เสาชิงช้า ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม บนถนนบำรุงเมือง เขตพระนครโดยเสาชิงช้าถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2327 และถือเป็นโบราณสถานของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 ลักษณะเป็นเสาคู่ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 21 เมตร ทาสีแดงชาด ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร
ความเป็นมาในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จแล้วได้โปรดให้มีการสร้างโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้า ตามความเชื่อแบบพราหมณ์ บริเวณริมถนนบำรุงเมือง ทางจะเลี้ยวไปถนนดินสอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน และมีการเปลี่ยนเสาใหม่อีก 2 ครั้ง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยบริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2463 และ มีการเปลี่ยนเสาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2513 โดยยังคงลักษณะเดิมไว้ และเปลี่ยนเสาใหม่ครั้งล่าสุดในปี 2549 โดยใช้ไม้สักทอง จากจังหวัดแพร่
ในอดีตเสาชิงช้านี้เคยใช้ประกอบพิธีตรียัมปวาย หรือพิธีโล้ชิงช้าในศาสนาพราหมณ์ การแสดงการละเล่นอันสนุกสนานเพื่อถวายต่อองค์พระอิศวร โดยเป็นการสรรเสริญบูชาคุณของพระองค์เนื่องในวาระที่เสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ปีละครั้ง และ ต่อมาพระราชพิธีนี้ได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2478
การเดินทาง โดยรถเมล์ธรรมดา สาย 12, 42 , รถเมล์ปรับอากาศ สาย 12 หรือ นั่งรถเมล์สายอื่นๆ ลงที่ถนนราชดำเนิน บริเวณสี่แยกคอกวัว แล้วเดินไปตามถนนดินสอ จนถึงหน้าวัดสุทัศน์
ขอขอบคุณ http://travel.thaiza.com/