วัดพระศรีสรรเพชญ ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังโบราณ เป็นวัดพุทธาวาสที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง และเก็บอัฐิของพระมหากษัตริย์เปรียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเหลือเพียงซากอิฐปูนและเจดีย์สามองค์ที่ตั้งตะหง่านเป็นจุดเด่น แต่ยังคงเป็นจุดที่ดึงความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เข้ามา เยี่ยมชม อยู่เสมอ และเมื่อได้ลองจินตนาการดูก็จะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามของกรุงศรีอยุธยาในสมัยที่ยังเป็นราชธานี
ประวัติวัดพระศรีสรรเพชร อยุธยา
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เดิมในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ใช้เป็นที่ประทับ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้าง พระราชมณเฑียรขึ้นใหม่ทางตอนเหนือ แล้วจึงโปรดฯให้ยกเป็นเขตพุทธาวาส เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แตกต่างกับวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทั้งวัดมหาธาตุ สุโขทัย วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างก็ถูกสถาปนาขึ้นในมูลเหตุการสร้างวัดเดียวกันนั่นคือ “สร้างเพื่อ เป็นวัดประจำพระราชวัง” ต่อมาในปีพ.ศ. 2035รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระสถูป เจดีย์องค์ตะวันออก เพื่อบรรจุพระอัฐิของพระราชบิดา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระสถูปเจดีย์องค์กลางเพื่อบรรจุพระอัฐิ ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ผู้เป็นพระเชษฐาหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2042พระองค์โปรดให้สร้างพระวิหารหลวงขึ้นในปีต่อ มาพ.ศ. 2043 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างพระวิหาร ทรงหล่อพระพุทธรูป ยืนสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร) หุ้มด้วยทองคำ หนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร ถวายพระนามว่าพระศรีสรรเพชญดาญาณซึ่งภายหลังเมื่อเสียกรุง พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด และองค์พระพังยับเยินรัชกาลที่ 1จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาประดิษฐานวัดพระเชตุพนและ บรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า เจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณเจดีย์ องค์ที่ 3 ถัดมาจากด้านทิศตะวันตกเป็น เจดีย์บรรจุพระอัฐิ ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระหน่อพุทธางกูร) พระราชโอรสได้โปรดให้สร้างขึ้น เจดีย์ทั้งสามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา
ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง ‘พระที่นั่งจอมทองตั้งอยู่ใกล้ๆ กำแพงทางด้านติดกับวิหารพระมงคลบพิตร เพื่อ ให้เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์บอกเล่าหนังสือพระสงฆ์ ราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลวง แห่งนี้เป็นครั้งแรก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระยาโบราณราชธานินทร์สมุห เทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ดำเนิน การขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์ พบพระพุทธรูปเครื่องทองมากมาย และในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีการบูรณะ วัดนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
รายละเอียดเพิ่มเติม
เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น.
ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3
โทร (035) 242501, (035) 242448
หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30น.-21.00น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน
ขอขอบคุณ http://www.paiduaykan.com/