลีประโยค ป.ธ.๔ ชั้นบาลีประโยค ป.ธ. ๕ ชั้นบาลีประโยค ป.ธ. ๖ ชั้นบาลีประโยค ป.ธ.๗

ขอบข่ายของงานที่รับผิดชอบ
๑) เจ้าสำนักเรียน กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาทุกระบบ
๒) อาจารย์ใหญ่ จัดการศึกษาตามนโยบายเจ้าสำนักเรียนร่วมกับคณะครูดูแลรับผิดชอบงานวิชาการและบุคลากร
๓) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายบริหาร รับผิดชอบการเงิน การบัญชีบุญนิธิฯ ครุภัณฑ์
๔) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง รับผิดชอบการปกครอง จำนวนนักเรียน จัดชั้นเรียนและห้องพักพร้อมทั้งการเข้าเรียนของนักเรียนทุกวัน
๕) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายธุรการ รับผิดชอบการประสานงานภายนอก สวัสดิการและแนะแนว
๖) เลขานุการโรงเรียน รับผิดชอบงานสารบรรณ และงานทะเบียน
๗) ผู้ช่วยเลขานุการโรงเรียน ช่วยงานเลขานุการ
๘) คณะครู รับผิดชอบการเรียนการสอน
การส่งเสริมการศึกษา
ถวายเงินนิตยภัตรทุกเดือน
จัดตั้งทุนบุญนิธิวัดโพธาราม เพื่อนำดอกผลมาเป็นทุนการศึกษาทุกปี
จัดสวัสดิการที่เหมาะสม สาธารณูปโภคเป็นสัปปายะ
ดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดมีทุนสำรองไว้เฉพาะในยามเจ็บไข้ฉุกเฉิน

ขอขอบคุณ http://watphotharam.net

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .