ไหว้พระ 9 วัด แถม 1 วัด จ.นนทบุรี

tour9-temple0000000

ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด นนทบุรี ให้มาร่วมทำบุญไหว้พระ 9 วัน ฟรี ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ณ ตลาดริมน้ำวัดใหญ่สว่างอารมณ์

รอบที่ให้บริการ มีจำนวน 3 รอบ
1.รอบ 10.00
2.รอบ 11.00
3.รอบ 12.00

วัดที่เราจะไปทั้งหมด 9 วัด แถม 1 วัด คือ
1.วัดใหญ่สว่างอารมณ์
2.วัดบางจาก
3.วัดเสาธงทอง
4.วัดไผ่ล้อม
5.วัดปรมัยยิกาวาส
6.วัดฉิมพลีสุทธาวาส
7.วัดกลางเกร็ด
8.วัดเชิงเลน
9.วัดท่าอิฐ
10.วัดแสงสิริธรรม

เริ่มแรก
ออกเดินทางจากบ้านประมาณ 10.30 น. ถึงวัดใหญ่สว่างอารมณ์ ประมาณ 11.20 น. ซึ่งเราจะทันเรื่อเที่ยวสุดท้ายเวลา 12.00 น. เมื่อไปถึงวัดแล้วไปทำการลงทะเบียนในจุดที่ตั้งไว้และรับป้ายติดเสื้อ ซึ่งจะต้องติดตัวไว้ตลอด และในช่วงเวลาที่รอเดินทาง เราก็เริ่มไหว้พระ วัดนี้เป็นวัดแรกคับ มาดูภาพการลงทะเบียนกันคับ

วัดที่ 1 ” วัดใหญ่สว่างอารมณ์ ”

วัดใหญ่สว่างอารมณ์ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนปลายราว พ.ศ. 1963 แต่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาชื่อว่า วัดน้อย เพราะเรียกตามที่ตั้งที่อยู่ติดคลองบางน้อย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหญ่ยิ่ง จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เปลี่ยนมาเป็นชื่อ วัดใหญ่บางน้อย เพราะมีเจ้าอาวาสชื่อหลวงพ่อน้อย ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2463 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้เสด็จมาพักผ่อนอริยบทพร้อมประทับ ณ ตำหนักชั่วคราวที่ข้าหลวงประจำจังหวัดสร้างถวายเป็นเวลาหลายวัน และทรงพอพระทัยในพระตำหนักที่พัก ทรงมีพระอารมณ์ผ่องใสพร้อมทั้งสุขภาพและพลานามัยดีขึ้น จึงได้ขนานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดใหญ่สว่างอารมณ์” แต่เมื่อเวลาผ่านไปพระตำหนักของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรุดโทรมมากทางวัดจึงรื้อลง

เมื่อมาถึงวัดเราก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องกราบไหว้พระขอพรให้สราญใจกันก่อน ภายใน “พระอุโบสถ” ทรงไทยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 4 ศอก ทำจากศิลาแลง ปางสมาธิ สมัยสุโขทัย เป็นพระประธานของอุโบสถ ส่วนวิหารที่อยู่ข้างกันนั้น เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อแสนล้าน” ที่ประชาชนนิยมมากราบไหว้ขอพร และเสี่ยงเซียมซีขอโชคลาภ

วัดที่ 2 ” วัดบางจาก ”

วัดบางจาก เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัด นนทบุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คนที่ไปเที่ยวเกาะเกร็ด มองมาด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะเห็นพระองค์ใหญ่ตั้งอยู่เป็นสง่า ก่อนหน้านั้น ทางวัดได้ต่อเติมสร้างอุโบสถเป็น 2 ชั้น เนื่องจากอุโบสถหลังเก่ามีแค่ชั้นเดียว เวลาถึงฤดูน้ำเมื่อไรน้ำจะไหลท่วมอุโบสถทุกครั้ง ทางวัดเลยให้มีการขุดเจาะฐานอุโบสถ เพื่อต่อเติมเป็น 2 ชั้น ขณะที่เครื่องขุดเจาะไปกระทบวัตถุแข็งเข้าอย่างหนึ่ง คนงานเลยช่วยกันขุดดินกับทรายออก จึงพบว่าใต้ฐานอุโบสถเป็นอุโมงค์ โดยเครื่องเจาะไปโดนองค์พระโมคคัลลานะ ทำให้บริเวณใบหน้ากับแขนขวาชำรุด หลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทำให้ชาวบ้านพากันมาปิดทององค์พระ และลูกนิมิต พร้อมกับนำน้ำที่ไหลออกข้างอุโมงค์กลับไปกินกันจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์

พระองค์หนึ่งใต้ฐานอุโบสถมีป้ายชื่อว่าพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย (พระหนุนดวง) ส่วนอีกองค์หนึ่งระบุชื่อพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา (พระค้ำดวง) โดยพระทั้ง 2 องค์ตั้งวางไว้ลักษณะคล้ายกำลังค้ำฐานของอุโบสถไว้ นอกจากนี้ยังมีลูกนิมิตกลมแต่แบนอีก 1 ลูก ตั้งวางอยู่บนโขดหิน ส่วนตลอดทางเดินรอบอุโมงค์ซึ่งเป็นดินเหนียว ปรากฏว่ามีน้ำไหลออกมาตลอดทาง ชาวบ้านจึงนำภาชนะมารองและเก็บไปอาบกินที่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ทำให้พื้นดินเจิ่งนองไปด้วยน้ำ และบางส่วนก็เป็นบ่อขนาดเล็ก ทางวัดต้องนำเครื่องวิดน้ำมาสูบออก แต่ยังมีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มตลอดเวลา ทำให้สูบเท่าไรน้ำก็ไม่ลดลงเสียที ทางวัดเลยนำเชือกมากั้นไว้ที่ขอบบ่อ พร้อมกับเขียนป้ายไว้ว่า “บ่อน้ำพันปี”

วัดที่ 3 ” วัดเสาธงทอง ”

เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ วัดสวนหมาก ศิลปสมัยอยุธยา ที่มีเจดีย์ ย่อมุมสิบสองขนาดใหญ่อยู่หลังโบสถ์ เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในเขตอำเภอปากเกร็ด ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์ บริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมอีกองค์หนึ่งมีรูปแปลกมีฐานเหลี่ยม องค์ระฆังทำเป็นทรงกลมสูง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมาก เป็นลายทองเขียนลาย กรวยเชิงอย่างงามพระประธานเป็นพระปางมารวิชัย ปูนปั้น ขนาดใหญ่องค์หนึ่งในจังหวัดนนทบุรี คนมอญเรียก วัดนี้ว่า “เพ๊ยะอาล๊าต” ในสมัยอยุธยาเรียกว่า “วัดสวนหมาก”

วัดที่ 4 ” วัดไผ่ล้อม ”

วัดไผ่ล้อมเกาะเกร็ด สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้”

เป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ อุโบสถ เป็นโบสถ์สมัยอยุธยาที่งามมากแห่งหนึ่ง แต่มีการซ่อมครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 ลายจำหลักไม้ที่หน้าบันเป็นลายดอกไม้งามมาก เช่นเดียวกับสาหร่ายและรวงผึ้งแกะสลักไม้ได้งดงามมีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะโต้” ข้างวัดไผ่ล้อมมีวัดเก่าแก่ที่รักษาไว้ คงสภาพเดิม ทำจากไม้

วัดที่ 5 ” วัดปรมัยยิกาวาส ”

วัดปรมัยยิกาวาส เดิมชื่อ “วัดปากอ่าว ” มีชื่อในภาษามอญว่า ” เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง ” หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฎพระเจดีย์มุเตาซึ่งเป็นเจดีย์ทรงมอญ ปัจจุบันอยู่ติดริมแม่น้ำกระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง อันเป้นสัญลักษณ์ของวัดมาแต่โบราณ ต่อมาสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่เกาะมากขึ้น วัดแห่งนี้จึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนและสถานที่จัดงานประเพณีพิธีกรรมของชาวมอญบนเกาะเกร็ด และที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่

เจดีย์มุเตา (เจดีย์เอียง) พระเจดีย์ทรงมอญแบบเจดีย์มุเตาในเมืองหงสาวดี เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานแปดเหลี่ยมย่อมุม กว้างด้านละ 5 วา สูง 4 วา 1 ศอก ยอดพระเจดีย์มีฉัตรทรงเครื่อง 5 ชั้น อย่างมอญ ตั้งอยู่หัวมุมเกาะเกร็ด สร้างในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเกาะเกร็ด

วัดที่ 6 ” วัดฉิมพลีสุทธาวาส ”

วัดฉิมพลีตั้งอยู่บนเกาะเกร็ดทางด้านทิศใต้ เป็นวัดโบราณ ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเรียกกันว่า “วัดป่าฝ้าย” มีชื่อเต็มว่า “วัดฉิมพลีสุทธาวาส” มีพระอุโบสถเก่าขนาดเล็กลักษณะงดงามมาก และยังคงสภาพสมบูรณ์ตามแบบเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อม รอบด้วยลายดอกไม้ ยอดมณฑป ซุ้มปประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นแบบหน้านางซึ่งยังคงความงามอยู่ ฐานพระอุโบสถโค้งแบบเรือสำเภา ด้านเหนือพระอุโบสถมี เจดีย์ทรงระฆังซึ่งแปลกกว่าที่อื่น คือ มีกระจกสีประดับอยู่ที่องค์เจดีย์ นอกจากนี้ยังมีตุ๊กตาจีนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ข้างประตูกำแพงพระอุโบสถ 2 ตัวอีกด้วย

อาณาบริเวณของวัดฉิมพลีในปัจจุบันนั้นใหญ่กว่าในอดีตเนื่องจากรวมเอาอาณาบริเวณของวัดป่าเลไลย์ ซึ่งในขณะนี้เป็นวัดร้างเข้าด้วยกันแล้ว วัดป่าเลไลย์นี้มีพระอุโบสถที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง และมีใบเสมาทำจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปากเกร็ด บานประตูเขียนลายทองรดน้ำภาพเสี้ยวกาง ที่งดงาม แต่ได้ลบเลือนไปมากแล้วรวมทั้งยังมีความสูง 1.69 เมตร ส่วนพระประธานและพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยแบบอยุธยา ได้นำไปประดิษฐานที่พระอุโบสถ
วัดที่ 7 ” วัดกลางเกร็ด ”

วัดกลางเกร็ด อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำลัดเกร็ด มีพระประธานปางมารวิชัย หน้าตัก ๓ ศอกคืบ และพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๙๙ วา สร้างมานานกว่า ๑๐๐ ปี วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงครามสีมา สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรด ฯ ให้ขุดคลองลัดนี้ในสมัยอยุธยา ปัจจุบันคลองลัดนี้ได้ขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำ วัดจึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถหลังเก่าที่กำลังบูรณะแสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดได้เป็นอย่างดี ส่วนหอไตรกลางน้ำสภาพสมบูรณ์ยังคงงดงามแบบเรียบง่ายด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น พระพุทธรูปสำคัญของวัดซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน คือ พระพุทธไสยาสน์ หรือ หลวงพ่อพระนอน ชาวบ้านมักจะมาบนบานขอพรให้การงานสำเร็จดังประสงค์
ท่านเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเล่าให้ฟังว่า เดิมที่วัดมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เป็นพระพุทธรูปเก่าไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด ต่อมาชำรุดทรุดโทรมมากจึงได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ทั้งองค์ โดยดูแบบจากพระพุทธไสยาสน์ที่มีชื่อเสียงของวัดอื่น พระพุทธไสยาสน์องค์ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหาร ประทับนอนสีหไสยาสน์ พระพาทาและพระกรพับขึ้นตั้งรับพระเศียรอยู่หน้าพระเขนย พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรอยู่บนพระเขนย กลวงฝ่าพระบาทมีรูปจักร ซึ่งหมายถึงจักรที่หมุนไปโดยรอบทั่วพื้นพิภพ อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิราชตามตำรามหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ คือฝ่าพระบาทเป็นจักรลักษณะ ซึ่งช่างตีความเป็นรูปจักรกลางฝ่าพระบาท ในทางศาสนาพระพุทธเจ้าก็ทรงเทียบเท่ากับจักรพรรดิราช

วัดที่ 8 ” วัดเชิงเลน ”

เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางสร้างขึ้นพร้อมกับการเกิดชุมชนบ้านปากเกร็ดน้อย และด่านขนอนบ้านปากเกร็ดน้อย เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดมี สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มชายน้ำ และอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ลำน้ำโค้งหักศอกตามแนวโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยกระแสน้ำไหลไม่รุนแรง จึงมีโคลนตมที่ตามน้ำมา ทับถมอยู่ตลอดเวลาจนเป็นชายเลนจนถึงปัจจุบันนี้ และมักเรียกชุมชนที่อยู่ในที่มีลักษณะธรรมชาติเช่นนี้ว่า บ้านเชิงเลนวัดได้สร้างขึ้นบริเวณดังกล่าวนี้ จึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดเชิงเลน”
แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในการสร้างที่ชัดเจน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นพร้อมกับวัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่า ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ต่อมากรมชลประทานได้ย้ายหน่วยงานบางส่วนจากแขวงสามเสน เขตดุสิตกรุงเทพฯ ขึ้นมาตั้งพื้นที่ อยู่ที่อำเภอปากเกร็ด และอำเภอเมืองจึงเวนคืนที่ดินตั้งแต่ที่ติดกับถนนติวานนท์ฝั่งตะวันตกจรดถึงแม่น้ำเจ้าพระยาวัดท้ายอ่าวและวัดเชิงท่าอยู่ในเขตพื้นที่เวนคืนที่ดินของกรมชลประทาน ประกอบด้วยไม่มีพระภิกษุ สามเณรจำพรรษาอยู่เลย กรมการศาสนาจึงประกาศยกเลิกวัดท้ายอ่าว และ วัดเชิงท่า ปัจจุบันได้เป็นวัดร้างทั้ง ๒ วัด ส่วนวัดเชิงเลน ยังมีพระภิกษุจำพรรษาเรื่อยมา จนถึงสมัย พระภิกษุแม้นได้ดำรงตำแหน่ง เป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเชิงเลน
พระอธิการแม้นได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดเชิงเลนและปฏิบัติกิจพระศาสนาพอสมควร

วัดที่ 9 ” วัดท่าอิฐ ”

วัดท่าอิฐ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๖ ชาวบ้านมีอาชีพ ปั้นอิฐ และเป็นท่าขึ้นลงเรือ ปี พ.ศ.๒๓๕๑ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้พระยาพลเทพ(บุญนาค) นำชาวมุสลิมมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนใหญ่จนทุกวันนี้

วัดที่ 10 ” วัดแสงสิริธรรม ”

วัดนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงพ่อดำที่เชื่อกันว่าเป็นอภินิหารของหลวงพ่อดำ เกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง คือ มีโจรมาขโมยหลวงพ่อดำ ซึ่งขนาดองค์ของท่านอุ้มสองคน เอาไปได้สบาย ๆ แต่เมื่อโจรกรรมไปแล้ว ผู้โจรกรรมก็ให้มีอันเป็นไป ต้องนำหลวงพ่อดำกลับคืนมาทุกครั้ง แถมยังเอากลับมาไว้ที่เดิม คือ หน้าองค์พระประธาน

ขอขอบคุณ http://www.tangtamfun.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .