สิ่งที่สำคัญวัดศรีอุโมงค์คำ

Image (1)

วัดศรีอุโมงค์คำ ถือเป็นหนึ่งในวัดสำคัญของจังหวัดพะเยาที่มีของดีในระดับโดดเด่นเป็นเอกอุอยู่มากพอดู

เริ่มกันตั้งแต่สิ่งที่มองเห็นมาแต่ไกลเมื่อย่างก้าวเข้าวัดมานั่นก็คือ องค์พระธาตุเจดีย์บนเนินที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหลังของโบสถ์ เจดีย์องค์นี้บางข้อมูลระบุว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสน แต่จากเอกสารของวัดระบุว่าไม่ปรากฏหลักฐาน ปี พ.ศ.ที่สร้างชัดเจน แต่น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปี ลักษณะเจดีย์แม้เป็นทรงล้านนาทั่วไป แต่มีความโดดเด่นตรงที่มีฐานย่อมุมไม้ 12 และมีซุ้มพระประดับอยู่ทั้ง 4 ด้าน

ด้วยความที่เจดีย์องค์นี้ ในอดีตมักถูกฟ้าผ่าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนโบราณหลายคนเชื่อว่าเป็นเจดีย์อาถรรพ์ แต่หากมองกันในข้อเท็จจริงของหลักวิทยาศาสตร์ ยุคนั้นยังไม่มีสายล่อฟ้าการที่เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนเนินที่สูงถือเป็นสื่อนำไฟฟ้าอย่างดี ดังนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปมีการติดตั้งสายล่อฟ้าที่เจดีย์ขึ้นก็ทำให้ปัญหาเรื่องฟ้าเจดีย์หักพังเป็นอันหมดไป

ส่วนอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่มีคนเคยเห็นแสงคล้ายลูกแก้วลอยจากพระธาตุวัดลี มาสู่องค์พระธาตุที่วัดศรีอุโมงค์คำในค่ำคืนวันพระสำคัญๆนั้น ถือเป็นคำบอกเล่าที่วันนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้

จากเจดีย์ก่อนที่จะเข้าไปชมของดีภายในโบสถ์ ผมขอพาไปไหว้“พระเจ้าทันใจ” ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระหลังเล็กๆ ณ มุมหนึ่งของวัดกันก่อน

พระเจ้าทันใจองค์นี้ ดั้งเดิมเป็นพระจากที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่ในปี พ.ศ. 2497 หลวงพ่อใหญ่ หรือพระธรรมวิมลโมลีที่ขณะนั้นเป็นพระครูพินิตธรรมประภาส ได้ย้ายจากวัดเมืองชุม ต.แม่ต๋ำ มาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ ความที่หลวงพ่อใหญ่เป็นผู้นิยมสะสมพระพุทธรูปเก่า เมื่อท่านพบพระพุทธรูปองค์นี้ที่สวนของนายอัฐ สายวรรณะ ใกล้ๆกับป่าช้าวัดลี(แหล่งขุดค้นงานพุทธศิลป์หินทรายอันสำคัญแห่งเมืองพะเยา) จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำในปีเดียวกันนั่นเอง

พระเจ้าทันใจองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปหินทรายที่ได้ชื่อว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปหินทรายที่ขุดค้นพบ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ไม่มีชื่อเรียก แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน คนที่มาสักการะขอพรมักสมหวังในไม่ท่าน ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “พระเจ้าทันใจ”

ใกล้กับพระเจ้าทันใจมีพระพุทธรูปหินทรายสีอ่อนกว่าองค์เล็กกว่าประดิษฐานอยู่ข้างๆ พระพุทธรูปองค์นี้คือ “พระเจ้ากว๊าน”องค์จำลอง

สำหรับพระเจ้ากว๊าน หรือ “หลวงพ่อศิลา” เป็นพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา ปางมารวิชัยอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ถูกค้นพบในกว๊านพะเยาช่วงน้ำลดในปี พ.ศ. 2526 (ก่อนจะเป็นอ่างเก็บน้ำในปี 2482 กว๊านพะเยาเคยเป็นชุมชนมีวัดมีหมู่บ้านมาก่อน)

พระเจ้ากว๊าน ถูกอัญเชิญจากกว๊านพะเยามาประดิษฐานที่วัดศรีอุโมงค์คำอยู่ 20 กว่าปี จนกระทั่งทางการบูรณะปรับแต่ง”วัดติโลกอาราม”กลางกว๊านพะเยาเสร็จสิ้น จึงได้ได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานที่วัดติโลกอารามในกว๊านพะเยาตามเดิม

นั่นจึงทำให้ทางวัดศรีอุโมงค์คำ สร้างองค์พระเจ้ากว๊านจำลองขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงว่าครั้งหนึ่งท่านเคยมาประดิษฐานอยู่ที่นี่

“พระเจ้าล้านตื้อ” พระพุทธรูปสุดงามแห่งดินแดนล้านนา/ ปิ่น บุตรี
พระเจ้าแข้งคม

2 พระพุทธรูปสำคัญภายในโบสถ์

โบสถ์ของวัดศรีอุโมงค์คำ ตั้งอยู่บนเนิน ลักษณะภายนอกดูเรียบง่ายเหมือนโบสถ์ทั่วไป ส่วนลักษณะภายในนั้นยิ่งดูเรียบง่ายเข้าไปใหญ่ ไม่มีจิตรกรรมฝาผนังลวดลายวิจิตร ไม่มีอะไรหวือหวา มีเพียงองค์พระประธานและพระพุทธรูปบริวารประดิษฐานอยู่ ดูสงบนิ่งแฝงความขรึมขลังอยู่ในที

สำหรับภายในโบสถ์วัดศรีอุโมงค์คำที่ดูเรียบง่ายไม่หวือหวา ชนิดที่ใครหลายคนเมื่อมาเจอบรรยากาศแบบนี้แล้ว อาจจะทำเพียงแค่ยืนไหว้พระประธานที่ด้านนอกก่อนสะบัดเอวจากไป แต่หารู้ไม่ว่า ถ้าไม่ด่วนใจร้อน ใช้เวลาเดินเข้าไปสักหน่อย สำรวจสังเกตมองให้ถ้วนถี่รอบคอบ จะพบว่าในโบสถ์หลังนี้มีพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษอยู่ 2 องค์ด้วยกัน

องค์แรกคือ องค์แรกคือ “พระเจ้าแข้งคม” ประดิษฐานอยู่ทางมุมด้านขวาของโบสถ์ พระเจ้าแข้งคมเป็นพระพุทธรูปหินทรายที่น่ายลงานศิลปะพื้นบ้าน

“พระเจ้าล้านตื้อ” พระพุทธรูปสุดงามแห่งดินแดนล้านนา/ ปิ่น บุตรี
พระเจ้าล้านตื้อ

เหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ได้ชื่อว่าพระเจ้าแข้งคม เป็นเพราะท่านมีหน้าแข้ง(พระชงฆะ) เป็นเหลี่ยมเป็นสันคมชัดอย่างชัดเจน นับเป็นอีกหนึ่งในงานพุทธศิลป์พื้นบ้านล้านนาที่ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง

จากพระเจ้าแข้งคมมาถึงองค์พระประธานที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ภายในโบสถ์ พระประธานองค์นี้คือ ”พระเจ้าล้านตื้อ”

พระเจ้าล้านตื้อ มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเมืองสร้อยพะเยา ในราวปี พ.ศ. 2058 แต่ไม่ทราบว่าดั้งเดิมมาจากที่ไหน เพราะพบถูกทิ้งอยู่ที่สนามเวียงแก้ว(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลหลักเมืองพะเยา) ก่อนถูกอัญเชิญมาเป็นพระประธานภายในโบสถ์วัดศรีอุโมงค์คำ

“พระเจ้าล้านตื้อ” พระพุทธรูปสุดงามแห่งดินแดนล้านนา/ ปิ่น บุตรี
สลักที่องค์พระเจ้าล้านตื้อ

พระเจ้าล้านตื้อ เป็นปางมารวิชัย ทำจากทองสำริด หน้าตักกว้าง 184 เซนติเมตร สูง 270 เซนติเมตร มีอีก 2 ชื่อเรียกว่า “พระเจ้าแสนแส้” หรือ “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์”

สำหรับที่มาของชื่อพระเจ้าล้านตื้อนั้น คำว่าตื้อเป็นจำนวนนับของทางล้านนา ตื้อเป็นจำนวนนับที่เยอะมาก จากแสน ล้าน โกฏิ ก็เป็น“ตื้อ” ดังนั้นล้านตื้อจึงหมายถึงความมีน้ำหนักมากของพระพุทธรูปองค์นี้

ส่วนพระเจ้าแสนแส้(บางข้อมูลเขียนว่าแสนแซ่) “แส้” เป็นภาษาล้านนาหมายถึงสลัก พระพุทธรูปนี้มีความพิเศษตรงที่ ตลอดทั้งองค์ของท่านช่างทำเป็นสลัก สามารถถอดประกอบได้ มีทั้งหมด 4 จุดด้วยกัน คือที่คอ(พระศอ) ข้อศอกทั้ง 2 ข้าง และที่เอว

“พระเจ้าล้านตื้อ” พระพุทธรูปสุดงามแห่งดินแดนล้านนา/ ปิ่น บุตรี
พระพักตร์พระเจ้าล้านตื้อที่ดูอมยิ้มเล็กน้อย

ขณะที่ชื่อ“หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์”นั้น เป็นชื่อที่มาทีหลัง ตั้งเพื่อยกย่องให้เกียรติในความงดงามพระเจ้าล้านตื้อ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งแห่งล้านนา โดยหลวงพี่ที่วัดแห่งนี้บอกกับผมว่า อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินนามอุโฆษ เมื่อมาเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ แกไม่รีรอที่จะบอกว่าพระเจ้าล้านตื้องดงามที่สุดในบ้านนาตั้งแต่แกเคยพบเจอมา

พระเจ้าล้านตื้อมีพระวรกายอวบอิ่ม สีทองงามอร่าม พระพักตร์ดูอมยิ้มอยู่ตลอดเวลา มองแล้วให้ความรู้สึกสุขใจอิ่มบุญดีเหลือเกิน

และนี่ก็คือสุดยอดของดีของวัดศรีอุโมงค์คำ วัดที่แม้จะไม่ได้ชื่อว่า ถ้าไปแอ่วพะเยาแล้วไม่ได้เยือนวัดนี้เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึง แต่นี่ถือเป็นวัดที่ถ้าไปแอ่วพะเยาแล้ว หากมีโอกาสแวะเวียนไปเยือน เราก็จะมีกำไรในชีวิตเพิ่มมากขึ้น
ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .