ประวัติพระธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำปีระกา

original_พระธาตุปีระกา

พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เป็นปูชยสถานที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งของดินแดนล้านนาไทย มาแต่โบราณกาล ประมาณหนึ่งพันปีมาแล้ว บรรดาเจ้านครต่าง ๆ ในดินแดนส่วนนี้ได้มีความเคารพนับถือและศรัทธา ได้รับภาระในการปฏิสังขรณ์กันต่อมาจนถึงทุกวันนี้ องค์พระธาตุเป็นรูปทรงแบบลังกา ฝีมือประนีต และมีความคงทนถาวรมาก

ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๔๐ พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์วงค์รามัญผู้ครองนครลำพูน เป็นลำดับที่ ๓๓ มีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากเมืองมอญ มาประดิษฐานที่นครลำพูน และได้ทรงสร้างพระมณฑป เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ สูงสามวา มีซุ้มทั้งสี่ด้าน ครอบโกศสูงสามศอก แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน ดังนั้นจึงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า บรรดาบ้านเรือนในนครลำพูน จะต้องสร้างไม่ให้สูงเกินสามศอก เพื่อให้สูงกว่าองค์พระบรมธาตุ
ต่อมาพระนางปทุมวดี พระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ได้ทรงสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมขึ้นองค์หนึ่ง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระธาตุ เป็นพระปรางค์รูปสี่เหลี่ยมยอดแหลม มีนามว่าสุพรรณเจดีย์ ใต้ฐานชั้นล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม (พระเครื่องชนิดหนึ่ง) ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๑๗๒๒ พระเจ้าสัพพาสิทธิ์ ผู้ครองนครลำพูน ได้สร้างโกศทองเสริมต่อขึ้นไปอีกหนึ่งศอก รวมเป็นสูงสี่ศอก และสร้างพระมณฑปเสริมต่อขึ้นอีกสองวา รวมเป็นห้าวา
เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๑๙ พระเจ้าเม็งรายมหาราช ผู้ครองนครเชียงราย มีชัยชนะได้ครองนครลำพูน ได้ทรงสร้างพระมณฑป เสริมต่อครอบพระมณฑปเดิมอีกสิบวา รวมเป็นสิบห้าวา พร้อมทั้งสร้างทองจังโกฎก์หุ้มตั้งแต่ฐานถึงยอด

เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๘๖ พระเจ้าอโลกราชกษัตริย์ของล้านนาไทย ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระมหาเมธังกร ให้ควบคุมการก่อสร้างเสริมต่อพระบรมธาตุ ให้สูงขึ้นไปอีกแปดวา รวมเป็นยี่สิบสามวา ฐานกว้างสิบสองวา สองศอก ฉัตรเจ็ดชั้น แก้วบุษหนัก ๒๓๐ เฟื้อง ใส่ไว้ที่ยอด สรุปรายการในการก่อสร้างได้ดังนี้ ศิลาแลง ๖๐,๐๐๐ ก้อน อิฐ ๑๐๐,๐๐๐ ก้อน ปูน ๑,๖๖๐,๐๐๐ ค่าน้ำกล้วยตีบเงิน ๖๐,๐๐๐ สิ้นน้ำหนัก ๔,๐๐๐,๐๐๐ ราคาเงิน ๙,๐๐๐ รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๔,๐๐๐,๐๐๐ และได้เอาทองจังโกฎก์ (แผ่นทองแดงปนนาค) หุ้มตลอดองค์จำนวน ๑๕,๐๐๐ แผ่น สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๐
เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๐๐ พระเมืองแก้วเจ้านครเชียงใหม่ ได้สร้างส่วนนี้เป็นสันติบัญชร (ระเบียงหอก) ล้อมเป็นรั้วไว้ ณ ฐานล่างสองชั้น เป็นจำนวน ๕๐๐ เล่ม และต่อมาในสมัยพระยาอุปโย เป็นเจ้านครเชียงใหม่ พระราชโมลีมหาพรหม และพระสังฆราชา ได้ชักชวนชาวเมือง ทำสันติบัญชรต่ออีก ๗๐๐ เล่ม จนเสร็จบริบูรณ์
ตามตำนาน เช่นพงศาวดารโยนก จามเทวีวงศ์ และมูลศาสนาชินกาลมาลินี กล่าวว่าพระบรมธาตุแห่งนี้ บรรจุพระบรมเกศาธาตุ เดิมบรรจุไว้ในกระบอกไม้ไผ่รวกฝังไว้ใต้พื้นดิน เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ได้เคยเสด็จมา ณ ที่นี้ ได้ประทับบนหินก้อนหนึ่ง กระทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) และทรงพยากรณ์ว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งปาฏิหารย์ผุดขึ้นจากพื้นดิน

ปัจจุบัน วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่กลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ วัดนี้มีกำแพงสองชั้น เป็นกำแพงรอบบริเวณวัดชั้นนอก และกำแพงทำเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุ เป็นกำแพงชั้นใน องค์พระธาตุเจดีย์มีสินติบัญชรสองชั้น สำเภาทองตั้งอยู่ประจำรั้วชั้นนอก ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม กับหอยอดประจำทุกด้าน รวมสี่หอ มีพระพุทธรูปประจำอยู่ทุกหอ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุมีในวันเพ็ญเดือนหก ใช้น้ำทิพย์โดยนำน้ำมาจากยอดดอยเค้าม้อ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณสิบกิโลเมตร และได้รับพระราชทานน้ำสรง กับเครื่องราชสักการะ มีการแห่แหนครัวทาน จุดบอกไฟ (ไฟพะเนียง) เป็นพุทธบูชา และมหรสพอยู่ตลอดคืน

ขอขอบคุณ http://www.gotoknow.org/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .