ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน หรือ บ้านลำปางหลวงในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด(ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่าน
รายละเอียด
กู่พระเจ้าล้านทอง (ศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุม เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท) ตั้งอยู่บริเวณท้ายวิหารหลวง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปคือพระเจ้าล้านทอง ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2019 กู่นี้คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2106 หลังจากที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ใต้ปกครองของพม่า ส่วนบนของกู่เป็นแบบผสมระหว่างหลังคาลาดกับหลังคาลดชั้น องค์ประกอบต่างๆ รวมทั้งลวดลายปั้นประดับมีอยู่อย่างมากมาย แสดงให้เห็นถึงแบบแผนของงานประดับในช่วงเวลานั้นด้วย
รายละเอียด
ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนิน มีความสูงประมาณ 13 เมตร โดยมีบันไดนาคทอดยาวเชื่อมพื้นที่ระหว่างวัดกับภายนอก ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑปมียอดแหลมซ้อนหลายชั้น โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ภายนอกฉาบด้วยปูนสีขาวแต่งลายปูนปั้นเกือบตลอด ทำเป็นช่องทางเดินด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ปากช่องทางเดินประดับซุ้มโค้งซ้อน 2 ชั้น
รายละเอียด
ทั้งสองเป็นลวดลายปูนปั้นนูนสูง บริเวณตัวสิงห์ปั้นจนเกือบเป็นรูปปฏิมากรรมลอยตัว บนหลังสิงห์เป็นหม้อบูรณฆฏะ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ตำแหน่งอยู่บริเวณฐานชุกชีด้านหลังวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง
รายละเอียด
พระธาตุลำปางหลวง ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ(แต่ในหนังสือพระเจดีย์ในล้านนา โดย สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ กลับเรียกว่า เจดีย์แบบพุกามล้านนา เนื่องจากมีการปิดทองจังโกคล้ายแบบพุกามนั่นเอง) ปิดทองจังโกทั่วทั้งองค์เจดีย์ รูปทรงหนักแน่น ไม่ชลูดเหมือนเจดีย์แห่งอื่นๆ รอบๆพระธาตุมีการล้อมรอบด้วยรั้วเหล็ก โคมรั้ว มีการสร้างซุ้มประตูโขงอยู่ทางทิศใต้ของพระธาตุ บริเวณรั้วเหล็กมีเรื่องเล่าถึง รอยกระสุนปืน ที่หนานทิพย์ช้างยิงปืนสังหาร ท้าวมหายศ เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 23
ปรากฏในตำนานพระธาตุลำปางหลวงที่กล่าวถึง การเสด็จมาถึงของพระพุทธเจ้า ที่บ้านลัมภะการีวัน(บ้านลำปางหลวง) เมื่อเสด็จอยู่ดอยม่อนน้อย ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่ง นาม”ลัวะอ้ายกอน” เห็นพระพุทธเจ้า เกิดมีความเลื่อมใสได้นำเอาน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง(ไม้ช้าวหลามไม้เปราะ) มะพร้าวและมะตูมอย่างละ 4 ลูกน้อมถวายพระองค์ และพระองค์ก็มอบพระเกษาและได้มีพุทธพยากรณ์ต่อไปว่า ในอนาคต จะมีพระอรหันต์นำเอาอัฐิพระนลาต(หน้าผาก)ข้างขวา และอัฐิลำคอข้างหน้าหลังมาบรรจุไว้ในนี้
รายละเอียด
อ.วิถี พานิชพันธ์ ได้จัดให้อยู่ในหมวดของ ประตูโขง ที่ถือว่าเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุออกมาเป็นรูปทรงสามมิติ เพื่อให้เห็นแนวคิดของจักรวาลคติสมบูรณ์ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการผ่านพ้นไปสู่มิติที่สูงขึ้นไปสู่สวรรค์วิมาน และพระนิพพาน หรือเป็นซุ้ม “สุวรรณคูหากู่คำ” อันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากการตรัสรู้ โคมรั้วนี้ประดับอยู่รายรอบ พระธาตุลำปางหลวง มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน
จิตรกรรมฝาผนัง วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง
รายละเอียด
เป็นงานจิตรกรรมฝาผนังเขียนประดับที่บริเวณคอสอง ของวิหารน้ำแต้ม (ซึ่งคำว่า น้ำแต้ม มีความหมายว่า ภาพจิตรกรรม) อันตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุ ได้มีผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมดังกล่าวและลงความเห็นไว้ว่าควรมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22(จากความเห็น อ.สน สีมาตรัง และ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ เห็นว่าควรเขียนในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ขณะที่ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม เสนอไว้ว่า ควรมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา)
ขอขอบคุณ http://www.lampang.go.th/